สภาพอากาศในระยะนี้ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกพริกเฝ้าระวังการระบาดเพลี้ยไฟพริก ที่มักจะพบการระบาดในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง

โดยจะมีตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟพริกมาดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ตาดอก และดอก ทำให้ใบ ยอดอ่อนหงิก ขอบใบหงิกหรือม้วนขึ้นด้านบน ถ้าเข้าทำลายระยะพริกออกดอกจะทำให้ดอกร่วงไม่ติดผล เข้าทำลายในระยะผล จะทำให้รูปทรงของผลบิดงอ และถ้าการระบาดรุนแรงพืชจะชะงักการเจริญเติบโต หรือแห้งตายในที่สุด

แนวทางป้องกัน นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช แนะนำให้เกษตรกรสุ่มสำรวจพริก 100 ยอด/ไร่ทุกสัปดาห์ โดยเคาะลงบนแผ่นพลาสติกสีดำ...เมื่อพบเพลี้ยไฟพริกเฉลี่ยมากกว่า 5 ตัวต่อยอด ให้ทำการป้องกันกำจัด

ขั้นต้นควรเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ อย่าปล่อยให้ขาดน้ำ เพราะจะทำให้พืชอ่อนแอ และเพลี้ยไฟพริกจะระบาดอย่างรวดเร็ว

หากพบการระบาดให้ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ เช่น สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซแอนทรานิลิโพรล 10% OD อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

ขณะฉีดพ่นสารควรปรับหัวฉีดให้เป็นฝอยที่สุด และพ่นให้ทั่วตามส่วนต่างๆของพืชที่เพลี้ยไฟพริกอาศัยอยู่

กรณีระบาดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้ง ควรให้ปุ๋ยทางใบ เพื่อช่วยให้ต้นพริกฟื้นตัวจากอาการ ใบหงิกได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น.

...

สะ–เล–เต