“หมอธีระ” ค้านนโยบายปรับวันกักตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็น 5+5 วัน ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่อเสี่ยงผู้ติดเชื้อสามารถแพร่ให้คนรอบข้างได้สูงถึงร้อยละ 50-75 หากมีการป้องกันตัวไม่ดีพอ อาจเกิดปัญหาติดเชื้อวนไปนำไปสู่ภาวะ “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ย้ำทุกคนมีชีวิตจิตใจไม่ใช่หนูทดลองนโยบาย ด้าน อย.ทำร่างประกาศให้ร้านขายยาจ่ายยารักษาโควิด-19 ตามใบสั่งแพทย์เสร็จแล้ว รอ “อนุทิน” ลงนามให้มีผล 1 ก.ย.นี้ ปัดดูแลการควบคุมราคายา แต่เชื่อเป็นตามกลไกตลาด เมื่อมีตัวเลือกมากขึ้นราคาจะถูกลง
หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด โรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) เตรียมพร้อมปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ รวมถึงกำหนดการแยกกักตัวผู้ติดเชื้อใช้เวลา 10 วัน ด้วยสูตรแยกกักตัว 5 วัน อีก 5 วัน ให้ปฏิบัติตนแบบ DMH อย่างเคร่งครัด แต่เมื่อวันที่ 20 ส.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับนโยบายแยกกักตัวอย่างน้อย 5 วัน ว่า ความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าการแยกตัว 5 วันนั้นไม่เพียงพอ มีงานวิจัยทั้งจากทีมมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตต์และมหาวิทยาลัย

...
ฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และจากทีมวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน สหราชอาณาจักร ที่ยืนยันเห็นชัดเจน ทั้งสองงานวิจัยให้ผลออกมาสอดคล้องกันว่า 5 วัน มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะยังคงมีเชื้ออยู่และสามารถแพร่ให้คนรอบข้างได้สูงถึงร้อยละ 50-75 ส่วน 7 วัน ความเสี่ยงยังคงสูงถึงร้อยละ 25-35 สำหรับ 10 วัน จะมีความเสี่ยงราวร้อยละ 10 และหลัง 14 วัน จะปลอดภัย การปฏิบัติตัวในชีวิตจริงนั้น ทางที่พอจะยืดหยุ่นและมีความเป็นไปได้คือ หากตรวจพบว่าติดเชื้อหรือมีอาการ “ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน” และเมื่อครบ 7-10 วันแล้ว ก่อนออกมาใช้ชีวิต ทำงาน หรือศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องแน่ใจว่าผ่าน 2 ข้อคือ 1.ไม่มีอาการแล้ว และ 2.ตรวจ ATK แล้วได้ผลเป็นลบ ทั้งนี้แม้ออกมาจากการแยกตัวแล้วจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องไปจนครบสองสัปดาห์ โดยควรใช้หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่า ถ้าต้องทำงานที่ใกล้ชิดผู้คนมาก
รศ.นพ.ธีระระบุด้วยว่า การออกนโยบาย 5+5 แยกตัว 5 วัน และป้องกันตัว 5 วันนั้น ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แม้จะเข้าใจได้ว่าเอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมวงกว้างนั้นมีสูง ทั้งเรื่องการติดเชื้อ เจ็บป่วย เสียชีวิต ผลิตภาพโดยรวมและปัญหาระยะยาวอย่างลองโควิด ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิต การทำงาน และภาระค่าใช้จ่าย ทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงกิจการห้างร้านต่างๆ จะได้รับผลกระทบย้อนกลับ หากมีการป้องกันตัวไม่ดีพอ ย่อมเกิดปัญหาติดเชื้อจำนวนมากวนกันไป นำไปสู่ภาวะ “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” “เครื่องดื่มชูกำลัง” ข้างขวดยังมีคำเตือนสำหรับผู้บริโภค “นโยบายสาธารณะ” ที่ส่งผลต่อชีวิตทุกคนในสังคม ก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ที่ถูกต้อง พิสูจน์ได้ ในการสร้างนโยบาย นโยบายใดที่ไม่ถูกต้อง ควรได้รับการปรับเปลี่ยน หรือมี “คำเตือน” ระบุให้ทุกคนในสังคมได้รับรู้ว่าจะเกิดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใด หากปฏิบัติตามแนวทางที่ระบุไว้ในนโยบายนั้น พร้อมเสนอทางเลือกในการลดความเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อให้แต่ละคนสามารถตัดสินใจใช้ประพฤติปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม คนในสังคมทุกคนนั้นมีชีวิตจิตใจ...