ชาวบ้านออกมาโวยหมู ไข่ไก่ และเนื้อไก่ปรับราคาสูงตามกัน กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ประชุมหาทางแก้ไขปัญหาหมูแพงไม่อยากเป็นโจทก์ของสังคม ส่วนแผงหมูนครสวรรค์ยอดร่วง พ่อค้าอาหารตามสั่งวอน รมว.พาณิชย์ช่วยชาวบ้าน สมาคมผู้ค้าไข่ไก่ออกประกาศปรับราคาไข่ไก่ 20 สตางค์ คิดเป็น 6 บาทต่อแผง ขณะที่ “จุรินทร์” เบรกขึ้นราคาไข่ไก่และเนื้อไก่ พร้อมตั้งจุดขายหมูถูก 600 จุด ส่วนค่าเรือคลองแสนแสบและน้ำมันปรับราคาสูงขึ้นเหมือนกัน

หลายหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาราคาหมูแพง ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงราคาไข่ไก่ และเนื้อไก่สูงขึ้นตามกัน ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแก้ปัญหาหมูแพง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 ม.ค.ที่ห้องประชุมออร์เดย์ ชั้น 1 โรงแรมสการ์เลท อ.เมืองนครศรีธรรมราช นายปรีชา ถาวรกิจ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ นายโสภณ พรหมแก้ว นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครศรีธรรมราช และสมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้และสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครศรีธรรมราช ร่วมประชุมเพื่อหาทางออกปัญหาราคาสุกรแพงในช่วงนี้ นายปรีชากล่าวว่า มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรเลี้ยงสุกรทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก เจอปัญหาหลายด้านทั้งโรครุนแรง และต้นทุนที่สูงขึ้นแต่ปัญหาเหล่านี้พยายามจะร่วมมือกันแก้ไข ภาคใต้มีเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงสุกรเดิม 2 หมื่นราย แต่เลิกกิจการไปพอสมควร

...

คนเลี้ยงหมูไม่อยากเป็นโจทก์สังคม

ด้านนายโสภณ พรหมแก้ว นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ปัญหาหมูที่หายไป 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งแม่พันธุ์และลูกสุกร จะต้องใช้ห้วงระยะเวลา 2-3 ปี ถึงจะกลับฟื้นคืนมาปกติ คณะกรรมการทุกคนกำหนดกันว่า จะไม่ขึ้นราคาหมูเป็น กก.ไม่เกิน 110 บาท ต้องการที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและผู้บริโภค เพราะไม่อยากเป็นโจทก์ของสังคมว่า เมื่อสุกรมีชีวิตมีราคาสูง เดี๋ยวไข่ตามมา เดี๋ยวไก่ตามมา เพราะสาเหตุสุกรมีราคาสูงขึ้น นี่คือปัจจัยหลักที่คุยกัน สิ่งที่สำคัญจะทำอย่างไรไม่ให้ภาครัฐนำสุกรจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย หากนำเข้ามาต้องรับรู้ว่านำมาจำนวนเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่ให้เกษตรกรและผู้บริโภคเดือดร้อน ส่วนของ จ.นคร ศรีธรรมราช นำหมูขึ้นไปสู่ภาคกลางเดือนละ 7,500 ตัว เป็นของบริษัทซีพี 4,000 ตัว เบทาโกร 3,500 ตัว เพื่อไปทดแทนในส่วนที่ขาดแคลน เยียวยาผู้บริโภคในส่วนของภาคกลางเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นไปก่อน

ปรับราคาไข่ไก่หน้าฟาร์ม 20 สตางค์

จากสถานการณ์ที่สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ออกประกาศเป็นผู้กำหนดราคาแนะนำไข่ไก่ในตลาดทั่วไป แจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละอยู่ที่ฟองละ 3 บาท มีผลในวันที่ 10 ม.ค. หลังออกประกาศเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ว่าปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม 0.20 บาท จากฟองละ 2.80 เป็น 3.00 บาท หรือคิดเป็นราคาปรับขึ้น 6 บาทต่อแผง การปรับครั้งนี้เท่ากันทุกไซส์ทุกเบอร์ไข่ไก่ปรับราคาขึ้นแผงละ 6 บาท ทำให้ไข่ไก่เบอร์ 2 ขายส่งแผงค้าเป็นแพ็กละ 93 บาท ชี้สาเหตุจากต้นทุนอาหารสัตว์ขึ้นราคา และสถานการณ์โควิด-19 กระทบนำเข้าแม่ไก่ไม่ได้

พ่อค้าไข่ไก่เตรียมปรับราคา

นายปรีชา อิ่มเอม เจ้าของร้านบ้านไข่ ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า เตรียมปรับราคาขายไข่ขึ้นภายใน 1-2 วันนี้ ทั้งนี้เป็นไปตามที่สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ออกประกาศ ตามราคาที่ประกาศไว้ เบื้องต้นคาดว่าราคาที่ปรับนี้น่าจะยาวไปจนถึงช่วงเดือนเมษายนนี้ จากนั้นราคาไข่น่าจะลดลง อย่างไรก็ตามผู้ค้าพยายามพยุงราคาไม่ให้ถึงฟองละ 3.50 บาทต่อฟอง เพราะจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างมาก

ผู้ค้าแบ่งขายถุงย่อย 10 ฟอง

ที่ตลาดสดบางลำภู ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น บรรยากาศการซื้อขายไข่ไก่มีประชาชนมาเลือกซื้อปกติ แต่จะลดจำนวนการซื้อลง ส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าบอกว่าลูกค้าจะซื้อเท่าที่จำเป็น ทางร้านแบ่งขายแบบถุงละ 10 ฟอง เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ราคาไข่ไก่แต่ละร้านปรับขึ้นแผงละ 5-6 บาททุกเบอร์ บางร้านยังไม่มีการปรับราคาขึ้นเนื่องจากเพิ่งจะทราบประกาศ ราคาไข่ไก่เช้าวันนี้อยู่ที่ 80-120 บาท ไข่ไก่เบอร์ 0 อยู่ที่ราคาแผงละ 120 บาท เบอร์ 1 อยู่ที่ราคาแผงละ 105 บาท เบอร์ 2 อยู่ที่ราคาแผงละ 100 บาท เบอร์ 3 อยู่ที่ราคาแผงละ 95 บาท เบอร์ 4 อยู่ที่ราคาแผงละ 90 บาท และไข่ไก่เบอร์ 5 อยู่ที่ราคาแผงละ 80 บาท

ปรับลดขนาดไข่ไม่กระทบลูกค้า

ขณะที่ น.ส.ทิพย์สุดา แสงห้าว อายุ 30 ปี เจ้าของร้านอาหารในตลาดบางลำภู ขอนแก่น เปิดเผยว่า ราคาไข่ไก่ที่ปรับขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อร้านอย่างแน่นอน แต่ต้องยอมรับในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น และใช้วิธีการปรับเปลี่ยนต้นทุนไข่ไก่จากปกติที่เคยซื้อเบอร์ 1 ปรับลดเป็นเบอร์ 2 เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้าและไม่ต้องเสียลูกค้าไป เพราะร้านอาหารอยู่ได้เพราะลูกค้า หากจะคิดเพิ่มกับลูกค้าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม แม้จะได้กำไรน้อยลงแต่ดีกว่าเสียลูกค้าไป ส่วนนางบรรจง ทองอุทัยศิริ อายุ 59 ปี ลูกค้า เปิดเผยว่า การปรับราคาไข่ไก่ในฐานะผู้บริโภคไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้ต้องซื้อในราคาที่ร้านขาย แต่จะซื้อในจำนวนที่เหมาะสมไม่ซื้อเยอะเหมือนก่อน ทำอย่างไรได้จำเป็นต้องซื้อ แต่ถ้ารัฐบาลช่วยเรื่องราคาให้ถูกลงก็จะดี เพราะทั้งหมูและผักปรับราคาขึ้นด้วย

...

แผงขายหมูเงียบยอดขายตก

ที่ตลาดสดในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ 2-3 แห่ง พบว่าราคาไข่ไก่ที่ขายยังเป็นราคาเดิม เนื่องมาจากไข่ไก่ที่ยังค้างอยู่ที่ร้าน ยังไม่ทราบราคาไข่ที่จะขึ้นราคา ส่วนแผงขายหมูเงียบเหงาราคาเนื้อหมูอยู่ที่ 220 บาทต่อกิโลกรัม ด้านนางกมลวรรณ ปิยโชติ แม่ค้าขายหมู บอกว่า ต้นทุนราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มสูงถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม ต้องปรับราคาขายเนื้อหมูให้สูงตาม แม้ว่าพาณิชย์จังหวัดจะมาช่วยราคากิโลกรัมละ 10 บาท ในวงจำกัด 40 กิโลกรัมต่อหนึ่งวัน เพื่อช่วยผู้บริโภค แต่เห็นว่าแทบจะไม่มีลูกค้า ยอดขายตก ส่วนแนวโน้มราคาเนื้อหมูนั้น หากไม่ควบคุมให้ดีกว่านี้ คาดว่าคงจะขึ้นตลอดทั้งปี

คาดเนื้อหมูพุ่งสูงถึง 300 บาท

ที่ตลาดศรีเมือง อ.เมืองราชบุรี พบว่า ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาไข่ไก่ ยังคงขายราคาเท่าเดิม นายกิตติวิชญ์ จงเกื้อตระกูล เจ้าของร้านเจ๊หมวยไข่สด เปิดเผยว่า วันนี้ยังไม่ปรับราคาไข่ไก่ขึ้น ยังคงขายราคาเดิม แต่มีแนวโน้มราคาไข่ไก่ปรับขึ้นภายในอีก 1-2 วัน เหตุเพราะราคาอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น และอาจจะทำให้ไข่ไก่ขึ้นราคา แต่ปัญหาไข่กับหมูจะต่างกัน เพราะไข่ไก่วงจรการผลิตนั้นสั้น ไม่เหมือนราคาหมูที่ต้องใช้ระยะเวลายาว ขณะที่ น.ส.อรวรรณ ทวีผล อายุ 41 ปี เจ้าของร้านเฮียแค้ปไก่สด แผงขายไก่ในตลาดศรีเมือง เปิดเผยว่า ตอนนี้ราคาขายไก่ปรับขึ้นมาอีกกิโลละ 5 บาท เกิดจากปัญหาราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และลูกค้าส่วนใหญ่พอจะรับราคานี้ได้ จะมีลูกค้าบางรายที่มีบ่นบ้างว่า เนื้อหมูแพงแล้วอุตส่าห์เปลี่ยนมาซื้อเนื้อไก่แล้ว แต่ยังขึ้นราคาอีก แต่เมื่ออธิบายลูกค้าก็เข้าใจ ด้าน นางวรรณิสา หมื่นรักษ์ อายุ 47 ปี เจ้าของร้านเจ๊วรรณหมูสด เปิดเผยว่า ราคาเนื้อหมูสดขึ้นวันนี้มาอีก 12 บาท เรียกว่าขึ้นทุกวันพระละ 10 บาท และคาดว่าอีก 3 วันจะถึงวันพระราคาคงพุ่งไปถึง 300 บาทแน่นอน

...

ฉุดไม่อยู่ไข่แก้บนหลวงพ่อโสธร

ส่วนที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมืองฉะเชิง เทรา พบว่ายังมีประชาชนเดินทางมากราบไหว้ขอพร และนำไข่มาแก้บนตลอดทั้งวัน น.ส.ฐิติวรดา สังวิศิษฐ์ อายุ 29 ปี เจ้าของร้านขายเฟอร์นิเจอร์นำไข่ไก่จำนวน 10,000 ฟอง มาแก้บนหลวงพ่อโสธร เปิดเผยว่า ถือว่ายังโชคดีที่เตรียมการแก้บนหลวงพ่อโสธรไว้ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่ ตนเหมาไข่ไก่จากฟาร์มและจ่ายเงินมัดจำไว้เป็นที่เรียบร้อย พอวันรุ่งขึ้นมีประกาศขยับราคาไข่ไก่ ถือว่าได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะไข่คือวัตถุดิบในการดำรงชีวิต ถ้าแพงมากเหมือนเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้ถือว่าแพงมาก ส่วน น.ส.ตุ๊กตา มณีศร อายุ 25 ปี แม่ค้าขายไข่ต้ม เปิดเผยว่า สต๊อกไข่ไก่หมดคงต้องปรับขึ้นราคาไข่ต้ม แต่เดิมไข่ต้มแก้บนลูกเล็กจะอยู่ที่ 330-360 บาทต่อไข่ต้ม 100 ฟอง ไข่ต้มลูกใหญ่จะอยู่ที่ 400-500 บาทต่อไข่ต้ม 100 ฟอง อีกทั้งต้องเพิ่มความระมัดระวังและพิถีพิถันในการต้มไข่ เพราะหากต้มนานไปแล้วไข่ก็จะแตกและต้องคัดออกมาไม่สามารถขายให้ลูกค้าได้ คงต้องรอดูช่วงเสาร์-อาทิตย์ ปกติแล้วร้านจะขายได้วันละประมาณ 8,000 ฟอง หรือ 80 ตะกร้า ว่าจะมียอดลดลงไหม

