รมว.เกษตรฯเดินหน้าป้องกันโรคระบาดหมู ดำเนินการเข้มตามหลัก “รู้โรคเร็วควบคุมโรคเร็ว สงบโรคได้เร็ว” จี้กรมปศุสัตว์ร่วมมือกับมหาดไทยตั้งวอร์รูมสั่งการเชิงรุก ส่งเสริมและฟื้นฟูเกษตรกรเลี้ยงหมูรายย่อยและเล็กเลี้ยงหมูมีมาตรฐาน
เจ้าหน้าที่เร่งวางแผนป้องกันโรคระบาดหมู เปิดเผยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ว่า กระทรวงเกษตรฯเน้นดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นสูงสุด เพื่อให้สามารถควบคุมและป้องกันการเกิดโรคอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งติดตามงานและสั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการต่างๆ ตามหลักการ “รู้โรคเร็ว ควบคุมโรคเร็ว สงบโรคได้เร็ว” ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกรแห่งชาติ เมื่อเร็วๆนี้ รายงานถึงผลการตรวจพบการระบาด ASF ตั้งแต่วันที่ 10-25 ม.ค.พบระบาดใน 13 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี พังงา นครศรีธรรมราช ชุมพร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และหนองบัวลำภู
นายเฉลิมชัยเปิดเผยอีกว่า สั่งการให้กรมปศุสัตว์รายงานสถานการณ์และการปฏิบัติงานเกี่ยวกับโรค ASF ในสุกรทุกวัน โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการที่ให้จัดตั้งขึ้น ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทุกจังหวัดได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือแจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งให้ดำเนินการจัดตั้ง War Room ขึ้น มี ผวจ.เป็นประธาน และปศุสัตว์จังหวัดเป็นเลขานุการ สำหรับกรณีแนวทางการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรรายย่อยและรายเล็ก จะใช้แนวทางที่เรียกว่า 3 S คือ Scan พื้นที่ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดพื้นที่นำร่อง (Pig Sandbox) Screen ตรวจสอบคน คอก เครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีความพร้อม และเหมาะสม และ Support อุดหนุนช่วยเหลือด้านการจัดการเลี้ยงดู การตลาดและแหล่งทุน เพื่อยกระดับและปรับระบบการเลี้ยงเข้าสู่มาตรฐาน จ้างเหมาบริการอาสาปศุสัตว์ช่วยงานสัตวแพทย์จำนวน 1,764 คน คนละ 7 เดือน (ก.พ.-ก.ย.) สนับสนุนแหล่งทุนโดย ธ.ก.ส. วงเงินประมาณ 45,000 ล้านบาท ต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม
...
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ดำเนินการตามหลัก “รู้โรคเร็ว ควบคุมโรคเร็ว สงบโรคได้เร็ว” เน้นกระบวนการเฝ้าระวังเชิงรุกทางอาการที่ฟาร์มผ่านเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากเกษตรกร หากพบสุกรของตนมีอาการที่ผิดปกติ มีอาการตามนิยามของโรคหรือป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อลงพื้นที่พิสูจน์สอบสวนหาสาเหตุและลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ เฝ้าระวังเชิงรับทางห้องปฏิบัติการเก็บตัวอย่างพื้นผิวสัมผัส และตัวอย่างซากในสถานประกอบการต่างๆ เช่น โรงฆ่าสุกร สถานที่ตัดแต่งซาก สถานที่จัดเก็บซากสุกร รวมทั้งสถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร เป็นต้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยอีกว่า การขอความร่วมมือเกษตรกรให้ปรับปรุงระบบการเลี้ยง และการป้องกันโรคที่ฟาร์มให้มีประสิทธิภาพตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพและตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ ก่อนที่จะนำสุกรเข้าเลี้ยงใหม่ทุกครั้งต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อประเมินฟาร์มว่ามีความปลอดภัยเพียงพอสามารถนำสุกรเข้าเลี้ยงรอบใหม่ได้หรือไม่ ทั้งนี้ การสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาพบว่ามีความเชื่อมโยงไปยังสถานประกอบการใดๆก็ตาม เจ้าหน้าที่จะดำเนินการพิสูจน์ตรวจสอบ และควบคุมโรคตามหลักวิชาการต่อไป สำหรับกระบวนการทำลายซากสุกรที่เป็นโรค ขอให้เกษตรกรแจ้งให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ หรือกำกับดูแลการดำเนินการเพื่อมิให้เกิดการตกค้างของเชื้อในสิ่งแวดล้อม