ไม่ใช่หนูทดลองนโยบาย ทุกชีวิตมีค่า ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการ อาหารและยา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ศบค.มีมติให้ร้านขายยาจ่ายยาต้านไวรัสให้ผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีใบสั่งยาจากแพทย์ เริ่มวันที่ 1 ก.ย.นี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำร่างประกาศให้ร้านขายยามียารักษาโควิด-19 ในร้าน เพื่อจำหน่ายให้ผู้ป่วยโควิด-19 หรือญาติผู้ป่วยได้ โดยจะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์มาแสดงให้เภสัชกรประจำร้าน จ่ายให้ตามรายการ ขณะนี้ร่างเสร็จแล้วเหลือส่งให้ รมว.สาธารณสุขลงนาม เพื่อให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ย.นี้ ย้ำว่าการขายยาในร้านขายยาต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัสทุกคน การที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ เช่น คลินิก หากคลินิกไม่ได้ซื้อยาไว้ ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งแพทย์มาซื้อยาเองที่ร้านยาได้ ส่วนการซื้อยาของร้านขายยา ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือยาแพกซ์โลวิด จะซื้อจากผู้ที่ได้รับอนุญาตนำเข้ายานั้นๆจาก อย.เท่านั้น ตอนนี้มีผู้ได้รับอนุญาตแล้วหลายราย ดังนั้น ร้านขายยาจะรู้ว่าไปซื้อจากใคร และผู้ได้รับอนุญาตจะมีการเก็บบันทึกการกระจายยานั้นๆ ตามระบบ ส่วนร้านยาต้องเก็บใบสั่งยาไว้ ทำบันทึกเก็บไว้สำหรับการตรวจสอบตามระเบียบการอนุญาตร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1)
...
นพ.ไพศาลยังกล่าวถึงการควบคุมราคายาต้านไวรัสโควิด กรณีที่ประชาชนต้องซื้อเองนั้น อย.ไม่ได้ดูแลทั้งหมด แต่ด้วยกลไกตลาด เมื่อมีการขาย ตัวเลือกมากขึ้น ราคาจะถูกลง รวมถึงยาต้านไวรัสโควิดตอนนี้ไม่สูงมาก อย่างยาโมลนูพิราเวียร์ ราคาพอๆกับยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว อย่างไรก็ตาม ทาง อย. มีระบบการตรวจสอบในเรื่องการซื้อขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ทั้งนี้ สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (ศบค.) เผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ไทยมีผู้ป่วยรายใหม่รักษาตัวใน รพ.1,902 คน หายป่วยกลับบ้าน 1,986 คน ผู้ป่วยกำลังรักษา 19,935 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ใน รพ. 873 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 441 คน เสียชีวิตเพิ่ม 29 คน เป็นชาย 15 คน หญิง 14 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้อายุเกิน 60 ปีถึง 25 คน ทำให้ตั้งแต่ปี 2563 ไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,632,212 คน หายป่วย 4,580,277 คน เสียชีวิตสะสม 32,000 คน ขณะที่ภาพรวมการฉีดวัคซีน วันที่ 19 ส.ค.2565 ยอดฉีดทั่วประเทศ 38,846 โดส เข็มที่ 1 : 3,982 คน เข็มที่ 2 : 9,455 คน เข็มที่ 3 : 25,409 คน
...
ส่วนสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลก วันเดียวกัน องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของโนวาแวกซ์ ในกลุ่มอายุ 12-17 ปี เป็นกรณีฉุกเฉิน หลังจากอนุมัติให้ใช้ในผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อเดือน ก.ค. ด้านศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาภายในครอบครัวหนึ่งในรัฐยูทาห์ที่มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ระบุว่าเชื้อไวรัสฝีดาษลิงยังคงติดอยู่ตามพื้นผิวเครื่องใช้ในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ ผ้าห่ม เมาส์คอมพิวเตอร์ เครื่องชงกาแฟและสวิตช์ไฟ ราวร้อยละ 70 ของพื้นที่สัมผัสบ่อยครั้งอยู่นานถึง 20 วันหลังจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการ แม้จะผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่าเชื้อที่หลงเหลืออยู่ดังกล่าวสามารถแพร่สู่คนได้หรือไม่