- โควิดไทยติดเชื้อเพิ่ม สธ.คาดอีกไม่นาน โอมิครอน BA.4/BA.5 จะครองทั้งประเทศ ยอมรับยอดผู้ติดเชื้อเป็นช่วงขาขึ้น
- หมอชี้ "BA.5" น่ากลัวกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาด เหตุเชื้อแข็งแรง-ดื้อ-หลบภูมิได้ดี ทำให้คนติดเชื้อได้ง่าย
- สธ.เผยเหตุรายงานยอดผู้ป่วยโควิดรายวัน ต่ำกว่ายอดติดเชื้อจริง เป็นการรายงานจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาใน รพ. ยืนยันไม่ได้ปกปิดข้อมูล
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย หลังผ่านช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.ค.ดูท่าว่ายอดผู้ป่วยใหม่ยืนยันจะกลับมาพุ่งทะลุหลัก 2 พันคนต่อเนื่องอีกครั้ง ส่วนยอดผู้เสียชีวิตรายวันมากกว่า 20 รายต่อเนื่อง อีกทั้งการระบาดระลอกนี้ของสายพันธุ์โอมิครอน ยังทำให้คนรู้จักใกล้ชิดของใครหลายคน รวมทั้งศิลปินดารา และบุคคลสำคัญในบ้านเมืองต่างพากันป่วยติดเชื้อไปแล้วหลายราย โดยเฉพาะข่าวการรุกรานของเจ้าเชื้อกลายพันธุ์ BA.4/BA.5 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมใจคาดอีกไม่นานจะครองไทยทั้งประเทศ และยอมรับว่าช่วงนี้ยอดผู้ติดเชื้อเป็นช่วงขาขึ้น !!!

...
เฝ้าระวังโอมิครอน 2 สายพันธุ์ย่อย รับยอดติดเชื้อขาขึ้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนว่า สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้คือสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด โดยกรมควบคุมโรคคาดการณ์การระบาดของจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 ถึงปี 2566 คาดว่าหลังการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ และมีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะนี้เราอยู่ในช่วงขาขึ้น คาดว่าในอีก 10 สัปดาห์ หรือประมาณเดือน ก.ย. หากเรายังคงมาตรการโดยทุกคนสวมหน้ากากอนามัย เมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลไม่ควรเกินวันละ 4,000 คน แต่หากผ่อนคลายหมด คนไม่สวมหน้ากากเลย ตัวเลขคาดการณ์ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจะสูงขึ้นจากที่คาดไว้ ดังนั้นในช่วงนี้ที่เป็นขาขึ้น อยากให้ประชาชนมารับวัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้น
จับตา "BA.5" หมอยกน่ากลัวกว่าทุกสายพันธุ์
ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิดฯ ว่า โอมิครอน BA.5 แพร่ระบาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสาเหตุสำคัญ คือ ความแข็งแรงของไวรัส (Viral fitness) ที่มากกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อน มีสมรรถนะการขยายวงการระบาดเร็วขึ้น และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ในขณะที่ความรุนแรงของโรคนั้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะฟันธง แต่หลายประเทศที่ BA.5 ระบาดมาก พบว่าทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างชัดเจน แม้ว่าทั่วโลกจะมีการฉีดวัคซีนไปมากพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ด้วยความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ฉีด และภูมิจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน ทำให้พบมีการติดเชื้อมากขึ้น ทั้งในคนที่ไม่เคยติดมาก่อนและคนที่ติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) ด้วยเหตุผลข้างต้นที่กล่าวมานี้ จึงไม่แปลกใจที่มีหลายฝ่ายยกให้ BA.5 เป็นศัตรูที่น่ากลัวกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาดมา

ห่วง "ลองโควิด" เป็นปัญหาระยะยาว
รศ.นพ.ธีระ ระบุต่ออีกว่า ทั่วโลกมีการผ่อนคลายมาตรการ เสรีการเดินทาง และการใช้ชีวิตหลายประเทศไม่ได้เน้นให้ประชาชนป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิต ทำให้เกิดการระบาดปะทุรุนแรง ดังที่เห็นในปัจจุบัน สิ่งที่จะเป็นปัญหาระยะยาว คือ ภาวะลองโควิดจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
เชื่อตัวเลขติดเชื้อรายวัน มีมากกว่าที่รายงานจริง
ส่วนสถานการณ์โควิดฯในประเทศไทยขณะนี้นั้น รศ.นพ.ธีระ ระบุว่า ข้อมูลวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา อัตราการครองเตียงในสถานพยาบาลภาครัฐใน กทม.อยู่ราวร้อยละ 40.36 แต่อัตราการครองเตียงในสถานพยาบาลภาคเอกชนสูงถึงร้อยละ 74.6 ทั้งนี้ หากดูภาคเอกชนจะพบว่า เตียงระดับ 1 สำหรับผู้ป่วยอาการน้อยนั้น ครองเตียงถึงร้อยละ 96.7 จะเห็นได้ว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้เข้าระบบการดูแลรักษาของภาครัฐด้วยเหตุผลต่างๆ แม้จะมีข่าวว่าตัวเลขติดเชื้อที่รวมคนที่มาใช้บริการเจอแจกจบอยู่ราว 30,000 คนต่อวัน แต่ด้วยข้อมูลโดยอ้อมจากลักษณะการเข้ารับบริการรักษาในโรงพยาบาลที่มีจำนวน และสัดส่วนในเอกชนสูงกว่ารัฐอย่างชัดเจนนั้น ทำให้ต้องฉุกคิดว่าสถานการณ์การติดเชื้อจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันนั้น คงต้องมากกว่าที่มีรายงานในระบบ ทั้งคนที่พอมีพอกินติดเชื้อแล้วรักษาเองตามที่ต่างๆ หรือคนที่มีปัญหาเศรษฐกิจ ติดเชื้อแล้วไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ด้วยข้อจำกัด เช่น ความจำเป็นที่จะต้องทำมาหากิน การลางาน ค่าเดินทาง ภาระทางครอบครัว ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังนั้นการใส่หน้ากากสำคัญมาก
...

ไขข้อข้องใจรายงานยอดผู้ป่วยรายวันต่ำกว่าติดเชื้อจริง
ส่วนกรณีมีบุคลากรทางการแพทย์ออกชี้ว่า การรายงานตัวเลขผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 2,000 คนของ ศบค.เป็นการรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงฯ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรายงานตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยสวมท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต เป็นการรายงานที่จะดูระบบสาธารณสุขของประเทศว่า สามารถรองรับผู้ป่วยได้หรือไม่ ตัวเลขผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้นสามารถสะท้อนตัวเลขผู้ติดเชื้อได้เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องติดตามดูคือการเกิดคลัสเตอร์ในพื้นที่ใหม่ๆ หรือมีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นตัวเลขการรายงานที่ไทยและทั่วโลกรายงานเช่นเดียวกัน ส่วนการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์นั้นเป็นไปตามที่ ศบค.รายงาน คือ มีผู้ติดเชื้อประมาณวันละ 2-2.5 หมื่นคน ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมาก จึงไม่ได้รายงาน แต่ยืนยันว่ากระทรวงฯ ไม่ได้ปกปิดข้อมูลแน่นอน
...
