การแพร่ระบาดของ “เอชไอวี” อยู่ในภาวะแห่งอันตราย เนื่องด้วยทรัพยากรทั้งจำนวนบุคลากร งบประมาณ การบริหารจัดการลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงวิกฤติของโลกในมิติอื่นๆทั้งสงคราม เศรษฐกิจ ยาเสพติด โรคระบาด ความยากจน

“เมืองไทย” ข้อมูลหนึ่งจากรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สะท้อนว่า สังคมไทยเราได้พบถึงกลุ่มของวัยรุ่น วัยเรียนที่มีการติดโรคทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ซิฟิลิส หนองใน...ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มที่จักกลายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี 5-9 เท่า

ประเด็นสำคัญมีว่า...จำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปี พ.ศ. 2564 มีจำนวน 520,000 คน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,500 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของวัยรุ่น วัยเรียน

เฉลิมพล พลมุข รองประธานมูลนิธิธรรมรักษ์ ย้ำว่า ปัจจุบันพฤติกรรมแห่งความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีที่จะกลายเป็นผู้ป่วยเอดส์ในอนาคตในยุคปัจจุบันมิได้แตกต่างจากเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา การซื้อขายบริการทางเพศในรูปแบบต่างๆ การมีเพศสัมพันธ์ที่มิได้มีการป้องกัน การใช้ถุงยางอนามัย

...

การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น การสักยันต์ การตั้งครรภ์จากแม่สู่ลูก นักบวชในศาสนาบางคนที่ล่วงละเมิดทางเพศ ครูล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนนักศึกษา รวมถึงพฤติกรรมของวัยรุ่น วัยเรียนก็คือ...คิดว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียน สถาบันการศึกษาเดียวกันมีความปลอดภัย การฝังแท่งยาคุมกำเนิดสามปีห้าปี

“ขณะเดียวกันพฤติกรรมที่มิพึงประสงค์ของวัยรุ่นวัยเรียนก็คือการหาเงินจากการขายบริการทางเพศผ่านสังคมออนไลน์ วัยรุ่นบางคนท้องในวัยใสขณะเรียนในสถาบันการศึกษา ต้องออกจากระบบการศึกษา บางคนกลายเป็นยุวอาชญากรของสังคมที่ต้องโทษอยู่ในทัณฑสถานอยู่ทั่วเมืองไทยเรา...”

เฉลิมพล พลมุข
เฉลิมพล พลมุข

น่าสนใจว่าช่วงสองสามปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิด-19 วัยรุ่นวัยเรียนหลายคนที่สถาบันการศึกษาใช้ระบบการเรียนแบบออนไลน์ ต้องเรียนอยู่ที่บ้านหรือหอพัก เขาเหล่านั้นหลายคนมีอิสระเสรีภาพในชีวิตทั้งกิน ดื่ม เสพ เที่ยว การพนัน ยาเสพติด อาจจักรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่หลายหลาก

...ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ ขณะที่วัยรุ่นวัยเรียนหลายคนมีภาวะอย่างอื่นเข้ามาในชีวิต อาทิ การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคจิตประสาท จิตเวช นำไปสู่การออกจากระบบการศึกษา วิวาททำร้ายร่างกายกัน การฆ่าตัวตายในสถาบันการศึกษารวมถึงสถานที่อื่นๆ

ตอกย้ำ...สถานการณ์การแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์ เฉลิมพล บอกว่า ระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทยเราถือว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้นได้รับคำชมเชยจากนานาชาติ โดยในปี 2564 ระบบบริการ (NAP) มีผู้ลงทะเบียนต้องการดูแลรักษาการติดเชื้อจำนวน 305,493 คน

ในจำนวนนี้ได้รับยาต้านไวรัส 289,116 คน คิดเป็นร้อยละ 94.63

ประสบการณ์ในแวดวงทั้งระบบการศึกษาและองค์กรหน่วยงานที่ทำงานให้การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์มาตั้งแต่เริ่มจากการมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงแรกๆของสังคมไทย สิ่งหนึ่งที่เข้าถึงและรับรู้ได้ก็คือพฤติกรรมการเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีในวิถีทางต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม

ขณะเดียวกันก็มีความสลับซับซ้อนไปตามบริบทของสังคม กิจการในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นขององค์กรเอกชน NGO ต่างๆได้ปิดกิจการไปจำนวนมาก ผู้คนทั่วไปจำนวนหนึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์ ระบบยาต้านไวรัสมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวียืนยาวมากขึ้น

...

ขณะเดียวกันเขาเหล่านั้นบางคนยังไม่สามารถกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัว สังคมได้ อีกคำถามสำคัญ หนึ่งก็คือ...เหตุใดระยะเวลาดังกล่าวที่ยาวนานของสถานการณ์ “เอดส์” ในสังคมไทยเรา จึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนความรู้ ความเชื่อ ความคิดของครอบครัว...บางสังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบ?

