สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยได้หวนกลับมาเป็นนิวไฮอีกครั้งจาก “ตัวเลขของการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนพุ่งขึ้นรวดเร็ว” ทั้งผลตรวจในระบบนอกระบบทะลุหลัก 3-4 หมื่นรายติดต่อกันมาหลายวัน

สร้างความโกลาหลให้ “ระบบสาธารณสุขเข้าวิกฤติ” เตียงรองรับผู้ป่วยหลายพื้นที่มีไม่พอ “ผู้คนกระสับกระส่ายกระหน่ำโทร.สายด่วน สปสช. 1330 ขอเข้ารักษาแบบ Home Isolation (HI) ระบบล่ม” จนปรากฏเป็นภาพเหตุการณ์ซ้ำรอย “คนติดเชื้อออกมานอนรอการรักษานอกบ้าน” เพราะเกรงนำเชื้อไปติดคนในครอบครัว

ทำให้ต้องเปิดช่องลงทะเบียนไลน์ออฟฟิเชียล สปสช. @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และสแกน QR code ที่อยู่บนเว็บไซต์ สปสช. หรือคลิกที่ลิงก์ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI

การนี้วันที่ 26 ก.พ. “ทีมข่าวสกู๊ป” ได้สังเกตการณ์โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ “เปิดตรวจโควิดกำหนดคิว 300 คนต่อวัน” ที่มีประชาชนพาลูกหลานมากันแน่นเอี้ยดล้นเต็มจุดพักคอยท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว บางคนออกจากบ้านแต่ตี 4-5 รอจนเที่ยงวันยังไม่รับเข้ารักษาตัว ทำได้แต่นั่งรอเรียกชื่ออย่างใจจดใจจ่อ

...

อย่างเช่น ผู้ปกครองคนหนึ่งพาลูกชาย 4 ขวบ มีอาการไข้สูงออกจากบ้านมา 7 โมง จนบ่ายโมงก็ยังไม่ได้รักษา แม้แต่ “ยาก็ไม่ได้กิน” ทำได้เพียงเช็ดตัว จนเด็กมีสภาพอิดโรย สาเหตุผู้ติดเชื้อโอมิครอนพุ่งขึ้นนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า

คาดการณ์ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2564 โอมิครอนจะระบาดช่วง 3 สัปดาห์แรกนับจากปีใหม่ 2565 แล้วแพร่การติดต่อสู่ครัวเรือนอย่างเร็วจากปัจจัย 2 ประการ คือ ประการแรก...“สมาชิกครอบครัว” ออกทำงานนอกบ้านรับเชื้อกลับเข้าบ้าน ประการที่สอง...“เด็กไปโรงเรียน” เมื่อรับเชื้อจากเพื่อนก็นำเข้ามาหาผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุเช่นกัน

ทว่าการระบาดขยายเป็นวงกว้าง “ช่วงวันวาเลนไทน์” จะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโอไมครอนสูงเป็นทวีคูณ “ส่วนยอดที่เห็นอยู่ตอนนี้ค่อนข้างต่ำกว่าตัวเลขจริงมาก” เพราะภาครัฐยกเลิกการสนับสนุนการตรวจด้วยพีซีอาร์แล้ว “ผู้ใดประสงค์ตรวจต้องจ่ายเงินเอง” ทำให้โรงพยาบาลไม่แนะนำถ้าไม่เสี่ยงจริง

เหตุจาก “ตรวจพีซีอาร์มีค่าใช้จ่ายสูง” แล้วเบิกเงินได้ครั้งละ 1,000 กว่าบาท “ไม่คุ้มทุน” กลายเป็นข้อจำกัดต่อ “ผู้รับบริการไม่มีเงินจ่าย” ทำให้การตรวจแบบพีซีอาร์ลำบากมากยิ่งขึ้น

ในส่วน “การตรวจด้วยเอทีเค” ก็ไม่ถูกนับรวมเข้าจำนวนแสดงผลตรวจยืนยันผู้ติดเชื้อรายใหม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และแถมประสิทธิภาพความแม่นยำมักหลุดรอดมากกว่า 50% นั้นก็คือ “ตัวอย่าง 100 คน สามารถตรวจจับผล 50 คน ส่วนที่เหลือหลุดไป” ฉะนั้นตัวเลขปรากฏออกมาจำเป็นต้องคูณสองอีก

แล้ว “ผลเอทีเคบวกบางส่วน” ก็เข้าสถานกักตัวกันเองโดยไม่ถูกรายงานเข้าระบบด้วยเหตุเพราะ “ระบบไม่สนใจตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มองเป็นอาการโรคไข้หวัด” อันเป็นเสมือนชักนำให้เป็นโรคธรรมดา ตรวจก็ได้ ไม่ตรวจก็ได้ เพื่อเปิดประเทศส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยว สนับสนุนด้านเศรษฐกิจดีขึ้นเท่านั้น

ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ควรเปิดประเทศมีชั้นเชิง ที่มิใช่ลอกเลียนจากต่างประเทศได้ทั้งหมด

ดังนั้น “ยอดผู้ติดเชื้อปรากฏออกมาน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างน้อย 2-3 เท่า” อีกทั้งตอนนี้ก็เริ่มเผยตัวเลขกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ และคนมีโรคประจำตัว เข้าในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นแล้ว “พยายามยื้อชีวิตกันเอาไว้” เหตุนี้ถ้าต้องประเมินสถานการณ์ความรุนแรง จึงไม่อาจนับตัวเลขการเสียชีวิตได้โดยเด็ดขาด

...

เน้นย้ำนับจาก “ตัวเลขผู้ป่วยหนัก” ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาว และเด็กเล็กจะเป็นตัวสะท้อนว่า “โอมิครอนดุร้ายมากขึ้นหรือไม่” แต่ไม่ควรตีขลุมว่า “ไม่ดุร้ายตั้งแต่ต้น” อ้างข้อมูลต่างประเทศการันตีมิได้ อันเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลไม่ละเอียด นำมาซึ่ง “การ์ดตก 100%” อย่าลืมว่าการระบาดโอมิครอนมีโอกาสดุร้ายกว่าเดิมได้เสมอ

ตอกย้ำด้วย “โอมิครอนเจน 2 หรือ BA.2” มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 30% กำลังเข้ามาแทนที่โอมิครอนเจน 1 หรือ BA.1 ตามหลักฐานทางการทดลองในสัตว์พบโอมิครอน BA.2 ติดต่อได้ง่ายกว่าโอมิครอน BA.1 ประมาณ 1.8 เท่า

ยิ่งกว่านั้นเชื้อสามารถขยายแตกตัวในร่างกายรวดเร็ว แล้วหลบหนีภูมิคุ้มกันทุกชนิดได้ดี ล่าสุดญี่ปุ่นมีการศึกษาในหนูแฮมสเตอร์ พบว่าเชื้อโอมิครอน BA.2 ก่อให้เกิดอาการป่วยหนักมากขึ้นกว่าโอมิครอน BA.1

หนำซ้ำการระบาดโควิดไม่น่าจบเท่านี้ยังมี “เชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่” ในการผสมผสานทางพันธุกรรมระหว่าง “โควิดเดลตา” แม้แพร่ระบาดไม่ดีแต่มักทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยหนัก แล้วมาผสมกับ “โควิดโอมิครอน” จนกลายเป็น “สายพันธุ์เดลตาครอน (Deltacron)” ที่ยกระดับติดง่าย แพร่เร็ว และอาการป่วยหนักขึ้นด้วย

...

เบื้องต้นพบ “เดลตาครอนในอังกฤษ” แต่เชื้อยังไม่หลุดแพร่ระบาดมากนัก เพราะด้วย “อังกฤษ” แม้เปิดประเทศอิสระเสรีก็คง “มาตรการเข้มงวดกว่าเดิมมาก” ไม่ว่าจะประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวัน จำแนกตัวเลขผู้ป่วยมีอาการจนต้องเข้าโรงพยาบาลในความรุนแรงเป็นระดับขั้น ทั้งระบบทางเดินหายใจ และระบบอื่น