โวยของแพงรับภาระไม่ไหว

นายสุรยัน สาลิกา อายุ 48 ปี เจ้าของร้านเรือนบางปลาสร้อย ขายอาหารตามสั่ง หอยทอดและ ผัดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเช้าไปตลาดของขึ้นทุกอย่าง โดยเฉพาะราคาไข่ไก่น่าจะชะลอราคาไว้ก่อน ขอฝาก ไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่สมควรที่จะขึ้นน่าจะควบคุมไว้ก่อน ราคาอาหารที่พอเหมาะพอควรแล้วไข่ไก่ขึ้นราคาจะอยู่ได้อย่างไร ผู้บริโภคต้องมารับผลกระทบ ราคาอาหารที่ร้านยังไม่ได้ขึ้นยังทนแบกรับภาระได้ ตนจะไม่ไหวอยู่แล้ว ถ้าของขึ้น อย่างนี้ต้องปรับราคาขึ้นบ้างแล้วไม่ไหวจริงๆ

...

ไก่หน้าฟาร์มขึ้น กก. 40 บาท

นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากความ ต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนเนื้อหมู ที่ราคาแพง ประกอบกับต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ที่เพิ่มต่อเนื่องมากว่า 1 ปี ทำให้ผู้เลี้ยงไก่ได้ปรับขึ้น ราคาหน้าฟาร์ม ปัจจุบันเฉลี่ยที่ กก.ละ 38-40 บาท เพิ่มจากช่วงโควิด-19 ระบาดที่ขายเฉลี่ย กก.ละ 33-35 บาท ถือว่าขึ้นไม่มาก เพราะต้นทุนคนเลี้ยงอยู่ที่ กก.ละ 36-38 บาทแล้ว

หมู ไข่ไก่ และเนื้อไก่ปรับราคา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากราคาสินค้า อาหารสด ทยอยปรับขึ้นราคา เริ่มตั้งแต่ราคาหมู ล่าสุดวันที่ 10 ม.ค. สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศราคาแนะนำขายหมู ขึ้นราคาหมูเป็น (หมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม) อีกกิโลกรัมละ 4 บาท จากวันที่ 2 ม.ค. หมูเป็น หน้าฟาร์มขยับขึ้นมาอยู่ที่ กก.ละ 110 บาท ส่วนราคา แนะนำขายส่งห้างค้าปลีก กก.ละ 176 บาท และราคา แนะนำขายปลีก กก.ละ 218-220 บาท แต่ราคาขาย ในตลาดสดทั่วไปที่รับหมูเนื้อแดงมาเป็นทอดที่ 2 หรือ 3 ราคาใกล้เคียง กก.ละ 250 บาทแล้ว นอกจากนี้ ยังมีราคาไข่ไก่และไก่เนื้อที่ปรับขึ้นอีก โดยสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ได้ทำหนังสือแจ้งสมาชิกเพื่อปรับขึ้นราคาแนะนำไข่ไก่คละ หน้าฟาร์ม เกษตรกร เป็นฟองละ 3.00 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ขณะที่สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แจ้งปรับ ขึ้นราคาไก่หน้าฟาร์มเป็น กก.ละ 37-39 บาท ให้เหตุผล ต้นทุนเพิ่มและคนหันมากินไก่แทน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

“จุรินทร์” เบรกขึ้นราคาไข่ไก่–เนื้อไก่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ราคาไข่ไก่และเนื้อไก่ทยอยปรับขึ้นราคาว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่อนุญาตให้มีการขึ้นราคาสินค้าดังกล่าว ต้องหารือ ในรายละเอียดก่อน หากผู้ค้ารายใดฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขายจะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค มอบหมายให้อธิบดีกรมการค้า ภายในไปติดตามราคาเนื้อไก่และไข่ไก่ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับกรณีที่เนื้อหมู ได้ขึ้นราคาไปแล้ว ขณะเดียวกัน ยังจะต้องช่วยเหลือดูแลเกษตรกรรายย่อยด้วย จะต้องสร้างความสมดุลกันระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกรรายย่อย

