ข่าวนักเรียนโดนทำร้ายชิงทรัพย์ ... ข่าวความรุนแรงในครอบครัว...ข่าวปล้น ฆ่าประทุษร้ายรายวัน ข่าวสิ่งเสพติดเกลื่อนเมือง ขายกันโจ๋งครึ่ม...ข่าวเมายาเมาสารเสพติด...ข่าวเด็กและวัยรุ่นได้รับสารเสพติดเกินขนาดจากขนมจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
ข่าวระบาดไวรัส “โควิด-19” สวยหรูต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่มองรอบตัว มีคนติดระนาว ต่างกันราวฟ้ากับเหว?
“โรคระบาด” “สิ่งเสพติด” “อาชญากรรม”...เป็นปัญหาสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตล้วนมาจากต้นตอสาเหตุเดียวกันทั้งสิ้น

ตอกย้ำประเด็น “ภัยสุขภาพ” จาก “ควันกัญชามือสอง” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” เคยเตือนไว้ตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2562 (วันรัฐธรรมนูญ)
ข้อมูลวิชาการเผยแพร่ใน Advance in Molecular Toxicology ปี 2019 ในควันที่เกิดจากการสูบกัญชานั้นมีการตรวจวัดสารเคมีได้กว่า 350 ชนิด ซึ่งรวมไปถึงสารเคมีที่ส่งผลต่อร่างกาย
เช่น THC, CBD, CBN, คาร์บอนมอนอกไซด์, ไนตริกออกไซด์, ไฮโดรเจนไซยาไนด์, แอมโมเนีย, โลหะหนัก
รวมไปถึงพวก Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAH) และไอระเหยของสารประกอบอินทรีย์ต่างๆ
ซึ่งไอ้ที่บอกมาเหล่านั้น หากไม่นับสารที่เกิดจากกัญชาโดยเฉพาะแล้ว ส่วนใหญ่มันก็เหมือนกับควันที่ได้จากการสูบบุหรี่นั่นเอง และหลายต่อหลายตัวก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

สารบางชนิดได้รับการพิสูจน์แล้วว่าพบในควันจากการสูบกัญชามากกว่าการสูบบุหรี่ เช่น แอมโมเนียจะตรวจพบในควันกัญชาสูงกว่าบุหรี่ถึง 20 เท่า
ในขณะที่พวกไฮโดรเจนไซยาไนด์ ไนตริกออกไซด์ และพวก PAH จะตรวจพบสูงกว่าควันบุหรี่ราว 2–5 เท่า
“การที่เราเคยได้ยินพวกสาวกมาอ้างว่ายังไม่มีหลักฐานว่ากัญชาจะทำให้เกิดมะเร็งปอดเหมือนบุหรี่นั้น เพราะเดิมกัญชาจัดเป็นสิ่งเสพติดต้องห้าม จึงมีการใช้น้อย และไม่มีการวิจัยติดตามนานเพียงพอ”
ทั้งนี้ การจะพิสูจน์ให้เห็นผลว่าก่อให้เกิดมะเร็งต่างๆนั้นต้องใช้เวลาในการติดตามหลังการใช้เป็นระยะเวลานาน บางโรคก็เป็นสิบปีขึ้นไป
แต่หากมีสติและใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง คงพอประเมินได้ว่า หากสารประกอบต่างๆในควันกัญชานั้นมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกับบุหรี่ แถมปริมาณมากกว่าด้วยในหลายต่อหลายตัว มันจะเสี่ยงไหมในระยะยาว ทั้งต่อคนสูบกัญชาเอง และคนรอบข้างในสังคมที่ดมควันกัญชามือสอง
ทั้งผลักทั้งดันให้เข้าถึงได้ง่าย ใช้กันมั่วซั่วเสรี จะเกิดอะไรขึ้น และใครจะรับผิดชอบ ไม่ต้องมาอ้างนะว่า เหล้าบุหรี่มันไม่ดีทำไมไม่แบน อยากแบนก็แบนสิ ไม่มีใครห้าม ดีเสียอีก
แต่...ไม่ใช่ยกข้ออ้างนี้มากล่าวอ้างแบบเสียสติว่า เหล้าบุหรี่ยังอยู่ในสังคมได้ กัญชายาเสพติดนี้ก็ต้องเอามาใช้อย่างเสรีได้ นี่คงไม่ใช่เหตุผลที่คนที่มีสติปัญญาควรหยิบยกมาใช้เป็นเหตุผล...
ผลระยะยาวอย่างมะเร็งนั้นว่าน่ากลัวแล้ว แต่อยากบอกว่า มีงานวิจัยมากมายพิสูจน์ถึงผลระยะสั้นของควันกัญชามือสอง
ผลต่อระบบทางเดินหายใจชัดเจนขึ้นตั้งแต่ Hoffman และคณะได้รายงานว่า ควันกัญชามือสองทำให้เด็กที่เป็นโรคหอบหืดมีอาการกำเริบและรุนแรงมากขึ้น โดยควันที่สัมผัสนั้นก็มาจากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวที่เสพกัญชานั่นเอง

