เปิดประเทศสองวันแรกฉลุย นักท่องเที่ยวต่างชาติบินเข้า ไทยต่อเนื่อง ส่งผลหลายจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง สำนักงานการบินพลเรือนฯประเมิน คนเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น คาดปลายปีมีเที่ยวบินเข้าประเทศถึง 3 หมื่นไฟลท์ต่อเดือน ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศ แนวโน้มเป็นขาลง คนติดเชื้อรายวัน-เสียชีวิตลด เว้นภาคอีสาน ยังน่าห่วง เหตุคนฉีดวัคซีนน้อย โดยเฉพาะผู้สูงวัย ด้าน “อนุทิน” เชื่อไทยจะผ่านวิกฤติไปได้ด้วยดี แต่ยังอุบวันประกาศเป็นโรคประจำถิ่น

ข่าวดียังมีต่อเนื่อง เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รายใหม่และผู้ป่วยเสียชีวิตลดลงต่ออีกวัน ขณะที่วันที่สองของการใช้ข้อกำหนดใหม่ในการเดินทางเข้าไทย กับการเปิดด่านพรมแดนทางบก 17 จังหวัด แม้ยังขลุกขลักบ้างแต่ก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาไม่ขาดสาย

ป่วยใหม่ลดป่วยหนักคงที่

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ยืนยันลดลงจากวันวานทะลุหลักหมื่นมาเหลือ 9,331 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,241 คน จากเรือนจำ 32 คน และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 58 คน ขณะที่ยอดตรวจ ATK เข้าข่าย ก็ลดลงอยู่ที่ 6,240 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 21,168 คน อยู่ระหว่างรักษา 129,068 คน อาการหนัก 1,751 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 824 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,271,815 คน มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,114,046 คน ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 1 พ.ค.2565 ยอดฉีดทั่วประเทศ 65,723 โดส เป็นเข็มที่ 1 : 8,012 คน เข็มที่ 2 : 18,098 คน เข็มที่ 3 ขึ้นไป : 39,613 คน จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (ตั้งแต่ 28 ก.พ.2564-1 พ.ค. 2565) รวม 133,642,466 โดส

...

ตายต่ำร้อยวันที่สอง

ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 84 คน รวมสะสมในการระบาดระลอกปีนี้ 7,003 คน และนับตั้งแต่ปี 2563 เสียชีวิตสะสม 28,701 คน ส่วน 10 จังหวัดพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด ได้แก่ กทม. 2,378 คน ตามด้วยบุรีรัมย์ 408 คน สมุทรปราการ 315 คน ชลบุรี 294 คน ศรีสะเกษ 271 คน ร้อยเอ็ด 251 คน สุรินทร์ 240 คน นนทบุรี 234 คน อุบลราชธานี 221 คน และขอนแก่น 205 คน ขณะที่มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเป็นเลขตัวเดียวเพิ่มขึ้นอีกหลายจังหวัดได้แก่ นราธิวาส 7 คน ยะลา 5 คน สตูล 8 คน เชียงราย 5 คน แม่ฮ่องสอน 6 คน ส่วน จ.ลำพูน ยังเหนียว ไร้ผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นวันที่สอง

“อนุทิน” คาดผ่านวิกฤติด้วยดี

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวที่กระทรวงสาธารณสุขถึงการเปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี รับทราบจากอธิบดีกรมควบคุมโรคว่ามีผู้ลงทะเบียนไทยแลนด์พาสและทยอยเข้ามาในประเทศจำนวนมาก การเข้าประเทศแล้วสามารถเดินทางออกได้เลย ไม่มีการติดขัดใดๆ ที่สนามบิน ขอให้ทางผู้ที่เดินทางเข้ามาได้ตรวจ ATK และแจ้งในคิวอาร์โค้ดในไทยแลนด์พาสผ่านมา 2 วัน ก็ยังดีอยู่ ตอนนี้จะเห็นว่ามีการพยายามควบคุมเรื่องการติดเชื้อ น่าจะผ่านวิกฤตการณ์ได้ด้วยดี อย่างช่วงสงกรานต์ก็ผ่านมาได้ อัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง พิจารณาได้จากเครื่องมือฉุกเฉินใน รพ. การใช้เครื่องช่วยหายใจลดลงการใช้ยาต้านไวรัสในแต่ละวันก็เริ่มลดลง