ขายหมูถูก 600 จุดทั่วไทย

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูอย่างเร่งด่วน หลังจากเนื้อหมูขึ้นราคาไปแล้วนั้น ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคาเนื้อหมู ที่จัดจุดขายหมูเนื้อแดง กก.ละ 150 บาท กว่า 600 จุดทั่วประเทศ จนถึงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ การดำเนินการต่อเนื่องในระยะแรกตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค.64 รวมถึงจะเสนอของบกลางจากรัฐบาล เพื่อนำมาช่วยชดเชยราคาในโครงการนี้ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงที่ตรึงไว้ที่ กก.ละ 150 บาท เพื่อให้มีกำลังใจ ในการเลี้ยงหมูต่อไป และไม่ให้เกิดภาวะหมูขาดแคลนในอนาคต ในวันที่ 11 ม.ค.นี้ จะชี้แจงด้วยวาจาให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบก่อนในเบื้องต้น สำหรับการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศนั้น จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะจะต้องระมัดระวังโรคติดต่อ ที่มากับหมู และสุขอนามัย รวมถึงข้อกดดันทางการค้า อื่นๆประกอบด้วย

ปศุสัตว์แจงเชื้ออหิวาต์แอฟริกา

ตามที่ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ประกอบด้วยคณะแพทย์ในประเทศไทยทั้ง 14 สถาบัน มีหนังสือถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ เรื่องข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาด และการควบคุมโรคในสุกร หลังหน่วยงานสัตวแพทยศาสตร์ไทยพบเชื้ออหิวาต์แอฟริกา ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบเชื้อต่อกรมปศุสัตว์ไปแล้วนั้น ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ยังไม่เคย ได้รับหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะนี้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวโดยด่วน เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ขอยืนยันว่าตนมิได้เพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าว ตรงกันข้ามกลับมีความร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในการจัดทำแผนเตรียมความพร้อม รับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตั้งแต่เริ่มมีการระบาดที่ประเทศจีน และรัฐบาลเห็นความสำคัญยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการป้องกันมิให้โรคเข้าประเทศ

โต้ส่งหนังสือไปถึงปศุสัตว์แล้ว

ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะ ประธานภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทำหนังสือแจ้งไปยังกรมปศุสัตว์ เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร หลังตรวจพบว่าผู้เลี้ยงหมูแคระนำซากมาส่งชันสูตรโรค ก่อนจะพบว่าติดเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในซากสุกร ขั้นตอนการส่ง เป็นไปตามขั้นตอนปกติ ส่งไปที่เจ้าพนักงานที่กรม ตนเป็นคนลงนามในหนังสือเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. แล้วให้ เจ้าหน้าที่ของคณะสัตวแพทย์ ที่บางเขน ขับรถตู้นำเอกสารโดยมีสมุดคุมทะเบียนสีน้ำเงินไปส่งที่กรมปศุสัตว์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เป็น คนเซ็นรับ กรณีอธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุว่า ไม่เห็นหนังสือดังกล่าว เรื่องนี้เป็นเรื่องสารบัญข้างในของกรม ไม่สามารถไปให้ความเห็นได้ เจตนารมณ์ของภาคการศึกษาและสถาบันต้องการที่จะให้การช่วยเหลือ อย่างเต็มที่ และอยากเห็นว่าการแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่าง ตรงจุด ตรงสาเหตุของปัญหา ถ้ามันไม่ตรงมันแก้ไม่ได้ ทำหน้าที่ของเราทางวิชาการ จะทำอย่างไรให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรได้ตามปกติ

ค่าเรือแสนแสบปรับขึ้นราคา

นอกจากนี้ ค่าสาธารณูปโภคยังขึ้นราคาด้วย นายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ผู้ให้บริการเดินเรือโดยสารคลองแสนแสบ เปิดเผยว่า บริษัทจะเริ่มปรับราคาค่าโดยสารเดินเรือคลองแสนแสบจากท่าวัดศรีบุญเรือง-สะพานผ่านฟ้า หลังจากตรึงราคาค่าโดยสาร ตามประกาศที่ได้รับอนุมัติจากกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ปี 63 เป็นเวลากว่า 600 วัน แต่เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจและสถาน การณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้บริษัททนแบกรับภาระไม่ไหว มีความจำเป็นต้องปรับค่าโดยสารตามระยะโดยขึ้นระยะละ 1 บาท ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.เป็นต้นไป ทั้งนี้ การปรับค่าโดยสารครั้งนี้ บริษัทได้ติดประกาศแจ้งเตือนผู้โดยสารที่ใช้บริการทราบล่วงหน้าแล้ว ขณะที่ ปตท.ปรับค่าน้ำมันทุกชนิด 40 สตางค์ ยกเว้นอี 85 ปรับ 20 สตางค์ มีผลวันที่ 11 ม.ค.นี้