“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม ไม่รอด อีกราย ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 แต่มีอาการ น้อย พร้อมทำงานอยู่ที่บ้าน ขณะที่นายกฯชมคนไทยสมัครใจใส่แมสก์ แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธี ลดเสี่ยงรับ-แพร่เชื้อ ด้านนักไวรัสวิทยา ไบโอเทค แนะจับตาโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.75 ที่กำลังระบาดในอินเดีย โดยเฉพาะในเมืองถิ่นกำเนิดสายพันธุ์เดลตา พบหลบภูมิได้มากขึ้นและอาจแพร่เร็วกว่า BA.5 ส่วนศูนย์จีโนม มหิดล ชี้เดือน มิ.ย.ไทยเจอเชื้อ BA.2 มากสุด มี BA.5 ตามหลังไม่ห่าง

สัปดาห์แรกของเดือน ก.ค. ยอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อ โคโรนา 2019 (โควิด-19) ยืนยันในไทยกลับมาพุ่ง ทะลุกว่า 2 พันคนต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. เผยแพร่ข้อมูลว่า พบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 2,328 คน (ตรวจแบบ RT-PCR) เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ทะลุเกิน 2 พันคน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ วันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,325 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 3 คน ขณะที่ กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลผู้ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 6,777 คน ผู้เสียชีวิต 19 คน ผู้ที่กำลังรักษาตัว 24,989 คน และมียอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,043 คน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 678 คน ทำให้ตั้งแต่ปี 2563 ไทยมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,530,105 คน หายป่วยสะสม 4,474,416 คน และผู้เสียชีวิตสะสม 30,700 คน ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ฉีดได้เพิ่ม 103,749 โดส รวมฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 จำนวน 140,000,283 โดส

ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์นี้มีรัฐมนตรีติดโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการ รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีอาการเล็กน้อยและ เข้าสู่กระบวนการรักษาตามคำแนะนำแพทย์ และแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามไทม์ไลน์ทราบแล้ว ยืนยันไม่กระทบการทำงาน พร้อมทำงานอยู่ที่บ้านเพื่อเฝ้าดู อาการจนกว่าแพทย์จะยืนยันให้ปฏิบัติงานตามปกติ

...

นอกจากนี้ ยังมีคนบันเทิงติดโควิด-19 เพิ่มอีก ไบรท์-พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ พิธีกรรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 ได้โพสต์ผ่านไอจีแจ้งว่าพบเชื้อโควิด-19 ระบุว่า ขออนุญาตแจ้งข่าวนะคะ เช้านี้ไบรท์ตรวจ RT-PCR ผลคือ “พบเชื้อ” เมื่อวันศุกร์เช้า ไบรท์ทราบว่าโต๋พบเชื้อ หลังเลิกรายการไบรท์ตรวจ ATK ที่ช่อง 3 ตามปกติ ผลไม่พบเชื้อ แต่ทราบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะไบรท์กับโต๋เพิ่งทานข้าวด้วยกันวันพุธ ไบรท์เลยรีบกลับบ้านกักตัวสังเกตอาการตามมาตรการ จนเมื่อวันเสาร์เย็นๆ เริ่มมีอาการ เจ็บคอนิดๆ ตรวจ ATK เองที่บ้านไม่พบเชื้อ เช้าวันนี้ เลยมาตรวจ RT-PCR เพื่อความแน่ใจจนทราบว่า ไบรท์ติดเชื้อโควิดค่ะ ไบรท์และโต๋ขอขอบคุณกำลังใจ ที่ส่งมาให้มากๆนะคะ ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพด้วย ไว้หายดีแล้ว พบกันหน้าจอเหมือนเดิมค่ะ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกประกาศเรื่องปรับมาตรการการ เฝ้าไข้และงดเยี่ยมผู้ป่วย ของ รพ.จุฬาลงกรณ์ ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ขณะนี้เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ป่วยและบุคลากร โรงพยาบาลฯ ปรับมาตรการการเฝ้าไข้และงดเยี่ยมผู้ป่วย ดังนี้ 1.งดเยี่ยมไข้ผู้ป่วยทุกหอผู้ป่วย 2.อนุญาตให้มีผู้เฝ้าไข้ประจำ 1 คน ต่อผู้ป่วย 1 ราย โดยผู้เฝ้าไข้จะต้องดำเนินการตามมาตรการคัดกรองของโรงพยาบาลฯ 3.เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติงานในห้องผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป

ต่อมานายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ชื่นชมคนไทยส่วนใหญ่ยังให้ความร่วมมือสวมใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง ขณะออกจากบ้าน และอยู่ในที่สาธารณะ แม้ ศบค.มีการผ่อนคลายมาตรการในการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ให้เป็นไปตามความสมัครใจ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นถึงประโยชน์ของการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีว่า เป็นวิธีช่วยป้องกันตนเอง ลดความเสี่ยง ในการรับหรือแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ทั้งไวรัสที่ทำให้เกิด โรคโควิด-19 โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้ออื่นๆที่อาจเจอได้ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขยังแนะนำให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสถานที่หรือในพื้นที่แออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดี โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ผู้ติดเชื้อ และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาด้วย

