ไทยพบเพิ่ม “ผู้ป่วยฝีดาษลิงราย ที่ 5” สาวไทยกลับจากดูไบ จนท.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศสนามบินสุวรรณภูมิ เห็นผิดสังเกตรีบสกัดตัวไว้ก่อน พบมีอาการตั้งแต่ก่อนมา เร่งตาม 2 ต่างชาตินั่งติดกันบนเครื่องบิน ส่วนที่ฝรั่งเศสพบเคสแรก “หมาติดฝีดาษลิง” คาดติดจากเจ้าของที่ป่วย ขณะที่ยอดติดโควิด-19 ไทยยังสูง สธ.ห่วงยอดพุ่งอีกหลังหยุดยาววันแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ เหตุทำกิจกรรมร่วมลูกหลาน พร้อมโต้

นักวิชาการทักท้วงการลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน อ้างเป็นการยอมรับได้ในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เพราะคนติดเชื้อจะมีการระมัดระวังตัวเอง ย้ำการขยับวันให้ลดลง พิจารณาโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ในการกลับมาใช้ชีวิต ได้ตามปกติที่โรงแรมอัศวิน เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผย
หลังเปิดประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพว่า ไทยยืนยันตรวจพบผู้ป่วยฝีดาษลิงคนที่ 5 เป็นหญิงไทย อายุ 25 ปี เดินทางมาจากนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงไทยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ เห็นว่าดูเหมือนคนป่วย จึงเข้าไปสอบถามอาการและเห็นว่ามีตุ่ม มีอาการเข้าข่ายน่าสงสัย จึงขอตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาล ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ผลการตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการยืนยันว่าเป็นฝีดาษลิง จึงรักษาตัวต่อในโรงพยาบาล จากการซักประวัติ ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อจากต่างประเทศ เพราะมีอาการตั้งแต่ที่อยู่ต่างประเทศและเดินทางกลับไทย มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วยคนนี้ค่อนข้างน้อย เพราะเพิ่งกลับเข้าประเทศ ผู้ที่ใกล้ชิดในระหว่างเดินทางกลับคือคนที่นั่งใกล้ชิดมี 2 คน เป็นชาวต่างชาติ กำลังตรวจสอบรายละเอียดว่าทั้ง 2 คนอยู่ในประเทศไทยหรือเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว

...

นพ.โอภาสกล่าวต่ออีกว่า โรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ ข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงที่ขึ้นเครื่องบิน คนที่นั่งข้างๆไม่มีผู้ใดติดเชื้อ แต่เพื่อให้เป็นไปตามระบบการควบคุมโรคจะต้องตามผู้ที่นั่งข้างๆ ผู้ป่วยคนที่ 5 หากยังอยู่ในไทยจะแนะนำให้มาตรวจหาเชื้อ และจะแจ้งข้อมูลกลับไปที่ประเทศต้นทางคือ นครดูไบ ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ สำหรับผู้ป่วยฝีดาษลิงของไทยทั้ง 5 คน เป็นต่างชาติ 2 คน และสัมผัสใกล้ชิดกับคนต่างชาติ 3 คน จุดเสี่ยงคือจุดที่มีคนต่างชาติอยู่รวมกัน แต่ยืนยันว่าโรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ต้องสัมผัสใกล้ชิดกันมากๆ คนทั่วไปที่ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ต้องกลัว เพราะที่ผ่านมาผู้ป่วยคนที่ 1-4 ของไทย ยังไม่มีผู้ใกล้ชิดหรือคนอาศัยร่วมบ้านติดเชื้อ แสดงว่าไม่ได้ติดกันง่ายๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าอยู่ร่วมบ้านแล้วจะไม่ติดเชื้อ หากสัมผัสใกล้ชิดอาจติดเชื้อได้

นอกจากนี้ วันเดียวกัน วารสารการแพทย์เดอะ แลนเซ็ท รายงานการตรวจพบสุนัขติดเชื้อฝีดาษลิงจากมนุษย์เป็นเคสแรก จากการตรวจสอบพบว่าสุนัขพันธุ์อิตาเลียน เกรย์ฮาวด์ ดังกล่าว แสดงอาการป่วย 12 วัน หลังเจ้าของถูกตรวจพบว่าติดเชื้อฝีดาษลิง โดยมีตุ่มหนองจำนวนมากขึ้นที่บริเวณท้องเพียงจุดเดียว ไม่ขึ้นที่ส่วนอื่นของตัวสุนัข ทั้งนี้ เจ้าของสุนัขเป็นคู่เกย์ชายอายุ 44 ปี และ 27 ปี ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ทั้งคู่ติดเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่เกย์รายอื่น ขณะที่สุนัขมีพฤติกรรมเลียเจ้าของ ทั้งนอนหลับบนเตียงเดียวกับเจ้าของอยู่เป็นประจำ

