พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตตามบ้านเรือนทั้งในเมืองและนอกเมือง มียุงเพิ่มขึ้นมาก ควรทำลายแหล่งน้ำเน่าและน้ำขังตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่วางไข่ของยุง เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ จากระบบเฝ้าระวังโรคในปี 2564 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยลดลง โดยตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.64-1 ม.ค.65 พบผู้ป่วย 1,689 ราย คิดเป็นอัตราการป่วย 30.22 ราย/ประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าการระบาดและมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 มีผลกระทบต่ออุบัติการณ์และการรายงานโรคไข้เลือดออกในระบบเฝ้าระวังโรค ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกต่ำกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาสองปีแล้ว ดังนั้นในปี 2565 จึงมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย มีมาตรการเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงตามแผนการดำเนินงานในปี 2565 โดยสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่เป้าหมาย 7 ร. ได้แก่ โรงเรือน โรงธรรม โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล โรงงาน และสถานที่ราชการ โดยเฝ้าระวังค่าดรรชนีลูกน้ำยุงลาย และได้เตรียมความพร้อมของบุคลากรทีมควบคุมโรคและทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ ได้แก่ เครื่องมือพ่น สารเคมี ยาทากันยุง ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย ให้เพียงพอและพร้อมใช้งาน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชนต่างๆในพื้นที่กรุงเทพฯ
ทั้งยังทำลายแหล่งน้ำเน่าเสียและน้ำขัง รวมถึงกองขยะ จัดกิจกรรมรณรงค์จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ในชุมชนและพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเน้นรณรงค์ในวันสำคัญแต่ละเดือน และรายงานผลทุกเดือน นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดลูกน้ำยุงลายตามสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ จำแนกตามพื้นที่ แบ่งเป็น (1) บ้านและชุมชน (2) โรงธรรม และ (3) โรงเรียนและสถานที่ราชการ โดยให้ประชาชนหรือผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆทำความสะอาด เปลี่ยนน้ำแจกัน รวมถึงสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์.
...