ปลัด พม.คาด 13 พ.ค.นี้ รู้ผลสอบเบื้องต้น “รองอธิบดีกรมเด็ก” พัวพันช่วยผู้ต้องหาคดีค้ากาม ยันไม่ปิดบังคดี-ไม่ช่วยเหลือกันเอง
จากกรณี ครูพี่เลี้ยงในบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันให้ความช่วยเหลือผู้กระทำผิดในคดีซื้อบริการทางเพศเยาวชนหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริงรองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กฯ ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงกับบุคคลทั้ง 3 แล้ว แบ่งเป็นผู้ถูกร้องเรียน 2 คนคือ รองอธิบดี ดย. เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กฯ และผู้ร้องเรียน 1 คนคือ หัวหน้าบ้านพักเด็กฯ แต่ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าหน้าเข้ามา
ขณะที่วันนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีรองปลัด พม.เป็นประธาน ได้ลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสอบพยานแวดล้อมทั้งหมด คาดว่าหากประเด็นเคลียร์ก็น่าจะจบได้เลย หรือหากไม่เคลียร์คือมีประเด็นสงสัยเพิ่มเติม ต้องเรียกสอบเพิ่ม คาดว่าจะสามารถรายงานผลสอบเบื้องต้นมาที่ตนอย่างช้า ภายในวันที่ 13 พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อห่วงใยของสังคมว่าการสอบครั้งนี้อาจมีการช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะรองอธิบดี ดย.นางพัชรี กล่าวว่า ยืนยันว่าจะไม่มีเรื่องดังกล่าว หากเห็นประวัติตนมาตั้งแต่ต้น เป็นคนทำงานจริงจัง ไม่มีพวกพ้อง ขึ้นมาได้ด้วยการทำงาน ฉะนั้นจะใช้การทำงานพิสูจน์ตัวตน แม้จะเกษียณอายุราชการในอีก 5 เดือน ก็จะทุ่มเททำงานพิสูจน์ตัวตน
...
เมื่อถามถึงความคืบหน้าของคณะทำงานช่วยเหลือและแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ที่ รมว.พม.ได้ลงนามแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา นางพัชรี กล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้หยิบยกกรณีค้าประเวณี จ.สุราษฎร์ธานี มาถอดบทเรียน ตั้งแต่การวิเคราะห์ระบบการช่วยเหลือผู้เสียหาย ตั้งแต่การแจ้งขอความช่วยเหลือ ทีมสหวิชาชีพลงไปช่วยเหลือ คัดแยกผู้เสียหาย กระบวนการส่งต่อ การดูแลของศูนย์คุ้มครอง การสอบปากคำ ตลอดจนการดูแลและสนับสนุนผู้เสียหายให้ต่อสู้ในคดี มันติดขัดหรือบกพร่องตรงไหน รวมถึงทำไมเด็กถึงถูกล่อลวงไปค้าประเวณี เพื่อจะให้มีนโยบายหรือกลไกป้องกันเด็กไมให้ถูกล่อลวง ซึ่งจะถอดบทเรียนให้ครบทั้ง 4 ภาค ภายในเวลา 1 เดือน
ทั้งนี้เป็นความตั้งใจที่จะทำงานให้เห็นว่า พม.มีความมุ่งมั่นทำงานแก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เพราะเราเป็นหน่วยนโยบายดูแลเรื่องนี้อยู่ ดูว่ามีส่วนไหนที่เป็นจุดอ่อนทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ได้ เราไม่โทษสังคมที่มองเรา แต่เป็นโอกาสที่ทำให้ พม.ทบทวนกระบวนงานทั้งหมด
ปลัด พม.กล่าวด้วยว่า อยากฝากสังคมอ่านข่าวให้ละเอียด คดีที่สุราษฎร์ฯ นั้น เด็กที่ถูกล่วงละเมิดไม่ได้อยู่ที่หน่วยงาน พม.แล้วเอาไปค้าประวณี แต่เป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ปลายปี 64 ที่ พม.ได้รับแจ้งจากโรงแรมแห่งหนึ่งว่ามีเด็กถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว เราจึงไปแจ้งตำรวจเพื่อช่วยเด็กคนนั้นออกมา ต่อมามีการสืบเสาะจนพบผู้เกี่ยวข้องอีกหลายคน ฉะนั้นถ้าเราคิดว่าจะช่วยปิดบังคดี เราคงจะไม่ไปแจ้งความดำเนินคดี เช่นเดียวกันผู้บริหารของเรา ไม่ได้ไปซื้อบริการทางเพศเด็ก แต่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกลี้ยกล่อมให้หัวหน้าบ้านพักเด็กฯ ไม่สืบค้นคดีต่อ.