• โควิดฯไทยลามอีกครั้ง หลังลดระดับเหลือโรคเฝ้าระวังได้แค่ 2 เดือน ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตพุ่ง จับตาสายพันธุ์ที่ระบาดในอินเดีย พร้อมเฝ้าระวัง "XBB" จ่อยึดครองไทย เผย "โอมิครอน" 5 สายพันธุ์ย่อยที่ต้องเฝ้าติดตาม

โควิดฯไทยหวนกลับมาหลอนอีกครั้ง หลังลดระดับจากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังได้เพียงแค่ 2 เดือน ล่าสุด "เว็บไซต์กรมควบคุมโรค" รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดฯประจำสัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 4-10 ธ.ค.2565) มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัว ในโรงพยาบาล 3,961 คน หรือเฉลี่ย 566 คนต่อวัน ผู้เสียชีวิต 107 คน เฉลี่ย 15 คนต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 649 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 385 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับที่ผ่านมาพบว่า แม้ยอดผู้ป่วยเข้ารักษาใน รพ.ลดลงเล็กน้อย แต่ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง!!! 

จับตาสายพันธุ์โควิดฯ ที่กำลังแพร่ระบาดในอินเดีย

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) ระบุว่า ประเทศไทยต้องจับตาเชื้อไวรัสโควิดฯสายพันธุ์อะไรที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศอินเดีย เพราะหลายครั้งที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ในประเทศอินเดีย หลังจากนั้นอีกไม่นานก็พบการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์นั้นในประเทศไทย ดูย้อนหลังไวรัสโควิดฯสายพันธุ์เดลตา พบครั้งแรกในประเทศอินเดียปลายปี พ.ศ. 2563 ต่อมาแพร่กระจายเร็ว เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก และประเทศไทยก็มีการแพร่ระบาดระลอกใหญ่จากสายพันธุ์เดลตาเมื่อกลางปี พ.ศ. 2564 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ประเทศอินเดียพบไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ครั้งแรก เชื้อสายพันธุ์นี้แพร่เร็วกว่า เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ย่อย BA.5 แพร่ระบาดในประเทศอินเดีย และกระจายไปหลายประเทศทั่วโลก

...

เตือนเฝ้าระวัง "XBB" เชื่ออีกไม่นานยึดครองไทย

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ BA.2.75 แต่ที่ประเทศอินเดียเริ่มเห็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ XBB ซึ่งเป็นลูกผสมของไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.10.1 กับ BA.2.75 เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ BA.2.75 ในประเทศอินเดีย ส่วนประเทศไทยเตรียมตัวได้เลยว่า หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 อีกไม่นานก็จะมีสายพันธุ์ XBB แพร่ระบาดเหมือนประเทศอินเดีย เพราะสายพันธุ์ใหม่นี้ติดต่อกันง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม และหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่ว่าจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม ปัจจุบันไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ใช้เวลาสั้นกว่าเดิม เพียง 3-4 เดือน ก็เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิมได้แล้ว และทำให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปทั่วโลก โชคดีที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักและเสียชีวิตเหมือนสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะคนที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม คือ ได้วัคซีนครบ 2 โดส และตามด้วยเข็มกระตุ้นอีก 2 เข็ม

จับตา "โอมิครอน" 5 สายพันธุ์ย่อย เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" ระบุว่า อัปเดตจาก WHO (องค์การอนามัยโลก) เผยแพร่ข้อมูลรายสัปดาห์ "WHO Weekly Epidemiological Update ประจำวันที่ 14 ธันวาคม 2565" ปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอนครองสัดส่วนสูงถึง 99.5% โดยโอมิครอนนั้นมีการแตกหน่อและมีลูกหลานไปมากถึงกว่า 540 สายพันธุ์ย่อย ทั้งนี้เป็นไวรัสลูกผสมที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ย่อยกัน หรือที่เรียกว่า recombinant กว่า 61 สายพันธุ์ย่อย ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของไวรัสที่สังเกตเห็นกันในช่วงนั้นคือ มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งที่พบบ่อย หรือพบซ้ำต่อเนื่องในหลายสายพันธุ์ย่อย ทำให้สะท้อนว่าไวรัสตัวใหม่ๆ มีแนวโน้มที่จะมีวิวัฒนาการไปในทิศทางคล้ายกัน (Convergent evolution) ที่สำคัญ คือ ตำแหน่งการกลายพันธุ์เหล่านั้นดูจะสัมพันธ์กับสมรรถนะของไวรัส ที่พัฒนาเพื่อให้ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น (immune evasiveness) โดยโอมิครอน 5 สายพันธุ์ย่อย ที่อยู่ในการติดตามอย่างใกล้ชิดในปัจจุบันมีดังนี้

...

