ไม่ถึงกับเป็นความขัดแย้ง แต่เป็นเพียงความเห็นต่าง ในการเรียกชื่อสถานการณ์โควิดขณะนี้ เป็นเพียง “วิวาทะ” เล็กๆ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุข แถลงว่าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางการพิจารณา ให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

มีคำชี้แจงจาก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หลังจากที่ระบาดมา 2 ปี มีทิศทางที่ดีขึ้น ไม่มีความรุนแรง อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ มีการฉีดวัคซีน 2 เข็มเกินร้อยละ 80 ขณะนี้ฉีดได้ 70-75% มีระบบรักษาที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นโรคประจำถิ่นภายในปีนี้

คนทั่วไปอาจจะสงสัย เมื่อโรคโควิด-19 เปลี่ยนสถานะจากการเป็นโรคระบาดร้ายแรง มาเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ ในการดูแลรักษาผู้ป่วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เคยชี้แจงว่าจะมีการรักษาจากบ้านได้ ถ้าอัตราการเสียชีวิตพอๆกับไข้หวัดใหญ่

แม้แต่ในวงการแพทย์ด้วยกันก็เห็นต่าง นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “โรคประจำถิ่น” (Endemic) เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องที่ เช่น โรคไข้เหลืองในแอฟริกา

นพ.ยงอธิบายว่าถ้าหากเป็นการระบาดทั่วโลก เรียกว่า Pandemic ขณะนี้โควิด-19 ยังระบาดทั่วโลกแน่นอน ไม่ได้ลดลงมาระบาดที่ถิ่นใดถิ่นหนึ่ง โควิด เป็นโรคที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการสูญเสีย ถ้าโรคโควิดลดความรุนแรงลง อาจเรียกโควิดตามฤดูกาล

...

แพทย์อีกคนหนึ่งที่แสดงความคิดเห็น ในการสัมมนาที่กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ ได้แก่ นพ.จอส แวนดีเลอร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย เตือนว่าการระบาดของโควิดยังไม่จบ เพราะไวรัสจะกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา มันต้องแพร่ระบาดจึงจะกลายพันธุ์ได้ แต่การแพร่ระบาดจะเป็นไปได้ยาก หากทุกคนฉีดวัคซีนป้องกัน

มาตรการกำจัดโควิดที่มีประสิทธิภาพที่สุด ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันคือการเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง และยังต้องฉีดเข็มกระตุ้นเป็นระยะๆ จนกว่าจะเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดหวัง ส่วนประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จะต้องอยู่กับโควิดต่อไป อย่างน้อยก็ในช่วงปี 2565 จนกว่าจะเป็นโรคตามฤดูกาล.