ศบค.จ่อรับทราบปรับโควิดเป็นโรคติดต่อไม่ร้ายแรง และยังคงกฎหมายพิเศษไว้ใช้ในการคุมคนเข้าออกประเทศ ส่วนข้อเสนอเปิดผับตี 4 ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อยู่ที่ ศบค.พิจารณา วัคซีนรุ่นใหม่คาดเข้าไทยต้นปี 66 แนะผู้ที่ฉีดเกิน 4 เดือนภูมิคุ้มกันจะตกให้มาฉีดกระตุ้น คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ พบโรคสมองล้าหลังป่วยโควิด 2 ปี
ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเช้าวันที่ 18 ส.ค. พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค.กล่าวถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 19 ส.ค.ว่า มีเรื่องสำคัญคือการปรับโควิดไปเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงการดูสถานการณ์ภาพรวมทั้งโลก นายกฯจะรับทราบถึงสถานการณ์ท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขต่างๆที่โตขึ้น รวมถึงการหารือเรื่องแผนการกระจายยาให้ประชาชนได้ภายใต้การกำกับของแพทย์

เมื่อถามว่าแบบนี้จะประสานให้เป็นโรคประจำถิ่น ได้เลยหรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ใช่ วันที่ 19 ส.ค. จะดูว่าอาจจะกำหนดเวลาไว้และยังมีเวลาที่จะประเมินสถานการณ์ เมื่อถามว่าวันที่ 1 ต.ค. ศบค.จะถูกยุบหรือไม่เพราะจะปรับโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่ามีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษควบคุมและป้องกันไม่ให้สถาน การณ์เลวร้าย สถานการณ์โควิดที่เบาลงในบางระดับยังจำเป็นต้องใช้กฎหมายฉุกเฉินอยู่เพื่อควบคุมคนเข้าออกประเทศ ยังจำเป็นในการกำกับหรือห้ามกระทำการสิ่งใด เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะดูแผนของกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าแผนที่ออกมานี้ยังจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่หรือไม่ ส่วนข้อเสนอถึงการเปิดผับถึงตี 4 ศบค.อาจมีข้อกังวล ถ้าขยายเวลาปิดเป็นตี 4 จะมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนที่เกี่ยวข้องกับโควิด แต่ยอมรับความหวังดีของ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาที่ต้องการให้เศรษฐกิจในพื้นที่ฟื้นตัว เมื่อถามว่าเรื่องเปิดผับถึงตี 4 จะบรรจุในวาระการประชุมของ ศบค.ได้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า เสนอได้แต่ ศบค.จะพิจารณาตามอำนาจหน้าที่
...
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 19 ส.ค. กระทรวงจะเสนอให้ที่ประชุมรับทราบถึงมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องการลดระดับสถานการณ์โควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่นำมาควบคุมสถานการณ์โควิด เป็นเรื่องที่นายกฯและ ศบค.เป็นผู้ประกาศ ข้อมูลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติให้โรคโควิดเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เหมือนกับการเปลี่ยนจากพื้นที่สีแดง ให้เป็นพื้นที่สีส้มอ่อนๆ น่าจะเป็นแนวทางที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อีกแนวทางหนึ่งขึ้นอยู่กับ ศบค. ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่าไปมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้ด้วยความคล่องตัวมากขึ้น การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่ากับการมี ศบค. เมื่อมีปัญหาเร่งด่วนสามารถนำเข้าประชุม ศบค.ได้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสบายใจ มั่นใจ เหมือนมีที่พิงหลังให้ข้าราชการที่ต้องดูแลประชาชน พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ไปกระทบวิถีชีวิตใคร เป็นสิ่งดีด้วยซ้ำ
ขณะที่ ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,143 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 29 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมยืนยัน 4,628,200 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,576,263 ราย เสียชีวิตสะสม 31,944 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 597,945,373 ราย เสียชีวิตสะสม 6,462,574 ราย

วันเดียวกัน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนังและ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เปิดเผยว่า เรื่องวัคซีนรุ่นใหม่ที่แต่ละบริษัทพัฒนาให้รับกับการกลายพันธุ์ของไวรัส เดิมผู้ผลิตประกาศว่าอาจออกมาในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. แต่ตอนนี้อาจจะเลื่อนออกไป คาดว่าไทยจะมีวัคซีนรุ่นใหม่ช่วงต้นปี 66 คนที่ฉีดไปก่อนหน้านี้เกิน 4 เดือนภูมิคุ้มกันอาจตก ศูนย์จึงเปิดให้บริการฉีดถึงวันที่ 30 ก.ย. เพื่อให้มาฉีดเข็มกระตุ้นรอวัคซีนรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาศูนย์บางซื่อฯ ฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วกว่า6.3 ล้านโดส เป็นศูนย์เดียวของไทยและมีขนาดใหญ่มากที่สุดเมื่อเทียบกับศูนย์อื่นทั่วโลก ฉะนั้นวันที่30 ก.ย. จะปิดแน่หรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ การที่เราประกาศยุติให้บริการที่ศูนย์บางซื่อฯ เพื่อกระตุ้นให้คนมารับวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่ม 608
ด้านสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานว่า มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เผยแพร่ผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายจากโรคแล้ว 2 ปี ผู้ป่วยอายุ 18-64 ปี มีอาการของภาวะสมองล้า ขณะที่ผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไป ยังมีอาการของโรคลมชัก โรคสมองเสื่อม และโรคเส้นเลือดในสมองแตก เพิ่มเติม นอกจากนีแล้ว ยังพบอาการของโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าอีกด้วย แต่พบในจำนวนน้อย ทีมวิจัยกล่าวว่าแม้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่น่ากังวลและไม่ควรมองข้ามอาการเหล่านี้