ผลต่อหัวใจและหลอดเลือด ทีมของ Wang และคณะได้ทำการศึกษาวิจัยในหนู พบว่า “ควันกัญชามือสอง” ทำให้หนูทดลองมีปัญหาเรื่องการหดเกร็งของผนังหลอดเลือด และมีหัวใจเต้นเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ผลต่อระบบจิตประสาท พบว่าคนที่ไม่ได้สูบกัญชา แต่ไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนสูบกัญชา จะส่งผลต่อจิตประสาทได้ โดยมีอาการ High แบบคนที่สูบ
ผลต่อพฤติกรรมและความจำ ทางทีมของ Hermann และคณะได้ศึกษา พบว่าควันกัญชามือสองส่งผลให้คนที่สัมผัสควันนั้นมีความสามารถทางทักษะพิสัยลดลง และความจำในการทำงานลดลง
นอกจากนั้นยังส่งผลทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนอื่นๆ ที่สัมผัสต่อควันกัญชามือสองด้วย
ในโลกมนุษย์นั้น ตอนนี้มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่คำเตือนเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายกัญชามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งต่อ “คนเสพ” และต่อ “คนในสังคม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยุคเฟื่องฟูของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ยากต่อการควบคุม ทำให้คนจำนวนมากมีความเชื่องมงายเกินจริง...
โดยหลงลืมหลักเหตุและผล มาตรฐานที่ควรมี ระบบการเฝ้าระวังที่จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดรัดกุม...มิใช่นึกจะทำอะไรก็ทำ มุ่งหน้าเหยียบคันเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น
พอเกิดผลกระทบตามมา ก็ได้แต่แบ๊ะๆไม่รับผิดชอบ ปล่อยให้คนจำนวนมากตกอยู่ในกับดักสุญญากาศแห่งความเสี่ยงต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิต
สำหรับ “ไทย” เรานั้น ข่าวเห็นมากขึ้นบ่อยขึ้น ล่าสุดบุหรี่ยัดไส้กัญชาก็เห็นข่าวมาวางขายในย่านท่องเที่ยวกลางกรุง เรื่องภัยจากควันกัญชามือสอง รวมถึงการเสพโดยตรงทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบที่เห็นได้ในเร็ววัน หากไม่ป้องกันควบคุมให้ดี
รศ.นพ.ธีระ ขอแก้ไขข่าวลวงเกี่ยวกับสรรพคุณของกัญชาการใช้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันมีจำกัดมากไม่กี่โรค และไม่ใช่ทางเลือกหลักในการรักษา
“กัญชารักษาโรคได้มากมายก่ายกองนั้นไม่จริงครับ”
ความเชื่อที่งมงายและนโยบายที่ไม่รัดกุมก้าวเดินตามกิเลส จะนำไปสู่ผลกระทบต่อคน ต่อสังคมในระยะยาว และยากที่จะแก้ไข ดังนั้นจึงต้องรู้เท่าทัน
“ไม่สนับสนุน ไม่อุดหนุน การค้าขายสิ่งเสพติด และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดทุกชนิด ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว เยลลี่ คุกกี้ หรืออื่นๆ”

หากเราไม่รู้เท่าทัน ริอยากลอง การลองครั้งนั้นอาจนำมาสู่ “ปัญหา” และ “ความสูญ” เสียตามมา และเราก็จะไปว่าใครไม่ได้เวลาที่เห็นผลกระทบในสังคม เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุน
“ค้าขายกิจการดี ของอร่อย ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติด”.