- เปลี่ยนเรื่องเข้าใจผิดให้เป็นความเข้าใจ หลังผู้มีเชื้อเอชไอวีถูกเลือกปฏิบัติ ติดโควิด-19 แต่กลับไม่ได้การรับการรักษา
- ไขข้อข้องใจผู้มีเชื้อเอชไอวี ทำให้โควิดกลายพันธุ์ จริงหรือ?
- ผลกระทบจากระบาดของโควิด-19 ต่อผู้มีเชื้อเอชไอวี เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น
ตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ปัจจุบันมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันขึ้นมาหลายชนิด เช่น วัคซีนเชื้อตาย, ไวรัสเวกเตอร์, วัคซีน mRNA ขณะเดียวกันเชื้อไวรัสเองก็มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เช่น สายพันธุ์อัลฟา สายพันธุ์เบตา สายพันธุ์เดลตา สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มีการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ

โดยเฉพาะผู้มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือและเข้าถึงวัคซีนอย่างมาก เมื่อไม่นานมานี้กลับมีข่าวสะเทือนใจจากแฟนเพจ เส้นด้าย - Zendai ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครประสานงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้มีความเสี่ยงสูง ได้เปิดเผยเรื่องราวของ ผู้มีเชื้อเอชไอวีรายหนึ่งที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ก้มลงกราบขอบคุณทั้งน้ำตา หลังจากถูกสถานพยาบาลปฏิเสธการเข้ารับการรักษา ประกอบกับมีข่าวปลอมออกมาจำนวนมากทำให้คนเกิดความกลัว และมีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีเชื้อเอชไอวีผิดๆ
...
เปลี่ยนความ "เข้าใจผิด" เป็น "ความเข้าใจ"
จากการสอบถาม กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโรค หรือ WHO เตือนผู้มีเชื้อเอชไอวีเมื่อติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปเกือบร้อยละ 25 จากรายงานพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีความเสี่ยงของอาการโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงจนถึงขั้นเป็นอันตรายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะเพศชายอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยร่วมที่ทำให้อาการโรคโควิด-19 มีความรุนแรงจนนำไปถึงการเสียชีวิตมากขึ้น

ดังนั้น ต้องส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงยาต้านไวรัส (ARV) ให้มากขึ้นและจัดการอาการโรคประจำตัวที่มีอย่างเหมาะสม รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรถูกจัดลำดับเป็นหนึ่งในกลุ่มสำคัญสำหรับการรับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกอย่างไม่เป็นทางการใน 100 ประเทศ กล่าวว่ามี 40 ประเทศที่ให้ความสำคัญกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการได้รับวัคซีนเป็นลำดับต้นๆ
ผู้มีเชื้อเอชไอวีทำให้โควิดกลายพันธุ์ จริงหรือ?
เมื่อถามกรณีผู้มีเชื้อเอชไอวีได้รับเชื้อโควิด-19 มีโอกาสทำให้โควิดกลายพันธุ์หรือไม่นั้น ทางกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้ข้อมูลว่า การกลายพันธุ์ของโควิดเกิดขึ้นได้ไม่เกี่ยวกับสถานะการติดเชื้อหรือ ไม่ติดเชื้อเอชไอวี
สำหรับความรุนแรงของอาการนั้น ผู้มีเชื้อเอชไอวีที่ทานยาต้านไวรัส อย่างสม่ำเสมอจะมีภูมิคุ้มกันปกติ ดังนั้น อาการเวลาที่ได้รับเชื้อโควิด-19 จึงจะไม่ได้รุนแรงแตกต่างไปจากผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโควิด-19 ทั่วไป ยกเว้นในกรณีที่เป็นผู้ป่วยเอชไอวี ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในกรณีนี้ ผู้ป่วยจะมีโอกาสในการเกิดอาการรุนแรงมากกว่า กรณีที่ติดเชื้อทั่วไป

การระบาดของโควิด-19 ต่อผู้มีเชื้อเอชไอวี
จากข้อมูลของ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ในการยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการคือ
...
1. ลดจำนวนผู้มีเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คน
2. ลดการเสียชีวิตในผู้มีเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย
3. ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลง ร้อยละ 90
"ที่ผ่านมา ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมควบคุมโรค โดยกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสถานบริการสุขภาพทั่วประเทศ รวมทั้งภาคประชาสังคม ได้ดำเนินงานเร่งรัดการขจัดปัญหาอันเนื่องจากการตีตรา และเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีทุกรูปแบบ และเพศภาวะในสถานบริการสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง
มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพบริการให้เป็นสถานบริการสุขภาพที่ปราศจากการตีตรา และเลือกปฏิบัติ โดยขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพพื้นฐานได้ เพื่อให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีทุกคนสามารถเข้าสู่ระบบบริการตรวจรักษาได้อย่างเท่าเทียม"

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา การแพร่ระบาดได้ขยายขอบเขตออกเป็นวงกว้าง กระจายไปในหลายพื้นที่ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน และยังส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาและการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ เช่น การมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และการได้รับวัคซีนโควิด-19 ด้วย ซึ่งผู้มีเชื้อเอชไอวีถือเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่อาจนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น
...

ดังนั้น กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงได้ผลักดันเชิงนโยบายให้ผู้มีเชื้อเอชไอวี เป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีน เช่นเดียวกับอีก 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน อย่างเช่นการจัดประชุมวิชาการ "การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในผู้มีเชื้อเอชไอวี/เอดส์" ผ่าน Facebook Live ในวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ และกองทุนโลก ในการส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีได้รับยาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ เพื่อลดความแออัดของผู้รับบริการในโรงพยาบาล และป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ในโรงพยาบาลตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย