ส.ป.ก. เสนอร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินฯใหม่ สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ปรับแก้แนวทางการสิ้นสิทธิในที่ดิน พร้อมหลักเกณฑ์ขึ้นบัญชีเกษตรกรขอที่ดินทำกิน

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 65 ที่ ส.ป.ก. ราชดำเนินนอกนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 3/2565 ผ่าน Application : Zoom ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวว่า ที่ประชุม คปก. รับทราบร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ. ... โดยเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เพื่อให้ ส.ป.ก. มีกฎหมายและมาตรการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม สามารถป้องกันการบุกรุกที่ดินรัฐเพิ่มเติม กระจายการถือครอง สามารถบริหารจัดการที่ดินภาครัฐให้มีความเหมาะสม การเข้าถึงทรัพยากร และการเพิ่มมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้ประชาชน พร้อมกันนี้ได้เห็นชอบแนวทางการสั่งให้เกษตรกรสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่รับมอบจาก ส.ป.ก. ซึ่งคำนึงถึงความเป็นธรรมและความจำเป็นของเกษตรกรมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องได้รับความเดือดร้อนจนเกินไปจากการถูกสั่งให้สิ้นสิทธิตามแนวทางเดิมที่ต้องสูญเสียทั้งที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยทั้งหมด โดย ส.ป.ก. จะแจ้งสิทธิและหน้าที่ให้เกษตรกรดังกล่าวได้รับทราบ ตลอดจนให้โอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานที่จำเป็นและเพียงพอ แก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง

...

นอกจากนั้น คปก. ยังเห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำบัญชีเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือก นำไปเป็นแนวทางการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร เพื่อจัดลำดับในการช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นไปตามระเบียบ โดยแบ่งบัญชีออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.บัญชีเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินที่ได้ขึ้นทะเบียนขอรับการจัดที่ดินทำกินจาก ส.ป.ก. 2.บัญชีเกษตรกรซึ่งผ่านการประเมินหลักสูตรเกษตรกรรุ่นใหม่ 3. บัญชีผู้ขอรับการจัดที่ดินเป็นการเฉพาะ เช่น ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการของทางราชการที่สูญเสียที่ดินทำกิน ผู้ประสบภัยธรรมชาติ ผู้ได้รับผลกระทบจากการเกิดโรคระบาด และนโยบายรัฐบาลที่ให้แก้ไขปัญหาที่ดินโดยเร่งด่วน อาทิ โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) และ 4. บัญชีเกษตรกรอื่นๆ ตามที่ คปจ. กำหนด ซึ่งจะช่วยลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ มีความเป็นธรรม รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ คปก. ได้เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กว่า 4,100 ล้านบาท เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการบริหารเงินกองทุนฯ โดยแบ่งเป็นรายจ่ายหมุนเวียน เช่น การจัดหาที่ดิน สินเชื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้เกษตรกร สินเชื่อตามนโยบาย เงินค้ำประกันสินเชื่อ ธ.ก.ส. และรายจ่ายขาด เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจัดหาที่ดิน โครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่และการผลิต โครงการพัฒนาแปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ อยู่ดี และมีความสุขในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างยั่งยืน

"ที่ดินที่เราได้มาส่วนหนึ่งไม่เหมาะสมทำการเกษตร แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ และยังมีข้อจำกัดในการแบ่งแยกและโอนสิทธิตามกลไกกฎหมายเดิม ขณะที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการปรับปรุงกฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันเพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม การยกระดับคุณภาพชีวิต และการเข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสมในอนาคต ส.ป.ก. จึงเสนอร่างกฎหมายการปฏิรูปที่ดินฯ ใหม่ให้ คปก. รับทราบ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามแนวทางและขั้นตอนในการเสนอร่างกฎหมายต่อไป" เลขาฯ ส.ป.ก.กล่าว.