“ถ้าสอนคนให้ทำอะไร คนก็มักจะลืม ถ้าทำให้เขาดู เขาจะจำได้ ถ้าให้เขาทำเอง เขาก็จะเข้าใจ แต่ถ้าอยากให้เขาแตกฉาน ก็ต้องให้เขาไปสอนคน” เป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พูดอยู่เสมอเวลาอยู่กับตำรวจ และฝากเป็นการบ้านวันที่ใกล้ครบวาระเกษียณพ้นราชการ
ด้วยความเป็นห่วงและคาดหวัง
ยิ่งมามีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามและตำรวจที่เข้าปฏิบัติหน้าที่พลาดได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตหลังเข้าระงับเหตุ เป็นที่มาข้อสั่งการ ผบ.ตร.ที่ว่า “ทุกครั้งที่มีการปฏิบัติหน้าที่ทางยุทธวิธีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการไล่จับคนร้าย ล่อซื้อ ตั้งจุดตรวจจุดสกัดแล้วจับกุม ปิดล้อม ล้อมจับ เข้าตรวจค้น การระงับเหตุของเจ้าหน้าที่สายตรวจ สายสืบหรือแม้แต่จราจร ไม่ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ควรประชุมทบทวนหลังปฏิบัติ”
ปรับยุทธวิธี แสวงหาแนวทางที่ถูกต้องมาปรับใช้ทำการฝึกร่วมกัน ผลการฝึกให้นำกลับมาปรับปรุงใหม่อีกจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่พอใจ ตำราต่างๆที่ศูนย์บริหารงาน ปป. จัดทำขึ้นมาปรับใช้หรือประยุกต์ใช้ได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง สภาพแวดล้อมและเหตุการณ์แต่ละครั้งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป การประชุมและการฝึกแบบนี้ผู้กำกับหรือหัวหน้าสถานีประชุมและฝึกฝนตำรวจในสถานีทำได้ที่สถานีตัวเอง ทำได้ทุกวันทุกสัปดาห์
สายตรวจ สายสืบ จราจร ไม่จำเป็นต้องมีใครสั่งให้เปิดโครงการหรือเปิดหลักสูตรอะไร การฝึกฝนเรื่องง่ายๆที่เคยฝึกบ่อยแล้ว ตกผลึกให้ทบทวนหน้าแถวก่อนปล่อยแถวสายตรวจหรือฝึกซ้อมวันฝึกประจำของสถานี
ระดับ บก. รอง ผบก.ในสายงาน ปป. สส. ต้องลงมาช่วยคิด ช่วยทำ ตามสมควรแก่กรณี เพื่อประโยชน์ในการสร้างมาตรฐาน นำผลลัพธ์ที่ได้ไปถ่ายทอด หากเป็นกรณีที่จะต้องฝึกปฏิบัติรวมกันหลายสถานีหรือสนธิกำลังหลายหน่วย บก.ต้องเป็นเจ้าภาพเรียกหน่วยปฏิบัติการพิเศษหรือผู้ที่มีความรู้มาให้คำแนะนำ ฝึกสอน สาธิต หรือปฏิบัติการร่วมก็ได้ ความรู้พวกนี้ถึงวันนึงต้องกลายเป็น SOP เป็นความรู้พื้นฐานให้กับตำรวจทุกนาย และใช้เป็นเหตุผลในการปรับปรุง อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะต่างๆที่เหมาะสมให้กับตำรวจต่อไป
...
คณะทำงานศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม จะเป็นผู้กำหนดกฎกติกาและมาตรฐานขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่จะให้เกิดผลรูปธรรมอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย ที่สำคัญผู้บังคับบัญชาทุกระดับในสถานีตำรวจ
ต้องมี Mindset ที่เข้าใจเหตุและผล
ต้องมีตรรกะและความรู้ทางยุทธวิธี เข้าใจให้ลึกซึ้งถึงความสำคัญ ความจำเป็นของเรื่องนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ยิงปืนแม่นหรือมีทักษะพิเศษอะไร ขอให้เข้าใจตรรกะ รู้จักแสวงหาความรู้ทำได้ ตำรวจไทยปัจจุบันอายุเฉลี่ยปาเข้าไป 46 ปีแล้ว การพัฒนาคนเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ทำอย่างไรให้บุคลากรสามารถปฏิบัติหน้าที่
ได้อย่างมีมาตรฐาน มีความรู้ มีขวัญกำลังใจ.
“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th