กรมควบคุมโรคยืนยันผลตรวจ ชายชาวกินีไม่ได้ติดเชื้อฝีดาษลิง ยันไทยยังพบแค่ 7 คน ขณะที่ การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศยังไม่แผ่ว ผู้ป่วยเสียชีวิตรายวันเขยิบขึ้นมาเป็นอันดับ 12 ของโลก อันดับ 6 ของเอเชีย หมอคนดังชี้สถานการณ์โควิดไทยขาลงช้ากว่าประเทศอื่น น่าจะมาจากมีวันหยุดยาวหลายครั้ง ส่งผลให้มีการเดินทางและท่องเที่ยวมากขึ้น พร้อมไขปริศนาโรคปอดบวมลึกลับคร่า 4 ชีวิตที่อาร์เจนตินา ที่แท้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลา ก่อโรคลีเจียนแนร์ ไม่ใช่โรคใหม่ ไทยเคยพบประปราย ส่วนที่อเมริกาใต้เจอชายกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน เป็นภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อฝีดาษลิง

ไทยยืนยันยอดผู้ป่วยฝีดาษลิงในประเทศยังเท่าเดิม โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ย. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์ อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีพบผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นชายชาวกินี อายุ 26 ปี เดินทางเข้ารับการตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิงที่ รพ.พระนั่งเกล้า และแจ้งมีเพศสัมพันธ์ด้วยการซื้อบริการจากหญิงไทยย่านถนนข้าวสาร ผลการตรวจวิเคราะห์เชื้อชายดังกล่าวไม่ใช่ฝีดาษลิง คาดว่าอาจติดเชื้อชนิดอื่น ซึ่งกรมควบคุมโรครับผิดชอบในการตรวจหาเฉพาะโรคฝีดาษลิงเท่านั้น ดังนั้นขณะนี้ไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพียง 7 คนเท่านั้น

ส่วนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค.รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เข้ารักษาตัวใน รพ. 1,631 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด หายป่วยเพิ่มเติม 2,143 คน อยู่ระหว่างรักษา 16,186 คน อาการหนัก 709 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 351 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 25 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 ไทยมียอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 4,658,542 คน หายป่วย สะสม 4,609,956 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 32,400 คน

...

ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ระบาดของไทยว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ก.ย. สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย สถานการณ์โควิดระลอกโอมิครอน BA.5 ทั่วโลกเป็นขาลง ทวีปเอเชียดูจะเป็นทวีปท้ายสุดที่เข้าสู่ขาลงช้ากว่าทวีปอื่น ส่วนสายพันธุ์ที่ทั่วโลกจับตามองคือ BA.2.75 ที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แต่ในภาพรวมของโลกยังไม่น่าวิตก ส่วนการระบาดของไทยยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากจำนวนการเสียชีวิตเฉลี่ยรอบสัปดาห์ต่อประชากรล้านคน มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ของทวีปเอเชีย และของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาตลอด ทั้งๆ ที่หลังจาก 1 พ.ค.65 สธ.ปรับระบบรายงานโดยไม่รวมเคสที่มีโรคร่วม ทำให้ตัวเลขรายงานน้อยลงไปแล้วก็ตาม การระบาดที่ลดลงช้ากว่าธรรมชาติของ BA.5 ในประเทศอื่นๆนั้น น่าจะเป็นผลมาจากเรื่องการมีวันหยุดยาวหลายครั้งที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการเดินทางและท่องเที่ยวกันมากขึ้น การรณรงค์ให้ระมัดระวัง และมีพฤติกรรมป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอถือเป็นเรื่องจำเป็น

รศ.นพ.ธีระยังระบุถึงโรคปอดอักเสบปริศนาในอาร์เจนตินาว่า อัปเดตเคสล่าสุด 11 คน ตาย 4 คน ตรวจพบเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลา (Legionella) 4 คน รายล่าสุดเป็นชาย อายุ 64 ปี ติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สิ่งที่น่าสนใจคือ การตรวจในกลุ่มผู้ป่วยช่วงแรกนั้น ผลตรวจออกมาเป็นลบ ทั้งนี้ โรคลีเจียนแนร์ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Legionella ที่ทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการป่วยรุนแรงจากภาวะปอดอักเสบ และเสียชีวิตได้ การติดเชื้อส่วนใหญ่มักมาจากการสูดละอองฝอยของน้ำ หรือจากดิน ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินหายใจ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบ ตลอดจน ในสถานที่ต่างๆ อาทิ บ่อบาดาล น้ำในอุปกรณ์ หล่อเย็น เครื่องปรับอากาศ ฝักบัว สปริงเกลอร์ สระว่ายน้ำ เป็นต้น พบการติดเชื้อได้ทั้งภายในสถานพยาบาล โรงแรม อาคารสถานที่ต่างๆ และในชุมชน ส่วนชื่อของ Legionella มาจากการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) ในกลุ่มผู้ที่เข้าพักในโรงแรมที่จัดงานรำลึกวันทหารผ่านศึกครบรอบ 200 ปี (The American Legion Convention) ณ รัฐฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงกว่า 200 คน และเสียชีวิตกว่า 30 คน ในปีต่อมา จึงค้นพบว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนี้

รศ.นพ.ธีระระบุอีกว่า ไทยมีผู้ป่วยโรคลีเจียนแนร์ตั้งแต่ พ.ศ.2527 และพบประปรายมาเรื่อยๆ เฉลี่ยแล้วระดับหลักหน่วยต่อปี มักพบในนักท่องเที่ยว ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการราว 5-6 วัน (ระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-10 วัน) อาจมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และมีไข้สูง อาจมีเรื่องปวดท้อง และอุจจาระร่วงเกิดขึ้นตามมาได้ ในกรณีที่ป่วยรุนแรง จะเกิดภาวะปอดอักเสบ มีอาการไอ ไม่มีเสมหะ หอบเหนื่อย เอกซเรย์ปอดจะพบเป็นปื้นหรือจุดขาว อาจพบลุกลามได้ในปอดทั้งสองข้าง และอาจจะทำให้ระบบหายใจล้มเหลว

การติดเชื้อนั้น หากรับเชื้อมาน้อย หรือป่วยน้อย อาการจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ เรียก ไข้พอนเตียก (Pontiac fever) มักหายเองได้และไม่เสียชีวิต แต่หากป่วยรุนแรงจนเกิดภาวะปอดอักเสบ จะเรียกโรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires' disease) ซึ่งมีอัตราเสียชีวิตราวร้อยละ 15-20 ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษามีหลายชนิด เช่น ยากลุ่ม Fluoroquinolone (เช่น Levofloxacin, Moxifloxacin, Cipro floxacin), ยากลุ่ม Macrolide (ได้แก่ Azi thromycin) ดังนั้น การดูแลฟื้นฟูแหล่งน้ำ รักษาความสะอาดและบำรุงรักษาระบบต่างๆในอาคารสถานที่อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดได้

ส่วนสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลก วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าอาการป่วยของนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย วัย 97 ปี ที่ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว และจะกักตัวอยู่ที่บ้านพักจนถึงวันที่ 6 ก.ย.ขณะเดียวกัน วารสารการแพทย์เจเอซีซีของอเมริกาใต้ เผยแพร่บทความการรักษาผู้ป่วยชายวัย 31 ปี ประสบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันและต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ผลการตรวจร่างกายพบว่า เป็นภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อฝีดาษลิง โดยแพทย์เจ้าของไข้เปิดเผยว่าต้องการให้เป็นกรณีตัวอย่างและให้เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวในผู้ป่วยฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

...