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทย เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,663 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,650 คน มาจากเรือนจำ 13 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,335 คน อยู่ระหว่างรักษา 20,256 คน อาการหนัก 937 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 486 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 30 คน อายุ 45-97 ปี ทำให้ตั้งแต่ปี 2563 ไทยมียอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 4,622,088 คน หายป่วยสะสม 4,569,974 คนผู้เสียชีวิตสะสม 31,858 คน ส่วนภาพรวมยอด ฉีดวัคซีน วันที่ 14 ส.ค.ทั่วประเทศ 21,868 โดสเป็นเข็มที่ 1:1,819 ราย เข็มที่ 2:2,379 ราย และเข็มที่ 3 ขึ้นไป : 17,670 ราย

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ระบุผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK+) สัปดาห์ที่ 32 (7-13 ส.ค.2565) มีจำนวน 218,042 คน แม้จะลดลง จากสัปดาห์ที่ 31 (31 ก.ค.-6 ส.ค.2565 มีจำนวน 235,753 คน) แต่ยอดผู้ติดเชื้อยังสูงกว่า 2 แสนคนต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังวันหยุดยาวช่วงเทศกาลวันแม่แห่งชาติ ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มสูงขึ้นได้ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ แม่ ซึ่งคือผู้สูงอายุและผู้สูงอายุอื่นๆในครอบครัวที่มีกิจกรรมร่วมกับลูกหลาน ทั้งพาไปกินข้าว หรือลูกหลานกลับภูมิลำเนามาเยี่ยม ดังนั้น จึงอยากขอให้ลูกหลานสังเกตอาการตนเอง 2-3 วัน เพราะเชื้อมีระยะฟักตัวสั้น หากมีไข้ เจ็บคอ มีอาการทางเดินหายใจ ตรวจ ATK แล้วพบผลบวก ขอให้ส่งข่าวให้แม่หรือญาติผู้ใหญ่ทราบ เพื่อให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุสังเกตอาการผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด

...

ส่วนกรณีนักวิชาการระบุว่า ผู้ติดเชื้อแล้วแยกตัว 5-10 วันไม่เพียงพอ ต้อง 14 วันนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า การกำหนดระยะเวลา 10 วัน เป็นการยอมรับได้ในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจาก 14 วัน แต่ทุกคนที่ติดเชื้อแล้วจะมีการระมัดระวังตัวในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะกำหนด 10 วันหรือ 14 วัน ผู้ป่วยก็ระวังตัวเอง แต่สามารถทำกิจกรรมได้ วันนี้จะให้ควบคุมเข้มเหมือนในอดีตคงทำได้ยาก ความเสี่ยงที่มีขณะนี้คือ การกินข้าว การไม่สวมหน้ากากคุยกัน และทุกครั้งที่เราขยับวันให้ลดลง เราพิจารณาโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ในการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติที่สุด เช่น วัยทำงานได้กลับไปทำงาน เป็นต้น

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมถึงอาการลองโควิด-19 ว่าเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และองค์การอนามัยโลกยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน แต่ที่ทราบข้อมูลคือ มีอาการไม่สบายหลังจากหายจากโควิด มีอาการไม่เจาะจง ทั่วโลกพยายามรวบรวมข้อมูลกัน แต่เราพบว่าคนไข้โควิดที่มีอาการหนัก เมื่อหายแล้วประมาณ 2-3 เดือน จะมีอาการผิดปกติไม่หายขาด หรือมีอาการระบบต่างๆตามมา กำลังจับตาใกล้ชิด แต่คนที่ฉีดวัคซีนแล้วอาการไม่รุนแรงส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการแทรกซ้อนอะไร หลายคนพยายามออกข่าวว่าน่ากลัว แต่ความจริงเป็นสิ่งที่ต้องระวัง แต่ไม่ได้เป็นกันทุกคน โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนครบ ร่างกายแข็งแรง พอหายจากโควิดจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนภาวะเป็นซ้ำ หรือ Rebound นั้น ต้องติดตามเช่นกัน อาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือคนที่ร่างกายอ่อนแอ เมื่อรับยาต้านไวรัสไปครบแล้ว หยุดสักพักก็มีอาการใหม่ แต่คนที่เป็นซ้ำส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก หรือน้อยกว่าครั้งแรก อาการส่วนใหญ่คือเป็นไข้ ส่วนระยะของการเป็นซ้ำ บางคนพบหลังจากหายประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนมากจะไม่เกิน 1 เดือน

...