- NIA เปิดตัว 2 นวัตกรรม "อาร์ต & คัลเจอร์" คืนสีสันศิลปะนิยามใหม่ให้กรุงเทพฯ
- "อารามอารมณ์" พาสำรวจสภาพจิตใจ ผ่านงานศิลป์และดิจิทัลอาร์ต
- ท่องเที่ยว "วัดโพธิ์" แบบใหม่ พาย้อนประวัติศาสตร์ผสมผสานเทคโนโลยี AR ผ่านแอปพลิเคชัน "Insight Wat Pho"
เมื่อพูดถึง "นวัตกรรม" หลายคนอาจจะมองภาพสินค้าเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่หากเรานำนวัตกรรมมาผสมผสานคลุกเคล้ากับกับศิลปะ วัฒนธรรม จะได้เป็น "นวัตกรรมเพื่อสังคม" ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเมืองที่กำลังเติบโตรองรับการเปิดประเทศ พร้อมๆ กับบำบัดจิตใจของผู้คนในเมือง โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนและเปิดตัว 2 โซลูชันเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา "อารามอารมณ์" นวัตกรรมการแก้ปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของคนเมือง และ "Insight Wat Pho" แอปพลิเคชันช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของ NIA คือการนำนวัตกรรมเพื่อสังคมมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้คลี่คลายจากภาวะวิกฤติ หรือปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมเมืองและชุมชนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แต่ละพื้นที่ประสบกับปัญหาที่แตกต่างกันออกไป จึงริเริ่ม "โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน" (City & Community Innovation Challenge) ต่อเนื่องมามากกว่า 5 ปี
"อารามอารมณ์" โครงการจาก Eyedropper Fill
สำหรับ โครงการ "อารามอารมณ์" เป็นนวัตกรรมระดับประเทศ เป็นกระบวนการดูแลสุขภาวะทางจิตผสมผสานกับงานศิลป์และดิจิทัลอาร์ตเข้าด้วยกัน ผ่านการออกแบบและดีไซน์แต่ละส่วนด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านศิลปะ ด้านดิจิทัล รวมถึงด้านเสียง ที่ควบคุมแต่ละจุดในงาน ในการออกแบบสื่อ แสง-สี-เสียง ที่ผสมเรื่องราวเพื่อเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด และดึงผู้เชี่ยวชาญจากด้านสุขภาวะทางจิตเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดร่วม ที่จะช่วยให้เยาวชนรวมไปถึงผู้เข้าชมทุกวัยสามารถเข้าถึงการสื่อสารด้วยศิลปะร่วมกับการบำบัดได้ง่ายยิ่งขึ้น
...
ซึ่งจากผลสำรวจเรื่องปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น พบว่าจำนวนของวัยรุ่นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น และอายุเฉลี่ยลดลงด้วย (อ้างอิงจากข้อมูลของสายด่วนสุขภาพจิต ในปี 2019 วัยรุ่นที่โทรปรึกษาอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 11 ปีเท่านั้น)

ทั้งนี้ Eyedropper Fill ทีมนักออกแบบประสบการณ์ จึงได้ทำ Focus Group กับกลุ่มเป้าหมาย (Gen Z) จำนวน 30 คน พบว่า 24 คนมีปัญหาด้านความเครียดและความรู้สึกไม่มั่นคง จากทั้งการใช้ชีวิตภายใต้ความกดดันในการเรียน การแสดงออก และเป้าหมายในชีวิต แต่ยังไม่มีอาการหนักหรือความต้องการที่จะไปพบแพทย์เฉพาะทาง
และข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการพูดคุยอย่างใกล้ชิด ได้พบข้อมูลอีกอย่างคือ วัยรุ่นยุคนี้ไม่มีพื้นที่ทางเลือกในการยึดเหนี่ยวจิตใจที่อำนวยให้เขาใช้เวลาเพื่อสำรวจและเข้าใจตัวเอง ทำให้เกิดปัญหาความเครียดและซึมเศร้าไม่รู้ตัว และนี่จึงเป็นที่มาของ "นิทรรศการดิจิทัลอาร์ต" ที่จะช่วยให้เราได้สำรวจอารมณ์ตัวเองผ่านห้องต่างๆ จำนวน 6 ห้อง ไล่เรียงกันไป ดังนี้