  • BA.2.75.x : เริ่มมีรายงานตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2564 และระบาดในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงปัจจุบันมีการแพร่กระจายไปทั่วโลกถึง 85 ประเทศ แต่เดิมระบาดมากในอินเดีย และบังกลาเทศ ต่อมาถูกแทนที่ด้วย XBB ขณะนี้ประเทศที่พบว่ามีความชุกของสายพันธุ์ย่อยนี้สูงสุดได้แก่ ประเทศไทย (53.8%), ออสเตรเลีย (25.1%), มาเลเซีย (22.5%), จีน (18.8%), และนิวซีแลนด์ (16.3%)
  • BA.5 : ครองการระบาดทั่วโลกมายาวนาน เพราะมีสมรรถนะการติดเชื้อเร็ว และดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์เดิมอย่าง BA.1 และ BA.2 โดยตรวจพบแล้วใน 119 ประเทศ
  • BQ.1.x : จัดเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุด ขณะนี้กระจายไปแล้ว 90 ประเทศ
  • XBB.x : เป็นลูกผสมระหว่าง BA.2.10.1 กับ BA.2.75 โดยมีการรายงานครั้งแรกเมื่อสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันระบาดกระจายไป 70 ประเทศทั่วโลก แต่ความชุกยังไม่มากนักราว 3.8% ประเทศที่พบมากได้แก่ อินเดีย (62.5%), โดมินิกัน (48.2%), สิงคโปร์ (47.3%), มาเลเซีย (40.9%), และอินโดนีเซีย (29.3%)
  • BA.2.30.2 : มีตำแหน่งการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งที่คล้ายคลึงกับสายพันธุ์ย่อยต่างๆข้างต้น ยังมีรายงานการระบาดไม่มากนัก แต่พบได้ในแทบทุกทวีป ในภาพรวมแล้วพบว่าสายพันธุ์ BA.2.75.x และ XBB ขยายตัวอย่างช้าๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก

...

เตือนใช้ชีวิตอย่าประมาท แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ลดเสี่ยงป่วยหนัก-เสียชีวิต

ในขณะที่ BQ.1.x และ BA.5 ซึ่งมีการกลายพันธุ์เพิ่มจากเดิม 5 ตำแหน่ง มีการระบาดขยายตัวขึ้นค่อนข้างเร็วกว่า และกระจายไปทั่วโลกนั้น การระบาดของไทยเรายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ระมัดระวังตัวเสมอเวลาออกไปใช้ชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลองโควิด หากไม่สบาย ไอ เจ็บคอ ไข้ คัดจมูก ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ควรตรวจ ATK ถ้าผลบวกแปลว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วันจนกว่าอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจซ้ำได้ผลลบ จึงออกมาใช้ชีวิตป้องกันตัวเคร่งครัดจนครบ 2 สัปดาห์

"หากป่วยแต่ตรวจได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ อาจเป็นผลลบปลอมได้ จึงควรตรวจซ้ำทุกวันอย่างน้อย 3 วันติดกัน ย้ำอีกครั้งว่า สภาพแวดล้อมในสังคมปัจจุบันมีการติดเชื้อแพร่เชื้อจำนวนมาก มีความเสี่ยงมาก จำเป็นต้องป้องกันตัวให้ดี ซึ่งการไม่ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อซ้ำย่อมดีที่สุด เพราะติดแล้วไม่ใช่แค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยหนักได้ ตายได้ และเสี่ยงต่ออาการลองโควิดระยะยาว ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต และสมรรถนะการใช้ชีวิต การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก"

...

เผยคนไทยติดโควิดฯ แล้วกว่า 70%

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คนไทยติดเชื้อโควิดฯไปแล้วประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จากการศึกษาจากประวัติการติดเชื้อ และการตรวจเลือด ที่ จ.ชลบุรี จะเห็นว่าประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วประมาณ 60-70% และก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่ไม่เคยติดเชื้อเลยก็จะเป็นเพียงส่วนน้อย โดยเฉพาะการติดเชื้อในเด็ก จะเป็นการติดเชื้อแบบมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ผลตรวจเลือดช่วยยืนยันว่ามีการติดเชื้อไปแล้วจาก anti nucleocapsid

ทั้งนี้ ประชากรส่วนใหญ่ตรวจพบภูมิต้านทาน anti spike มากกว่า 95% ภูมิดังกล่าวเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ และหรือจากการฉีดวัคซีน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดขณะนี้ก็จะคล้ายใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ ประชากรผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานที่ตรวจพบได้ต่อไข้หวัดใหญ่ แต่ก็ยังเป็นไข้หวัดใหญ่ ภูมิต้านทานต่อไข้หวัดใหญ่จะตรวจพบได้น้อยในเด็กต่ำกว่า 3 ปี และเมื่อโตขึ้นมาเกิน 3 ปี ส่วนใหญ่จะเคยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มาแล้ว ซึ่งธรรมชาติของโรคไวรัสทางเดินหายใจ เมื่อเป็นในเด็กความรุนแรงจะน้อยกว่าในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ จะไปพบความรุนแรงเพิ่มขึ้นในกลุ่มเปราะบางหรือ 608

ดังนั้นในอนาคตต่อไปกลุ่มที่ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโควิดฯ ก็จะเป็นเด็กเกิดใหม่ จนถึง 2-3 ปี และเมื่อติดเชื้อไปแล้วก็จะมีภูมิคุ้นเคยกับไวรัส และมีการติดเชื้อซ้ำ เมื่อโตขึ้น ความรุนแรงก็จะน้อยลง ส่วนกลุ่มเปราะบางจึงเป็นกลุ่มที่ควรจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ที่มีการให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยง โดยภาพดังกล่าวในอนาคตของโรคโควิดฯ ก็คงจะเป็นคล้ายๆ กับโรคทางเดินหายใจในอดีต ที่จะมีการติดเชื้อในเด็ก เพราะไวรัสติดต่อกันได้ง่าย และเมื่อโตขึ้นก็จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น จากการติดเชื้อในเด็กและการติดเชื้อซ้ำที่มีอาการไม่รุนแรง

กราฟิก : CHONTICHA PINIJROB