ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดแถลงข่าว พลังฐานข้อมูล เครื่องมือสร้างความเสมอภาคสู่สังคม ปิดทุก GAP “Learning Loss สู่ Learning recovery” หยุดการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น (Lost Generation) : ดึงพลังทุกฝ่ายร่วมฟื้นฟูการเรียนรู้ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า RIPED ได้ดำเนินงานร่วมกับ กสศ. พัฒนาระบบฐานข้อมูลและสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (Thailand School Readiness Survey: TSRS) เก็บข้อมูลก่อนเกิดโควิดปี 2563 เทียบกับปี 2565 ที่โควิดระบาดหนัก พบว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน ทำให้เด็กมีโอกาสเป็นเด็กหางแถวอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัยเพิ่มขึ้นอย่างมากอีกด้วย ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กน้อยลง เด็กทำการบ้านและการเรียนรู้ด้วยตนเองลดลงแต่ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากขึ้น
“ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนคือ การที่ภาครัฐควรกำหนดนโยบายและสนับสนุนงบประมาณให้เด็กได้เรียนนานขึ้นเพื่อชดเชยเวลาที่หายไป เช่น การเปิดสอนช่วงภาคฤดูร้อน โดยสอนทักษะที่เด็กขาดหายไป เช่น การอ่าน ภาษา คณิต ศาสตร์ และไม่บังคับให้มาเรียน โดยส่วนตัวเชื่อว่าพ่อแม่ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ยินดีที่จะส่งลูกมาเรียน” รศ.ดร.วีระชัยกล่าว
ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การกำหนดนโยบายในภาพรวมของประเทศ ต้องอาศัยข้อมูลที่ชัดเจน แต่เนื่องจากเรามีหลายหน่วยงานที่ดูแลเด็กแบบแยกส่วน เช่น สธ.ดูแลด้านสุขภาพ ศธ.ดูแลด้านการศึกษา ดังนั้น การฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กให้ได้ผลนั้นจะต้องมีการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงาน และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ซึ่งจะดูแลเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม.
...