1. ห้องสำรวจอารมณ์ เมื่อเข้ามาแล้ว จะเจอกับจอขนาดใหญ่ที่แสดงข้อมูลของผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชมนิทรรศการ ที่มาจากการสำรวจความรู้สึก รับรู้ถึงอารมณ์ของตัวเองผ่านวงล้ออารมณ์ (Wheel of Emotions)

2. ห้องกอด ภายในห้องจะมีเสาขนาดต่างๆ ให้กอด ซึ่งตามหลักจิตวิทยาแล้ว “การกอด” เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยฮีลจิตใจ

...
3. ห้องนอน เรียกได้ว่าเป็นห้องที่สามารถนอนได้จริง โดยการล้มตัวนอนในอ่างที่มีลูกบอลให้ร่างกายได้หยุดพักความเครียด

4. ห้องปั้น ในห้องนี้จะมีโต๊ะและดินน้ำมันให้หยิบขึ้นมาปั้นได้ตามใจชอบ ไม่มีรูปแบบที่ถูกหรือผิด ซึ่งทางจิตวิทยา การปั้นดินน้ำมันจะช่วยในเรื่องระบายความเครียด

...
5. ห้องฟัง เป็นอีกห้องที่สามารถล้มตัวนอนบนเบาะ หยุดความเครียดที่รบกวนจิตใจ ปล่อยใจฟังเสียงรอบข้างเพื่อเติมพลังให้ตัวเอง

6. ห้องสะท้อนอารมณ์ ที่ทำให้เราได้ตกตะกอนทบทวนสิ่งต่างๆ และได้เขียนสะท้อนความรู้สึกบนผืนกระดาษและกำแพง
"Insight Wat Pho"
เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนมือถือ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ถือเป็นโบราณสถานที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ และยังได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย

...
โดยจารึกวัดโพธิ์ได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นมรดกความทรงจำของโลกแห่งเอเชียแปซิฟิกด้วย นอกจากนี้ภายในวัดโพธิ์ยังประกอบไปด้วยพระพุทธรูป โบสถ์ วิหาร เจดีย์ เขามอ ฤาษีดัดตน และประติมากรรมที่สวยงามจำนวนมาก รวมถึงยักษ์วัดโพธิ์อันมีชื่อเสียงด้วย จึงได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของประเทศด้วย


แต่กลับพบว่า ความสำคัญเหล่านี้มักถูกหลงลืมหรือมองข้ามไปจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาเยี่ยมเยือนและเที่ยว ดังนั้น จึงมีการนำความรู้ต่างๆ ภายในวัดโพธิ์ มานำเสนอด้วยระบบ AR (Augmented Reality) เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง ผ่านแอปพลิเคชัน "Insight Wat Pho" ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี มีทั้งโหมดภาษาอังกฤษและภาษาไทย ที่จะแสดงข้อมูลองค์ความรู้ และประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวัดโพธิ์เชื่อมโยงกับสถานที่จริงออกมาในรูปแบบแอนิเมชันและกราฟิก
โดยองค์ความรู้และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่นำมาแสดงในแอปพลิเคชัน ล้วนถูกคัดกรองมาจากงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม จึงมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาเรียนรู้ภายในวัดได้นานมากขึ้น และถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งดึงดูดของวัดเพื่อเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจาก 2 นวัตกรรมเพื่อสังคมข้างต้นแล้ว ในปี 2566 ทาง NIA ยังเปิดรับนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชุมชนได้ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ นวัตกรรมในกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ เช่น การเพิ่มมูลค่าให้กับศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยีด้านสื่อและการสื่อสาร นวัตกรรมสำหรับการแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาสินค้า บริการ หรือการจัดการ วัสดุหมุนเวียน ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตทุกช่วงวัย ตั้งแต่เจเนอเรชันอัลฟาจนถึงเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ เพื่อรับเงินสนับสนุนสำหรับดำเนินการจริงในพื้นที่ในวงเงินไม่เกินโครงการ 1.5 ล้านบาท
เมื่อดำเนินโครงการนำร่องแล้วเสร็จ สามารถขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคม และธุรกิจ ไปยังพื้นที่อื่นต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://social.nia.or.th/ หรือ facebook.com/niathailand
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟฟิก : Chonticha Pinijrob