ใกล้วันสงกรานต์ ยังไม่ค่อยแน่ใจกัน จะจัดกันได้เต็มที่แค่ไหน จะสาดน้ำ จะประแป้ง จะกินจะดื่ม มากน้อยหนักเบา ดูเหมือนจะแล้วแต่ผู้มีอำนาจในพื้นที่
หนังสือ “อยู่อย่างสยาม” คุณเอนก นาวิกมูล เขียนลงนิตยสารรุ้ง ตั้งแต่ปี 2523 สำนักพิมพ์แสงแดด เอามารวมพิมพ์เป็นเล่มอีกที ปี 2541 วางอยู่ใกล้มือ เปิดอ่านเจอเรื่อง เกร็ดสงกรานต์
อ่านแล้วหลับตาย้อนอดีตไปถึงปลายสมัยอยุธยา
คำให้การขุนหลวงหาวัด บอกไว้ ถึงสงกรานต์พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งศาลาฉทาน (นิยมอ่านกันว่า ศาลาฉ้อทาน) ที่ตำบลตลาดยอด ตำบลสุมงคลบพิตร ตะแลงแกง สะพานช้าง ศาลาดิน สะพานสกุล รวม 6 ตำบล
คำ “ฉ้อ” ที่จริง มาจากคำจริง ฉ...แปลว่า 6 ฉทาน จะเข้าใจว่า มีของให้ทาน 6 อย่าง หรือต้องตั้งให้ครบ 6 ตำบลก็คงได้ แต่ของที่ให้กันจริงๆ ดูจะมากไปกว่า
ของที่มีให้เลี้ยงพระสงฆ์ เลี้ยงชาวบ้าน มีข้าวมีกับ มีหวีมีกระจก รวมทั้งช่างตัดผม หมอนวด หมอยา
ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนถึงพระราชพิธีเดือนสี่ ว่า ระหว่างช่วงตรุษ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในกรุงเทพฯมีการตั้งศาลาฉ้อทาน ไว้ในย่านต่างๆ 5-6 ตำบล
หน้าวัดบวรนิเวศแห่งหนึ่ง หน้าวัดมหาธาตุแห่งหนึ่ง วัดสุทัศน์แห่งหนึ่ง วัดโพธิ์แห่งหนึ่ง วัดอรุณแห่งหนึ่ง ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เพิ่มที่วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรีอีกแห่งหนึ่ง
ศาลาฉ้อทานเหล่านี้ ปลูกเป็นโรงใหม่ทุกแห่ง มีบัญชีหางว่าวจดไว้ ปีหนึ่งมีคนมาแวะกินเลี้ยงเกือบ 1,500 คน โรงทานจัดตั้งปีละ 3 วัน ลองหารเลขดูก็จะพบว่า แต่ละวันมีคนมากินเลี้ยงราว 500 คน
ค้นหนังสือเก่าเรื่อง ศาลาฉ้อทาน ตอนสงกรานต์แล้ว เอนก นาวิกมูล ก็นึกย้อนไปถึง เรื่องที่ได้ฟังจากแม่เพลงสุพรรณบุรี ที่สุพรรณเคยมีโรงทานที่มีน้ำให้ดื่ม มีหวีมีแป้งให้ใช้แต่งตัว เมื่อสมัยปู่ย่าตายายนี่เอง
...
ทำให้คิดได้ว่า ศาลาฉ้อทาน ยังมีร่องรอยอยู่ที่เมืองสุพรรณ
แม่บัวผัน แม่เพลงศรีประจันต์ เล่าว่า แกเป็นคนอ่างทอง หน้าสงกรานต์ เคยเดินไปนมัสการหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ ระหว่างทางพอใกล้ถึงย่านสุพรรณ ก็เจอศาลาโรงทานปลูกอยู่ทั่วไปทุกตำบล
ทุกศาลามีน้ำให้กิน มีแป้ง มีหวี มีกระจกให้ใช้ เขาตั้งใจปลูกไว้เผื่อคนเดินทางได้แวะเข้าไปพักเหนื่อย ได้ใช้แต่งตัวก่อนเดินทางต่อไปไหว้หลวงพ่อโต
ศาลาฉ้อทาน ยังมีอีกคำเรียก ฉ้อทานะศาลา คำฉ้อ ดูเป็นคำเรียกที่นิยมติดปาก ไม่เคยมีใครติดค้างข้องใจ ถึงความหมาย จากคำ ฉ ที่แปลว่าหก เพี้ยนเป็นคำว่า ฉ้อ ที่มีความหมายไปทางฉ้อฉล แต่ประการใด
ในสมัย ร. 4 มีเรื่องเล่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพุฒาจารย์โต ขึ้นเทศน์ถวายหน้าพระที่นั่ง ตอนเริ่มบอกศักราช ถึงคำว่า ฉศก ท่านออกเสียงว่า ฉอศก ซึ่งปกติแล้วพระนักเทศน์ทั่วไป จะออกเสียงว่า ฉ้อศก
เทศน์จบ ร.4 ตรัสชม “ขรัวโต” ออกเสียงถูกต้องตามพระบาลี ต่อไปนี้ขอให้พระสงฆ์อื่นๆ ออกเสียงฉอศกตามอย่าง อย่าได้ออกเสียงเป็นฉ้อศก ต่อไปอีก
แต่ดูเหมือนว่า ความนิยมออกเสียง ฉ เป็น ฉ้อ ก็ยังจะมีต่อไป
ยังดีไม่มีใครเอะใจทัก คำศาลาฉ้อทาน หมายความว่า ขโมยทาน เพราะก็ยังเห็นๆกับตา แม้จะออกเสียงฉ้อทาน ผู้ให้ก็ยังคิดว่าให้ทาน ผู้รับก็ยังคงเข้าใจว่ารับทาน ไม่ได้เข้าไปขโมยใครกิน
บ้านเมืองเราวันนี้ ไม่มีโรงฉ้อทานแล้ว จะเที่ยวสงกรานต์กันแบบไหน ก็ระวังตัวภัยไว้บ้าง เจ้าโควิด–19 แม้เขาว่าเชื้อมันไม่แรง แต่อย่าลืม ยังมีคนตายโครมๆทุกวัน.
กิเลน ประลองเชิง