เพื่อการใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตในระดับต่างๆ ไม่ให้คนป่วยต้องครองเตียงในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน อันเป็นการสอดรับต่อความสามารถการรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลไม่เกินสภาพของระบบสาธารณสุข แล้วก็ไม่ได้ยึดตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเดียว เพราะไม่สะท้อนสถานการณ์ความรุนแรงของโรค

ประเด็น “โควิดสายพันธุ์ลูกผสม” ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังการระบาดอย่างใกล้ชิด แล้วสิ่งที่ต้องดำเนินการมาตรการนอกเหนือมากกว่าอังกฤษด้วยก็คือ “เตือนประชาชน” เพราะโควิดปัจจุบันสามารถแสดงอาการแบบมาตรฐาน คือทางระบบทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ ไข้ ทั้งยังปรากฏอาการนอกมาตรฐานทางระบบอื่น

อย่างเช่น อาการปวดหัว ท้องเสีย ปวดเมื่อย เพลียจัด ความดันโลหิตตก การเต้นหัวใจผิดปกติได้ อาการทางสมองอักเสบ ชัก ซึม ไม่รู้สึกตัว ที่ไม่ใช่ใช้ผลยืนยันเฉพาะเอทีเคอย่างเดียวแต่ควรต้องเป็นพีซีอาร์ แล้วการเก็บตัวอย่างก็ไม่จำกัดเฉพาะน้ำลาย สิ่งคัดหลั่งจากโพรงจมูก แต่ต้องนำอุจจาระ เลือดมาตรวจด้วย

...

ประการต่อมา “การฉีดวัคซีนเด็กไม่เกิน 11 ขวบ” ต้องบอกแบบนี้ความสามารถวัคซีนป้องกันการติดเชื้อค่อนข้างจำกัดถึงเลวร้ายมาก เพราะหลายคนมีความหวังป้องกันอาการหนักกลับปรากฏเด็ก 11 ขวบ ฉีดวัคซีนแล้วมีผลข้างเคียง “แพ้จนข้อบวมอักเสบติดเชื้อรุนแรง” นำไปสู่การเสียชีวิตอันเป็นผลจากวัคซีนร้อยเปอร์เซ็นต์

ย้ำในการพิจารณาการฉีดในเด็กไม่เกิน 11 ขวบ เป็นเรื่องที่หาคำตอบชัดเจนไม่ได้ แล้วมีคำถามตัวโตว่า “การฉีดวัคซีนในเด็กมีประโยชน์จริงหรือไม่” เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันโควิดโอมิครอนได้แล้วเมื่อ “ป้องกันการติดไม่ได้ในเด็ก” ก็ยังสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวได้ดังที่ปรากฏเห็นอยู่ชัดเจนในขณะนี้

เรื่องนี้ไม่ตอบชัดเจนว่า “ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กไม่เกิน 11 ขวบได้ประโยชน์ป้องกันอาการหนักหรือเสียชีวิตได้หรือไม่” เพราะเด็กมักติดเชื้ออาการไม่หนักมากอยู่แล้ว ทั้งไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า “การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันภาวะลองโควิดที่เกิดตามหลังโอมิครอนได้” ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม

แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นชัดๆ “ผลแทรกซ้อนของวัคซีนไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็เกิดได้ทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวหรือไม่ก็ตาม” เรื่องนี้แม้แต่ “อังกฤษ” ก็มีคำถามเพราะเด็กติดเชื้อมีอาการน้อยแล้วถ้าฉีดวัคซีนก็มีโอกาสเสี่ยง ผลข้างเคียงตายมากกว่าการป้องกันการติดเชื้อด้วย

ฉะนั้น “การให้ข้อมูลแก่ประชาชน” หน่วยงานภาครัฐต้องมีความโปร่งใสอันจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบในการนำวัคซีนมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น “อย่างสูงสุด” เป็นที่มาในการต้องฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังซึ่งมีกลไกต่างกับการฉีดเข้ากล้ามสามารถลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้

ความเข้มข้นการระบาดโอมิครอนเจน 2 สูงขึ้นเรื่อยๆ “ผู้บริหาร” ต้องมีความโปร่งใสในข้อมูลอันจะนำมาซึ่งการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายต่อการปฏิบัติบนพื้นฐานความจริงได้ทันทีทันใด...