ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) คว้า 3 รางวัล ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World RoboCup Rescue 2022” ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัล Best-in-class Mobility และรางวัล Best team description papers โดยมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันรวม 14 ทีม จาก 10 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรีย แคนาดา จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตุรกี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา จัดแข่งขันเมื่อวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งที่ผ่านมาทีม iRAP Robot จาก มจพ. ได้เคยคว้ารางวัลในเวทีโลกมาแล้วมากมาย โดยเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้นับว่าได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำให้ในปี 2565 นี้ เราเป็นรองแค่ทีมจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยีสุดล้ำอันดับต้นๆ ของโลก การแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์สำคัญสำหรับนักศึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot ที่จะพัฒนาทีมต่อไปในอนาคต

นายฐิติยศ ประกายธรรม ตัวแทนทีมนักศึกษา กล่าวว่า “การเข้าแข่งขันในปีนี้มีอะไรที่แตกต่างจากปีก่อนๆ ที่เราเคยเข้าร่วมการแข่งขันมากมาย ซึ่งปัจจุบันหุ่นยนต์มีการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างและระบบซอฟต์แวร์เพื่อให้สอดคล้องต่อการทำระบบอัตโนมัติ ตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหุ่นยนต์ ได้แก่ การเปลี่ยนระบบส่งกำลังที่แขนหุ่นยนต์เพื่อให้สามารถพัฒนาไปเป็นระบบอัตโนมัติได้ง่ายขึ้น และในส่วนของซอฟต์แวร์นั้น เช่น การพัฒนาระบบการทำแผนที่จากสองมิติเป็นสามมิติ นอกจากนี้เป้าหมายถัดไปของทีม ได้แก่ การที่หุ่นยนต์สามารถวิ่งสำรวจพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง และพัฒนาระบบช่วยเหลือคนขับสำหรับบังคับแขนหุ่นยนต์เพื่อให้ง่ายต่อการบังคับ ในอนาคตเราจะพัฒนาหุ่นยนต์ของเราให้ทันสมัยและสามารถใช้งานได้ในหลายมิติอย่างสมบูรณ์แบบ” นายฐิติยศ กล่าว

ในส่วนของอาจารย์ผู้ดูแลและที่ปรึกษาทีม ผศ.ดร.อมรพันธุ์ พันธุ์โอภาส ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ผมมีความรู้สึกประทับใจในผู้เข้าร่วมแข่งขันจากต่างประเทศ เนื่องจากเราได้เห็นนวัตกรรมและแนวคิดที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการปรับปรุงหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับคำแนะนำที่อยากจะบอกกับน้องๆ ที่สนใจสามารถศึกษาดูกฎกติกาได้ที่ rrl.robocup.org หากยังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาจะมีอีกลีกการแข่งขัน ที่เป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กเพื่อลดความซับซ้อนทั้งในการวางแผนงาน และโครงสร้างหุ่นยนต์ อีกทั้งได้แลกเปลี่ยนความรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ และที่สำคัญที่สุดคือการได้พบเจอผู้คน และสังคมที่หลากหลายขึ้น นอกจากนี้หากสนใจในรายการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยสามารถติดต่อสอบถามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก iRAP ROBOT มจพ.” ผศ.ดร.อมรพันธุ์ กล่าว

ท้ายนี้ รศ.ดร.ธีรวัช บุณยโสภณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ในฐานะผู้บริหาร มจพ. เปิดเผยว่า “ทีมผู้บริหารให้ความสำคัญกับทีมหุ่นยนต์กู้ภัยของเด็กไทย ที่สามารถจะไปได้ไกลมากกว่าอยู่แค่ในห้องเรียน กว่า 10 ปีที่ มจพ. เข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยในระดับโลกซึ่งเราผ่านอุปสรรคมากมาย เคยได้ทั้งแชมป์โลกและรองแชมป์ และมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการแข่งขันกับนานาประเทศที่เป็นผู้นำแห่งเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา อังกฤษ จีน หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ซึ่งนักศึกษาทีม มจพ. สามารถทำผลงานได้เป็นอย่างดี และเราก็ภูมิใจที่ประสบการณ์ในการแข่งขันหุ่นยนต์ ทำให้ มจพ. สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเหลือสังคมในหลายๆ ด้าน เช่น หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด EOD ส่งมอบให้กองทัพบกไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ ส่งมอบให้ วชิรพยาบาลเพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19 หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอยฆ่าเชื้อโรค ที่ส่งมอบให้กับชุมชน วัด โรงพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ในวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ และยังมีอีกหลายนวัตกรรมที่ต่อยอดมาจากประสบการณ์การแข่งขันหุ่นยนต์โลกจากรุ่นสู่รุ่น และมหาวิทยาลัยยังคงต้องพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมไปตามแนวโน้มด้านหุ่นยนต์ของโลกที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การใช้งานในอนาคต” รศ.ดร.ธีรวัช กล่าวปิดท้าย.

ติดตามผลรางวัล https://rrl.robocup.org/2018-awards/
ติดตามรายละเอียดหุ่นยนต์ https://www.facebook.com/iraprobot