ยังไม่ระบุวันประกาศโรคประจำถิ่น

ส่วนข้อกังวลการเข้าสู่โรคประจำถิ่นเต็มรูปแบบนั้น นายอนุทินกล่าวว่า โรคประจำถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นหากจะให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เราต้องมีความรอบรู้ด้านสุขภาพมากพอ จะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่กับโควิดที่จะเป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ ซึ่งคำบัญญัติโรคประจำถิ่น คือทำให้เป็นอีกโรคของประเทศและต้องรู้วิธีป้องกันรู้วิธีทำตัวเองให้ปลอดภัย วันนี้เรามีวิกฤตการณ์ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก กระทรวงสาธารณสุขก็อยากจะผ่อนคลายความกดดันหลายๆ อย่าง หากสามารถดำเนินการให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ด้วยมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น ก็จะมีหนทางในการประกอบอาชีพ หาเลี้ยงตัวเองในสภาวการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เราต้องเตรียมทุกอย่างด้วยความพร้อม 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ และยาพอ วันนี้ได้พบทั้งหมอ ผู้ผลิตยา องค์การเภสัชกรรม ผู้นำเข้ายา ยังยืนยันว่าเพียงพอ ทั้งนี้ยังไม่ได้ประกาศว่าวันไหน เวลาไหน ไทยจะเป็นโรคประจำถิ่น ส่วนกลุ่มร้านเหล้าคาราโอเกะก็จะเดินหน้าผ่อนคลายมากขึ้นหากทุกคนให้ความร่วมมือ

รพ.ทยอยยุบวอร์ดโควิด

ที่ รพ.สงฆ์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่าขณะนี้สถานการณ์เริ่มทรงตัว ผู้ป่วยรักษาที่บ้านมากขึ้น ทำให้หลายสถานพยาบาลทยอยยุบวอร์ดรักษาโควิด-19 ลงและกลับมารักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ และรักษาผ่าตัดมากยิ่งขึ้น เช่น รพ.เลิดสิน ได้รับรายงานว่าผู้ป่วยโควิดน้อยลง รพ.สนามที่เตรียมเตียงรักษาผู้ป่วยเหลือง-แดงไว้ 200 เตียง เหลือรักษาผู้ป่วยเพียง 30-40 คน เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา รพ.เลิดสินได้งดรับผู้ป่วยโควิดที่เข้า รพ.สนาม และใช้รูปแบบการส่งต่อการรักษาผู้ป่วยตามสิทธิ์ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะมีการปรับการรักษาเข้าสู่ระบบปกติ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่มีการระบาดโควิดที่รุนแรงหรือพบเชื้อกลายพันธุ์ปะทุขึ้นมาอีก เช่นเดียวกับสถานพยาบาลอื่นๆคงมีการปรับลดการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลลง อย่างไรก็ตาม ยังมีการติดตามสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตอนนี้ในบางประเทศเริ่มพบโควิดสายพันธุ ย่อยระบาด

ทำเกณฑ์ใหม่สู่โรคประจำถิ่น

...

นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่าขณะนี้มีการประชุมหารือกับฝ่ายการรักษาในการจัดทำเกณฑ์ ควบคุมป้องกันและการดูแลรักษาหลังปรับโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ที่ผ่านมาโควิด-19 ยังถูกระบุให้เป็นโรคติดต่ออันตราย แต่เมื่อโควิด-19 ไม่เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้วต้องมีการปรับเกณฑ์การดูแลรักษาใหม่ เป็นหลักการที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว

ติดเชื้อ-ตายลดต่อเนื่อง

จากนั้นในช่วงบ่าย ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วันนี้ว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยืนยันด้วยผลตรวจ RT-PCR ลดลง ประกอบกับการรายงานตัวเลขข้อมูลของ สปสช.ที่รับลงทะเบียนผลตรวจจากชุด ATK ที่มีผลเป็นบวก และขอรักษาตัวในระบบผู้ป่วยนอก รับยาและกลับไปแยกกักที่บ้านหรือรับยาทางไปรษณีย์ ยอดผู้ป่วยที่ลงทะเบียนกับ สปสช.ช่วงวันที่ 24-30 เม.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวน 498,578 คน หรือเฉลี่ยวันละ 40,000-60,000 ต่อวัน ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่ยังคงระดับเตือนภัยอยู่ที่ระดับ 4 ทุกจังหวัด ประชาชนยังจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการรวมกลุ่ม ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ทรงตัวแต่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องอย่างช้าๆ สำหรับการรายงานยอดผู้เสียชีวิต จะเน้นที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตจากโควิดเป็นหลัก คือติดเชื้อและมีอาการปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิต เป็นที่มาของการรายงานผู้เสียชีวิตในวันนี้อยู่ที่ 84 คน และจะเพิ่มรายงานโรคที่ตามมาหลังการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเด็ก หรือ MIS-C และอาการลองโควิดในผู้ใหญ่ หรือ MIS-A

จับตาพื้นที่อีสานน่าห่วง

ผอ.กองระบาดวิทยากล่าวว่า กรณีผู้เสียชีวิต 84 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบและไม่ได้รับเข็มกระตุ้น และส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ดังนั้นวัคซีนมีความสำคัญในการช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการเสียชีวิต ต้องเน้นย้ำให้กลุ่ม 608 มารับวัคซีนให้ครบรวมทั้งเข็มกระตุ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด รวมทั้งยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันที่ภาคอีสานจะเพิ่มสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ต้องติดตามสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ภาคอีสานอย่างใกล้ชิด คาดว่าน่าจะมีการติดเชื้อ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 2-3 สัปดาห์ พื้นที่นี้มียอดผู้ติดเชื้อรายวัน ยอดผู้ป่วยปอดอักเสบ และยอดผู้เสียชีวิต ทั้ง 3 ส่วนมียอดสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ สาเหตุเนื่องมาจากคนมารับวัคซีนน้อย ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็มกระตุ้น เพราะมองว่าเชื้อโอมิครอน ไม่รุนแรง ติดเชื้อแล้วมีอาการไม่มาก ฉีดวัคซีนแค่ 2 เข็ม ขอยืนยันว่าวัคซีน 2 เข็ม ไม่เพียงพอต่อการป้องกันโอมิครอน ต้องฉีด 3 เข็มขึ้นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

...

เร่งจังหวัดรับมือสู่ประจำถิ่น

นพ.จักรรัฐกล่าวอีกว่า ขณะนี้จังหวัดส่วนใหญ่ เริ่มมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง ในช่วงนี้เป็นระยะเปลี่ยนผ่านของประเทศเพื่อเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ดังนั้นในช่วงขาลงนี้ ทุกจังหวัดจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามเกณฑ์ ทั้งเรื่องอัตราการฉีดวัคซีน อัตราการป่วย อัตราการตาย เพื่อให้มั่นใจว่าถ้าเชื้อโควิดมีการกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น หรือรุนแรงขึ้น จังหวัดจะมีศักยภาพรองรับได้ ทั้งเตียง ยา และหมอ มีเพียงพอรักษาตามมาตรฐาน โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว ยึดมาตรการสำคัญคือ 2U ได้แก่ การป้องกันส่วนบุคคล และการฉีดวัคซีนให้ครบ กับ 3 พอ คือ เตียงพอ ยาพอ หมอพอ รวมถึงจำเป็นที่ต้องเร่งฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้ร้อยละ 60 ส่วนข้อสงสัยที่ว่ายอดติดเชื้อลดลงเพราะตรวจน้อยลงหรือตรวจพบเชื้อแล้วไม่เข้าระบบการรายงานนั้น ต้องยอมรับว่าเชื้อโอมิครอนเป็นเชื้อที่ติดแล้วไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ทำให้หลายคนพบเชื้อจะรักษาตัวเอง ไม่ได้รายงานเข้าระบบแตกต่างจากการติดเชื้อเดลตา ที่คนกังวล เมื่อตรวจพบก็รีบไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม จากการติดตามตัวเลขผู้ตรวจด้วย ATK และรายงานเข้าระบบของ สปสช. พบว่าลดลงเช่นกัน เป็นตัวเลขที่สะท้อนสถานการณ์จริงได้

...

ระวังมิจฉาชีพอ้างเป็น สปสช.

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการในฐานะโฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ได้รับรายงานว่าในระยะนี้ มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์ล่อลวงประชาชนหลอกถามข้อมูลส่วนบุคคลโดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จาก สปสช. หรือจากสายด่วน สปสช. 1330 ดังนั้น ขอแจ้งให้ประชาชนโปรดระมัดระวังตัว ไม่หลงเชื่อคำแอบอ้างดังกล่าว และขอยืนยันว่า สปสช.จะโทร.หาประชาชนในกรณีเดียวเท่านั้นคือเมื่อบุคคลนั้นลงทะเบียนเข้ารับการดูแลในระบบ Home Isolation และไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการ อีกทั้งการโทร.หาผู้ป่วยก็จะไม่สอบถามข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขหลังบัตรประชาชน หรือหลอกให้โอนเงินเลย เนื่องจากผู้ป่วยได้แจ้งข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนแล้ว จะมีกรณีเดียวที่โทร.คือกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation แล้วหน่วยบริการยังไม่ตอบรับ เจ้าหน้าที่จะโทร.ถามว่าต้องการให้ส่งยาให้หรือไม่ และไม่ได้โทร.หาในเรื่องอื่นๆแต่อย่างใด

วันแรกเที่ยวบินเข้าไทยเพียบ

วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวันแรกของการเปิดประเทศเต็มรูปแบบว่ากระทรวงคมนาคมได้รายงานให้ทราบถึงการดูแลผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรทางอากาศยานในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูเก็ต ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 1 พ.ค. มีผู้โดยสารจากต่างประเทศเดินทางเข้า 16,868 คน จาก 96 เที่ยวบิน เกือบทั้งหมดเป็นผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือไม่ได้รับวัคซีน/รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์แต่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง กลุ่มนี้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ตามปกติ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน/ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ และไม่มีผลตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง มีเพียง 11 คน เข้าระบบ AQ ตามข้อกำหนดของทางการต่อไป ส่วนท่าอากาศ ยานภูเก็ตวันที่ 1 พ.ค. มีเที่ยวบินระหว่างประเทศขาเข้า 27 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 4,400 คน โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ต้องเข้าระบบ AQ จำนวน 18 คน ส่วนที่เหลือเข้าประเทศได้ตามระบบปกติ

คาดปลายปีบินเข้า 3 หมื่นไฟลท์

น.ส.ไตรศุลีกล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมรายงานว่า แนวโน้มผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าประเทศจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังยกเลิกเทสต์ แอนด์ โก ข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยระบุว่าหลังจากการทยอยเปิดประเทศจนถึงขณะนี้ มีเที่ยวบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศของทุก ท่าอากาศยาน รวมกันอยู่ที่ประมาณ 44,500 เที่ยวบิน ต่อเดือน เป็นเที่ยวบินในประเทศ 33,500 เที่ยวบิน และระหว่างประเทศ 11,000 เที่ยวบิน พร้อมกับประเมินว่าในปลายปี 2565 จะเพิ่มเป็น 83,500 เที่ยวต่อเดือน เป็นเที่ยวบินในประเทศ 53,000 เที่ยวต่อเดือน เที่ยวบินระหว่างประเทศ 30,000 เที่ยวบิน เข้าใกล้ปริมาณเที่ยวบินในช่วงปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ท่องเที่ยวสมุยกลับมาคึกคัก

วันเดียวกัน นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคม ส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย เปิดเผยว่า ตามที่ทาง รัฐบาลประกาศเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในเกาะสมุยกลับมามีความคึกคักอีกครั้ง แม้ว่าในช่วงนี้เกาะสมุยจะเป็น ช่วงโลว์ซีซันก็ตาม แต่มียอดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว ต่างชาติในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้สูงกว่าช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมากว่า 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว และคาดว่า ตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บรรยากาศการเดินทางของนักท่องเที่ยวภายในประเทศยังมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้บรรยากาศของการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย เริ่มกลับมามีความคึกคักอีกครั้ง ผู้ประกอบการท่องเที่ยว บนเกาะสมุยเอง มีการเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังเกาะสมุย คาดจะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย รวมถึงระบบเศรษฐกิจบนเกาะสมุยจะ ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งในไม่ช้า ทั้งนี้ ตัวเลขผู้เดินทางเข้ามายังเกาะสมุยด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในช่วงแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 1,500 คนต่อวัน นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มแรก ที่เดินทางถึงสนามบินนานาชาติสมุย ภายใต้หลักเกณฑ์การเข้าประเทศไทยที่ปรับใหม่ เมื่อช่วงเย็นวันที่
1 พ.ค. จำนวน 146 คน

นทท.แน่นร้านอาหารหาดใหญ่

ส่วนที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. เป็นวันที่สองของการเปิดประเทศ มีการเปิดด่านพรมแดนสะเดา จ.สงขลา ทำให้บรรยากาศ ในเมืองหาดใหญ่เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งในรอบกว่า 2 ปี ตามร้านอาหารเช้าหลายแห่งมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้าไปใช้บริการกันอย่างคึกคัก ประกอบกับ อยู่ในช่วงเทศกาลฮารีรายอทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าของร้านอาหารโชคดีแต่เตี้ยม หนึ่งในร้านอาหารชื่อดังของเมืองหาดใหญ่ บอกว่าขณะนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและจากกรุงเทพฯ เข้ามาท่องเที่ยวใน อ.หาดใหญ่บ้างแล้ว แม้จะยังน้อย กว่าปกติเมื่อเทียบกับก่อนโควิด เป็นการเริ่มต้น ที่ดีสำหรับบรรยากาศการท่องเที่ยวของเมืองหาดใหญ่ หลังเปิดประเทศ อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น

ด่านนครพนมยังรอความชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม หลังรัฐบาลประกาศการผ่อนคลายข้อกำหนดการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ที่ด่านชายแดนถาวร 2 จุด ประกอบด้วย ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน รวมถึงท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า เรือโดยสาร เทศบาลเมืองนครพนม ยังไม่สามารถเปิดได้ เนื่องจากยังติดขัดเรื่องการยื่นด้านเอกสาร เพื่อความชัดเจนตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ของ จ.นครพนม กับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ทั้งนี้ คาดว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะสามารถเปิดเป็นทางการได้ ทางด่าน ตรวจคนเข้าเมืองนครพนมพร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อมในการดูแลประชาชน นักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางระหว่างประเทศ

ผ่อนคลายกฎรับฤดูท่องเที่ยว

สำหรับความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ มีรายงาน ว่าอิตาลีและกรีซประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุม การระบาดของโควิด-19 รับฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อนในยุโรป เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการใช้ ชีวิตที่เข้าใกล้สภาวะปกติมากขึ้นทุกขณะ ที่กรีซเหลือ เพียงข้อกำหนดให้ผู้โดยสารและพนักงานในเที่ยวบิน ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศยังต้องสวมหน้ากาก อนามัยระหว่างอยู่บนห้องผู้โดยสารและที่สนามบิน ก่อนหน้านี้ผู้โดยสารบนเครื่องบินที่เดินทางมายังกรีซ ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน รวมทั้งต้องแสดงผลตรวจโควิดเป็นลบ หรือเพิ่งหายจากการป่วยด้วยอาการโควิด-19 ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอิตาลี ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มระบุตำแหน่งผู้โดยสารของสหภาพยุโรปที่ยุ่งยากอีกต่อไป รวมถึงไม่จำเป็นต้องใช้ กรีน พาสปอร์ต หรือเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อ เข้าสู่สถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น ร้านอาหาร หรือโรงยิม แต่ยังคงกำหนดให้สวมหน้ากากบนระบบขนส่งมวลชน ในโรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล และสถานดูแลผู้สูงอายุ