“ม่อนแจ่ม” พื้นที่ซึ่งมีปัญหารุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม มายาวนาน ทั้งที่พื้นที่ม่อนแจ่ม ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เกือบทั้งสิ้นอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
แต่กลับมีการสร้างรีสอร์ต บ้านพัก ตั้งเรียงรายแออัดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวโดยกลุ่มนายทุนต่างถิ่นที่เข้ามาครอบครองทำประโยชน์ ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
ซึ่งผิดไปจากวัตถุประสงค์ เพราะป่าแม่ริม เป็นป่าสงวนแห่งชาติ แม้ต่อมาจะมีการผ่อนปรนให้ราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนฯ ตาม “มติ ครม. 30 มิ.ย.41” แต่ก็มีข้อบังคับว่าห้ามบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ ห้ามบุกรุกเพิ่มเติม ห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาด
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ได้สั่งการให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) เข้าไปดำเนินคดีกับรีสอร์ตรุกป่าแม่ริม 2 แห่ง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กรมป่าไม้ได้ดำเนินคดีกับนายทุนที่บุกรุกป่าสงวนฯ ในพื้นที่ม่อนแจ่มแล้ว กว่า 35 ราย สำนวนคดีความอยู่ในชั้นอัยการ
...
“การแก้ปัญหารุกป่าบริเวณม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง กรมป่าไม้ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้นโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ให้แก้ปัญหาตามกฎหมาย ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขและทำกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาต ต้องมีการรื้อถอนปรับสภาพพื้นที่และเร่งฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาระยาวไม่ให้เกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำเสีย ขยะและภัยพิบัติ เช่น ดินสไลด์ โคลนถล่ม เป็นต้น นายวราวุธได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอย่างเกื้อกูลกัน ให้มีการจัดทำแผนแม่บท รวมทั้งปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ให้มีการทำการเกษตรตามแนวทางของโครงการหลวงและตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับคืนมา ที่สำคัญ
นายวราวุธได้เน้นย้ำให้การดำเนินการต่างๆในพื้นที่ม่อนแจ่ม คำนึงถึงความเดือดร้อนและรายได้ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ” นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงการแก้ปัญหาม่อนแจ่ม ทส.ให้ความสำคัญกับปัญหาม่อนแจ่ม มากถึงขนาดนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการ รมว.ทส. ต้องลงพื้นที่ไปอำนวยการแก้ปัญหาด้วยตัวเองหลายครั้ง
“การตรวจสอบสถานประกอบการในพื้นที่ม่อนแจ่มและบริเวณใกล้เคียงพบว่ามีทั้งหมด 116 ราย อยู่ในเขตป่าสงวนฯ 113 ราย อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 3 ราย จากการตรวจสอบรายที่อยู่ในป่าสงวนฯ พบว่า บางรายซื้อขายเปลี่ยนการครอบครองจากรายเดิมไปสู่นายทุนหรือบุคคลนอกพื้นที่ประกอบกิจการในลักษณะ “นอมินี” บางรายมีการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ขยายแผ้วถางพื้นที่จากพื้นที่ทำกินเดิม ซึ่งไม่เป็นไปตาม “มติ ครม. 30 มิ.ย.41” จึงได้ดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 33 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด 19 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ 12 คดี อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนพิจารณารวบรวมพยานหลักฐาน 2 คดี” นายสุรชัยระบุ
ที่สำคัญได้ใช้อำนาจตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 สั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากเขตป่าสงวนฯ และได้ทำการรื้อถอนแล้ว 9 ราย สำหรับ 83 ราย อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ คุณสมบัติการใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนฯ และจัดทำแผนแม่บทตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกันระหว่าง จ.เชียงใหม่ อ.แม่ริม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานทรัพยากรฯ จังหวัดเชียงใหม่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกำหนด 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดย จ.เชียงใหม่ ได้มีประกาศ เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการบนพื้นที่ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง
...
วันที่ 23 มี.ค. 2564 แต่เนื่อง จากโควิด-19 จึงได้มีการขอขยายระยะ เวลาในการจัดทำแผนแม่บทออกไปอีก 90 วัน แต่ในระหว่างแก้ปัญหา สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ได้มีการควบคุมพื้นที่ และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงานลาดตระเวนบริเวณม่อนแจ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเดือน พ.ย.2564 พบว่ามีการก่อสร้างอาคาร บ้านพักตากอากาศ รีสอร์ต เพิ่มขึ้น 3 ราย ดำเนินคดีไปแล้ว 1 ราย อีก 2 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน ต่อมา ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการขนวัสดุสิ่งก่อสร้างเข้าไปในพื้นที่ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียงในยามวิกาล เพื่อก่อสร้างอาคารบ้านพักตากอากาศ รีสอร์ตโดยมิได้รับอนุญาต จึงได้ประกาศห้ามก่อสร้างและนำวัสดุก่อสร้าง เข้าในเขตพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยมิได้แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ 29 ต.ค.2564
...
จากการดำเนินการดังกล่าว นำไปสู่ขบวนการของนายทุนได้ปลุกระดมมวลชน กดดันข่มขู่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกวิถีทาง เช่น การปิดล้อมเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าไปตรวจตราพื้นที่กว่า 10 ชั่วโมง และเสนอข้อเรียกร้องห้ามเข้ามาตรวจสอบอาคารสิ่งปลูกสร้างผิดกฎหมายในเขตพื้นที่ม่อนแจ่ม ซึ่งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ได้แจ้งว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้ เป็นการกระทำภายใต้กรอบกฎหมายและรักษาพื้นที่ป่าในบริเวณม่อนแจ่มซึ่งเป็นลุ่มน้ำชั้น 1 ที่มีความสำคัญต่อประชาชน รวมทั้งเป็นการรักษาระบบนิเวศของธรรมชาติให้มีสภาพสมบูรณ์สืบไป
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า การแก้ปัญหาม่อนแจ่มของกรมป่าไม้ คือ การรักษาป่า รักษากฎหมายและควบคุมสอดส่องไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนเป็นสำคัญและยังมีความพยายามให้เกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้สอดคล้องกับสมรรถนะของพื้นที่ รวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบ “คนอยู่กับป่า” อย่างยั่งยืน.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม