- ทำความรู้จัก ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสมที่ช่วยป้องกันโควิด-19
- LAAB เหมาะกับคนกลุ่มใด แล้วคนธรรมดาสามารถฉีดได้ไหม หลังลอตแรกมาถึงไทยแล้ว 7 แสนโดส
- อาการไม่พึงประสงค์ พร้อมคำแนะนำในการเฝ้าระวัง หลังได้รับ LAAB
จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้แพร่ระบาดไปทั่วทั้งโลก แม้ว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีประชากรบางกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำหรือได้รับวัคซีนแล้ว แต่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค
ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนายาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสม หรือ LAAB (Long Acting Antibodies) ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อใช้สร้างภูมิคุ้มกันในประชากรดังกล่าว ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สั่งซื้อไปจำนวน 2.5 แสนโดส โดยลอตแรกได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 จำนวน 7 พันโดส
ทั้งนี้ ประชาชนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ต่ำหรือผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ สามารถติดต่อเข้ารับการฉีด LAAB ได้ที่สถานพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป
...
รู้จัก LAAB ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปสำหรับกลุ่มเปราะบาง
สำหรับ LAAB เป็นแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวที่ประกอบด้วยแอนติบอดี 2 ชนิด ได้แก่ Tixagevimab และ Cilgavimab พัฒนามาจากบีเซลล์ของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และได้พัฒนา เพิ่มเติมเพื่อขยายระยะเวลาครึ่งชีวิตให้ยาวนานกว่าแอนติบอดีทั่วไปอย่างน้อย 3 เท่า ใช้เพื่อการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 นั่นก็คือ ผู้ที่ไม่ได้กำลังติดเชื้อ หรือไม่ได้เป็นผู้เพิ่งสัมผัสเสี่ยงสูงต่อโควิด-19
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า LAAB สามารถลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.1, BA.1.1, BA.2, BA.3, BA.4 และ BA.5 ได้ รวมไปถึงยังสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการได้อีกด้วย
LAAB เหมาะกับคนกลุ่มใดบ้าง
จากข้อมูลมีรายงานว่า LAAB ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาในสหภาพยุโรป เพื่อใช้สำหรับป้องกันก่อนการสัมผัสโควิด-19 และได้รับการขึ้นทะเบียนให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินในประเทศสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนยาภายใต้ การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 สำหรับใช้เพื่อการป้องกันก่อน การสัมผัสเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม ทั้งผู้ที่เคยได้รับวัคซีนและไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ที่อาจมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ไม่เพียงพอจากโรคร่วมต่างๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันผู้ป่วยล้างไต รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
เมื่อถามว่า บุคคลทั่วไปสามารถรับยา LAAB ได้หรือไม่นั้น เบื้องต้นยา LAAB ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในกลุ่มประชากรที่เปราะบาง มีความเสี่ยงสูง และมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงประชากรที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ก่อน
สำหรับการใช้งาน LAAB เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 150 มิลลิกรัม โดยมีผลวิจัยสนับสนุนว่าการฉีดยาครั้งเดียวสามารถให้การป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้อย่างน้อย 6 เดือน
อาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับ LAAB
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังจากที่ได้รับการฉีด LAAB ได้แก่ อาการปวด หรือบวมแดงบริเวณที่ฉีด อาการแพ้ (hypersensitivity) เช่น มีผื่นนูนแดง ปาก หนังตา หรือหน้าบวม หรือบางรายมีอาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ซึ่งพบน้อย เช่น หายใจลำบาก เหนื่อย หรือหายใจมีเสียงหวีด คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ทางระบบหัวใจ และหลอดเลือด ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัย ซึ่งไม่ชัดเจนว่าเกิดจาก LAAB หรือไม่ โดยพบในกลุ่มผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปีที่มีโรคประจำตัวของระบบหลอดเลือดและหัวใจอยู่ก่อน เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น แต่เกิดขึ้นน้อยมาก
...
คำแนะนำเพื่อเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
• ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังได้รับ LAAB เพื่อเฝ้าระวังอาการแพ้รุนแรง หรืออาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นเฉียบพลัน
• LAAB มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ excipient ได้แก่ L-Histidine, L-Histidine hydrochloride monohydrate, Sucrose, Polysorbate 80, Water for injections
แต่ไม่มีข้อห้ามในการให้ LAAB ในผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือเคยมีประวัติแพ้วัคซีนโควิด-19 หรือมีประวัติแพ้ส่วนประกอบ polysorbate 80 ที่มีอาการผื่นผิวหนังอย่างเดียว เช่น ลมพิษ ปากบวม สามารถฉีดได้แต่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามหากมีประวัติเข้าได้กับการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน
• หากผู้ที่ได้รับ LAAB มีอาการต่อไปนี้ภายหลังได้รับยา ควรรีบพบแพทย์ ได้แก่ หน้าบวม ตาบวม อาเจียนรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หรืออาการปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีดที่ไม่หายภายใน 2-3 วัน
• หากพบผู้ป่วยที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับ LAAB จำเป็นต้องมีการรายงาน เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ดังกล่าวเข้าสู่ระบบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI-DDC) สามารถรายงานได้ทาง https://eventbaseddoe.moph.go.th/aefi/ หรือส่งข้อมูลทาง email doe_cd@ddc.mail.go.th
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟฟิก : Chonticha Pinijrob