ติดเชื้อได้ง่าย ทั้งติดใหม่-ติดซ้ำ
ขณะที่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์เรื่องการติดเชื้อโควิดซ้ำว่า ช่วงนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก BA.4/BA.5 อย่าแปลกใจเมื่อพบว่าคนรอบตัวเราหลายคนที่ติดหนนี้ไม่ใช่การติดเชื้อครั้งแรก การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องแปลกนับตั้งแต่ยุคโอมิครอนเริ่มระบาด เพราะเชื้อดื้อภูมิมากอยู่แล้ว สายพันธุ์ใหม่ยิ่งดื้อกว่าอีก การติดเชื้อซ้ำในเมืองไทยมีสถิติเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะไม่มีการรวบรวมข้อมูล ยิ่งยุคที่ยอดรายงานต่ำกว่าความจริงมากแบบนี้ ยิ่งไม่มีทางรู้ข้อมูลจริง ขณะที่ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่าราว 1/4 ของคนติดเชื้อใหม่เป็นการติดซ้ำ

พบบางรายหายป่วยแค่ 20 วัน ติดซ้ำแล้ว
ส่วนเหตุสำคัญของการติดเชื้อซ้ำนั้น ศ.นพ.มานพ ระบุว่า 1.เชื้อสายพันธุ์ใหม่มีการกลายพันธุ์บน spike ที่ต่างจากเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภูมิที่เกิดจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้ หรือจากวัคซีนมีผลยับยั้งเชื้อได้น้อยลง 2.เวลาผ่านไประดับภูมิที่เรามีลดลงไปเรื่อยๆ ทำให้มีโอกาสติดซ้ำได้ นอกจากนี้ผู้ที่ติดเชื้อในยุคโอมิครอนเป็นต้นมา โดยเฉพาะที่ติดหลังได้รับวัคซีนแล้วอาการจะน้อยมาก และมักสร้างภูมิน้อยมาก หรือไม่สร้างเลย ข้อมูลเก่าพบว่าคนติดเชื้อจะมีภูมิสูงพอที่ป้องกันการติดซ้ำได้ในระยะ 3 เดือน ปัจจุบันไม่เป็นจริงในยุคก่อนโอมิครอน อุบัติการณ์ของการติดเชื้อซ้ำพบน้อย ข้อมูลจากประเทศเดนมาร์ก พบราว 1 ใน 7,400 คน จากการติดตามผู้ป่วยกว่า 4 ล้านคนในช่วงระบาดรอบแรกๆ แต่พอยุคเดลตาผู้ติดเชื้อซ้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ยังไม่มากราวร้อยละ 1.2 ของยอดผู้ติดเชื้อใหม่ การติดเชื้อซ้ำในยุคโอมิครอนเพิ่มสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกับการติดเชื้อหลังได้วัคซีนครบ 2 เข็ม เป็นเหตุให้ต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้นกันขนานใหญ่ สิ่งสำคัญในรายงานยุคโอมิครอน คือ การติดเชื้อซ้ำเกิดเร็วขึ้น สามารถพบได้ 20 วันหลังติดหนก่อน
...
แนะไม่ต้องรอหายป่วยครบ 3 เดือน ถึงฉีดเข็มกระตุ้น
ศ.นพ.มานพ ระบุอีกว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อสนับสนุนว่าคำแนะนำที่บอกว่า คนที่ติดเชื้อแล้วต้องรอ 3 เดือนจึงฉีดวัคซีนได้เป็นข้อมูลล้าสมัย การทิ้งระยะแบบนั้นในยุคโอมิครอน และ BA.4/BA.5 ระบาด ทำให้คนมีโอกาสติดเชื้อซ้ำก่อนได้วัคซีนเพิ่มขึ้นอีก แม้การติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องน่ายินดี อย่างน้อยข่าวดีของผู้ติดเชื้อซ้ำ คือ โอกาสป่วยหนักเสียชีวิตลดลงมาก คือโอกาสป่วยหนัก นอนโรงพยาบาลลดลงประมาณร้อยละ 90 และถ้านอนโรงพยาบาลโอกาสเสียชีวิตลดลงประมาณร้อยละ 60 เทียบกับคนที่ติดครั้งแรก และต้องย้ำอีกทีว่าการติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะพบว่าผู้ที่ติดเชื้อซ้ำมีโอกาสป่วยหนัก หรือเสียชีวิตมากกว่าผู้ติดเชื้อแค่หนเดียวอยู่ดี ดังนั้นการติดเชื้อซ้ำโดยเฉพาะจากโอมิครอน ไม่ใช่วัคซีนเข็มกระตุ้นธรรมชาติอย่างที่หลอกลวง

ผวาโอมิครอน "BA.2.75" ระบาดเร็วที่อินเดีย-เมืองถิ่นเดลตา
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นักไวรัสวิทยา โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า คาดว่าอีกไม่นานไวรัสสายพันธุ์ BA.2.75 จะมีการพูดถึงในสื่อมากขึ้น ข้อมูลตอนนี้พบไวรัสสายพันธุ์นี้ในอินเดียเป็นส่วนใหญ่ แต่พบว่าหลายประเทศมีรายงานไวรัสสายพันธุ์นี้แล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา โดยไวรัสสายพันธุ์นี้ได้รับความสนใจด้วยเหตุผล 2 ประการหลักๆ คือ