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า 3 วันแรกของการยกเลิก Thailand Passสำหรับชาวต่างชาติพบว่า จำนวนผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยวันที่ 1 ก.ค.มีเที่ยวบินเข้า 140 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 27,642 คน วันที่ 2ก.ค.มีเที่ยวบินเข้า 134 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 27,147เที่ยวบิน และวันที่ 3 ก.ค.มีเที่ยวบินเข้า 150 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 28,910 คน เทียบกับช่วงก่อนยกเลิกไทยแลนด์พาส เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 23,000-24,000 คนต่อวัน และเที่ยวบินเข้าไม่เกิน 130 เที่ยวบิน สอดคล้องกับที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประเมินว่า หลังการยกเลิกลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass ทั้งชาวไทยและต่างชาติแล้ว จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 25,000-30,000 คนต่อวัน จากเดิม 20,000-25,000 คนต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 50,000 คนต่อวันในช่วงไฮซีซันตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป ขณะที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ได้คาดการณ์จำนวนผู้เดินทางจากต่างประเทศมายังไทยในปี 2565 จะเกินกว่า 10ล้านคน

ส่วนการเฝ้าระวังไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่างๆ นั้น วันเดียวกัน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นักไวรัสวิทยา โพสต์เฟซบุ๊กว่า คาดว่าอีกไม่นานไวรัสสายพันธุ์ BA.2.75 จะมีการพูดถึงในสื่อมากขึ้นข้อมูลตอนนี้พบไวรัสสายพันธุ์นี้ในอินเดียเป็นส่วนใหญ่ แต่พบว่าหลายประเทศมีรายงานไวรัสสายพันธุ์นี้แล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ไวรัสสายพันธุ์นี้ได้รับความสนใจด้วยเหตุผล 2 ประการหลักๆคือ 1.เป็น BA.2 ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มถึง 9 ตำแหน่งบนโปรตีนหนามสไปค์ (เทียบกับ BA.4/BA.5) แต่เนื่องจากตำแหน่งที่ 493 (R493Q) เป็นการเปลี่ยนกลับจากโอมิครอนไปเหมือนสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้บางคนนับว่าเป็น 8 ตำแหน่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าปกติ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ 446 ซึ่งเปลี่ยนจาก G (Glycine) ไปเป็น S (Serine) G446Sเคยมีคนพูดถึงว่าเป็นตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสหนีภูมิจากการจับของแอนติบอดีได้มากขึ้น 2.ข้อมูลของจำนวนตัวอย่างไวรัสที่ถอดรหัสในอินเดีย พบการเพิ่มจำนวนของสายพันธุ์นี้อย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในรัฐมหาราษฏระ ถ้าจำได้เป็นถิ่นกำเนิดของสายพันธุ์อย่างเดลตามาก่อน มีผู้พยายามเปรียบเทียบความสามารถของ BA.2.75 กับ BA.5 ในการแพร่กระจาย มีแนวโน้มว่า BA.2.75 จะวิ่งได้ไวกว่า แต่เนื่องจากตัวอย่างยังมีไม่มาก ทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลยังมีน้อย ทั้งยังไม่มีประเด็นเรื่องของความรุนแรงของเชื้อชนิดนี้ออกมา คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

...

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics โดย ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อมูลระบุถึงการศึกษาของแอฟริกาใต้แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงของโควิด-19 ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.4, และ BA.5 ไม่ต่างกัน การระบาดของ BA.4 และ BA.5 ในยุโรปจนถึงปัจจุบัน ภาพรวมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตน้อยกว่าการระบาดใหญ่ของ BA.1 และ BA.2 เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเริ่มขยับไปใกล้เคียงกับในยุโรป นอกจากนี้ ข้อมูลจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” บ่งชี้ว่าประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7-24 มิ.ย.2565 มีไวรัส BA.2 ร้อยละ28.4, BA.4ร้อยละ 13.6,BA.5 ร้อยละ 22.2 และ BA.2.12.1 ร้อยละ9.9 ส่วนจะมีการระบาดต่อเนื่องจนเกิดเป็นการระบาดใหม่หรือไม่ คงต้องรอดูจากนี้ไปอีก 1เดือน

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ว่านักวิชาการสถาบันสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ เรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมจัดซื้อวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 รุ่นปรับปรุง ที่สามารถรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนสายย่อย BA.4 และ BA.5 ไปจนถึงเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ที่อาจจะอุบัติขึ้นมาในอนาคต เพราะประเมินแล้วเชื่อว่า “การระบาดระลอกใหม่” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จะตามมาด้วยการระบาดระลอกต่อไปในช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรืออีก 3-4 เดือนถัดไป จากนั้นจะตามมาด้วยการระบาดระลอกฤดูหนาว ทั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อในอังกฤษกว่า 3 ล้านคนในเวลา 1 สัปดาห์ ถือว่าเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ 30 และเป็นผลมาจาก BA.4 และ BA.5 ที่ติดต่อกันง่ายกว่าเดิม