วัดพระบาทน้ำพุ มูลนิธิธรรมรักษ์ โดย พระราชวิสุทธิประชานาถ หรือ “หลวงพ่ออลงกต” แห่งจังหวัดลพบุรี ถือว่าเป็นวัดแรกในเมืองไทยที่เปิดวัดให้การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยใช้หลักการแห่งเมตตาธรรม ดูแลผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

ทั้งปัจจัยสี่ ดูแลร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อในหลักคำสอนของศาสนา การดูแลทั้งผู้ป่วยเอดส์ ญาติพี่น้อง พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ทั้งแก่ชรา พิการ วัวควาย สุนัขแมว...สิ่งสำคัญยิ่งก็คือ “ยาต้านไวรัส” ที่ประสบความสำเร็จในการยืดชีวิตของผู้ติดเชื้อ ทำให้เขามีชีวิตยืนยาวมากขึ้น

การจัดตั้งโรงเรียนเพื่อเด็กเล็กๆที่กำพร้าจากพ่อแม่เป็นผู้ติดเชื้อ การหาอาชีพมีหน้าที่การงานทำ มีรายได้เป็นสิ่งสำคัญที่ทางวัดต้องดำเนินการให้เขา เพื่อให้ชีวิตและครอบครัวของเขาสามารถอยู่ได้ในสังคม

...

ตลอดระยะเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา หลวงพ่ออลงกตต้องทำงานทุกๆวันไม่เคยมีแม้กระทั่งวันหยุด บางช่วงขณะท่านประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือป่วยไข้ก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อให้คุณภาพชีวิตของเขาเหล่านั้นได้ดีขึ้น...มีบางช่วงขณะที่ผู้คนทั่วๆไปเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยเอดส์ เด็กกำพร้า คนพิการ คนชรา ได้ถามหลวงพ่อว่าหากผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์หมดจากเมืองไทยเรา...บทบาทวัดพระบาทน้ำพุ หลวงพ่ออลงกตจะเป็นเช่นไร?

ท่านก็ตอบว่าในปัจจุบันมีโรคระบาดต่างๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาชีวิตของประชาชนไทยเรายังมีอยู่มากทั้งความยากจน โรคมะเร็ง คนพิการตาบอด หูหนวก แขนขาพิการ เด็กถูกทอดทิ้ง คนตกงาน ไร้บ้าน หรือปัญหาอื่นๆ ที่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ไทยพึงต้องช่วยคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยกัน

หรือแม้แต่...ต่างด้าวที่เขาเข้ามาแผ่นดินไทยด้วยความร่มเย็นและถูกต้องตามกฎหมาย

ข้อสังเกตหนึ่งก็คือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ไทยทั่วประเทศในขณะนี้จำนวนกว่าห้าแสนเศษคน ในแต่ละปีพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่กว่าหกพันคนทุกๆปี ความเป็นไปได้สี่หรือห้าปีข้างหน้าตัวเลขนี้ก็คงมิได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก...ปัญหาเอดส์ยังคงอยู่ทั้งในเมืองไทยเราและทั่วโลก

...

ขณะเดียวกันความสลับซับซ้อนของโรคเอดส์และโรคอื่นๆก็มีควบคู่ไปด้วย อาทิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีบางคนเป็นคนแขนขาพิการ ตาบอด หูหนวก เป็นมะเร็ง หรือแม้กระทั่งที่ผ่านมาเขาเหล่านั้นหลายคนก็ติดเชื้อโควิด-19 เช่นเราท่านทั้งหลาย...สิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับผู้ติดเชื้อหลายคนมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพต่างๆ เมื่อเขาสุขภาพดีขึ้นก็ได้ช่วยงานของหลวงพ่อ วัด มูลนิธิธรรมรักษ์ มีรายได้เลี้ยงชีวิต ได้ส่งไปเกื้อกูลลูกหลานพี่น้อง

ขณะเดียวกันหลายคนก็ตั้งใจที่จะทำงานรับใช้หลวงพ่อไปตลอดชีวิต ฝากผีฝากไข้ฝากชีวิตไว้กับวัดที่ว่าหากวันหนึ่งเขาตาย ขอให้หลวงพ่อช่วยเผาศพและเอากระดูกเขาไว้ที่วัดด้วย...

คำขวัญวันเอดส์โลก (World AIDS Day) ในปีนี้ 1 ธันวาคม พ.ศ.2565 “Equalize ทำให้เท่าเทียม” ในหลักการนโยบายของเจ้ากระทรวงถูกนำไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นมรรคผลที่ปราศจากอคติตลอดระยะเวลาแห่งสถานการณ์เอดส์ในเมืองไทยเราได้อย่างจริงจังหรือไม่? อย่างไร? ยังคงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ

หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า อย่าให้ปัญหา “โรคเอดส์”...“ผู้ติดเชื้อเอชไอวี...ผู้ป่วยเอดส์” ถูกกล่าวถึงเพียงชั่วครั้งชั่วคราว...เพียงช่วงเวลาสั้นๆที่อยู่ในกระแสวันเอดส์โลกในแต่ละปีเท่านั้น.