- 1.เป็น BA.2 ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มถึง 9 ตำแหน่งบนโปรตีนหนามสไปค์ (เทียบกับ BA.4/BA.5) แต่เนื่องจากตำแหน่งที่ 493 (R493Q) เป็นการเปลี่ยนกลับจากโอมิครอนไปเหมือนสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้บางคนนับว่าเป็น 8 ตำแหน่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าปกติ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ 446 ซึ่งเปลี่ยนจาก G (Glycine) ไปเป็น S (Serine) G446S เคยมีคนพูดถึงว่าเป็นตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสหนีภูมิจากการจับของแอนติบอดีได้มากขึ้น
- 2.ข้อมูลของจำนวนตัวอย่างไวรัสที่ถอดรหัสในอินเดีย พบการเพิ่มจำนวนของสายพันธุ์นี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในรัฐมหาราษฏระ ถ้าจำได้เป็นถิ่นกำเนิดของสายพันธุ์อย่างเดลตามาก่อน มีผู้พยายามเปรียบเทียบความสามารถของ BA.2.75 กับ BA.5 ในการแพร่กระจาย มีแนวโน้มว่า BA.2.75 จะวิ่งได้ไวกว่า แต่เนื่องจากตัวอย่างยังมีไม่มาก ทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลยังมีน้อย ทั้งยังไม่มีประเด็นเรื่องของความรุนแรงของเชื้อชนิดนี้ออกมา คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

วอน รบ.กลับมากระชับมาตรการป้องกันให้มากขึ้น
ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า การระบาดของไทยขณะนี้ไม่ได้แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลกที่พบการระบาดของ BA.4/BA.5 การรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงก็ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากหลายประเทศเลิกตรวจหาเชื้อแล้ว บางประเทศที่ตรวจก็ไม่ได้ตรวจสายพันธุ์เช่นเดียวกับไทย เพราะมีการเปิดประเทศจึงพบ BA.4-BA.5 จากการนำเข้าโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ เมื่อมาถึงตรวจน้อยลง โอกาสแพร่กระจายเชื้อจึงมากขึ้น คาดว่าไม่นานเชื้อ BA.4-BA.5 จะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก แต่ข้อมูลทั่วโลกพบว่าเชื้อนี้ไม่ก่อความรุนแรง สิ่งที่ต้องย้ำ คือ มาตรการต่างๆต้องกลับมากระชับมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ อยากเร่งฉีดให้ครบโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ยังเสียชีวิต แต่ขณะนี้มีรายงานแม้ฉีด 4 เข็มก็เสียชีวิตได้ และไม่ต้องรอวัคซีนรุ่น 2 ที่กว่าจะออกมาฉีดได้ คาดว่าช่วงปลายปี เพราะยังอยู่ในขั้นตอนทดลองกับมนุษย์ นอกจากนี้คงต้องกระชับมาตรการใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง และการล้างมือ
"วันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนอยากให้ผู้ใหญ่ในประเทศส่งสัญญาณ เพราะขณะนี้มีการติดเชื้อเพิ่ม จึงเสนอให้รัฐบาลต้องกลับมากระชับมาตรการป้องกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการออกข้อบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขคงต้องเสนอ ศบค.พิจารณา อย่ารอจนเตียงไม่พอจะไม่ทันต่อสถานการณ์ จากที่ประเมินสถานการณ์อาจจะไม่รุนแรงเหมือนช่วงการระบาดสายพันธุ์เดลตา ปัจจัยมาจากคนฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก ตัวเชื้อไม่ได้รุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่เชื้อตัวนี้แพร่ระบาดเร็วมาก และเสี่ยงที่เกิดการกลายพันธุ์ได้ ที่น่าห่วงคือกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับเชื้อจากคนที่ไม่แสดงอาการ จึงต้องย้ำถึงการฉีดวัคซีนให้ครบ แม้ไม่ได้ป้องกันติดเชื้อ แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรค".
ผู้เขียน : หงเหมิน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun