กองทุนพัฒนาสื่อฯ เปิดตัวสารคดีชุด “ภารกิจเปลี่ยนโลก” ด้วยความร่วมมือกับศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต
วันที่ 10 ต.ค.65 ที่ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดตัว สารคดีชุด “ภารกิจเปลี่ยนโลก” รอบปฐมทัศน์ จำนวน 9 ตอน ซึ่งสารคดีชุดนี้ จะได้รับการเผยแพร่ผ่าน Facebook กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ Facebook พื้นที่ปลอดภัย Disaster and Hazard เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของรหัสแดงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปีนี้มุ่งเน้นการประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
สำหรับสารคดี “ภารกิจเปลี่ยนโลก” ผลิตโดยบริษัท คราวน์ สตูดิโอ โปรดักชั่น จำกัดร่วมกับศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าเรื่องราวโดย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และ น.ส.ดาริน กำเนิดรัตน์ ผู้สื่อข่าวอิสระ ที่เดินทางร่วมกันไปทั่วประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงน้ำท่วม และค้นหาแนวทางการปรับตัวรับมือ เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจกับประชาชนในการรับมือความเสี่ยงน้ำท่วมที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

...
รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า การเดินทางสำรวจน้ำท่วมในปีนี้ ร่วมกับทีมสารคดีตลอด 3 เดือน และจากการวิจัยที่ผ่านมาทำให้ประเมินได้ว่า น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่รุนแรงกว่าปี 2554 ในบางพื้นที่แล้ว ขณะที่แบบจำลองร่องฝนในเดือนตุลาคมยังคงมีความรุนแรงมาก ขณะนี้จึงเป็นเวลาทองในการระบายน้ำออกสู่ทะเล แต่ก็จะส่งผลกระทบกับคนท้ายน้ำ
“พายุโนรูจะไม่ใช่พายุลูกสุดท้าย ที่เสี่ยงจะเข้าสู่ประเทศไทยในปีนี้ จึงต้องจับตาดูว่าอาจจะมีพายุเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ หลังวันที่ 15 ตุลาคม ขณะที่ร่องฝนยังจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงวันที่ 25 ตุลาคมนี้” รศ.ดร.เสรี กล่าว

ขณะที่ ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า จะเกิดพายุอีกลูกขึ้นในทะเลจีนใต้ และเคลื่อนที่มาทางปลายแหลมญวน และเสี่ยงที่จะเข้ามาส่งผลกระทบกับประเทศไทยซ้ำอีก แต่อาจจะมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาจนทำให้พายุสลายตัวไปก็ได้ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
รศ.ดร.เสรี กล่าวทิ้งท้ายว่า จากนี้ไปการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ปัญหาน้ำท่วมในไทยจะรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ในกรุงเทพมหานคร ฝนที่ตกในหนึ่งวันจะตกเพิ่มขึ้น 20% และจำนวนวันที่ฝนตกหนักจะเพิ่มขึ้นถึง 50-70% ซึ่งหมายถึงฝนจะตกมากขึ้นและตกหนักขึ้นกว่าเดิม จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมรอระบายอย่างต่อเนื่องในฤดูฝน.
