ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนปี 2565 อาจเป็นปีที่มีฝนแปรปรวนอีกครั้ง เพราะสภาวะอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมีแนวโน้มพลิกจากเย็นไปร้อน ขณะนี้อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก มีสภาวะเป็นลานีญา โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้ส่งผลให้ภาคใต้ที่รับลมที่มาจากมหาสมุทรแปซิฟิก เกิดน้ำท่วมติดๆกันถึง 3 ครั้งซ้อนใน จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และคาดว่าในเดือน ม.ค.2565 ภาคใต้ยังมีแนวโน้มฝนตกมากกว่าค่าปกติและยังเสี่ยงเกิดน้ำท่วมขึ้นได้ และจากการวิเคราะห์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งส่งผลต่อสภาพอากาศและฝนในประเทศไทย ล่าสุด สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ฝน ปี 2565 จะมีฝนตกเร็วโดยจะมีฝนจากพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้งตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย.ต่อเนื่องถึงฤดูฝนในเดือน พ.ค.มีฝนตกมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทยตอนบน ทำให้สถานการณ์แล้งของปี 2565 ไม่รุนแรงมาก

ผอ.สสน.กล่าวต่อว่า แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง พบว่าจากสภาวะลานีญาจะกลับมาเป็นกลางในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค.ส่งผลให้ประเทศไทยจะมีฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย.และจะมีฝนกลับมาตกเพิ่มขึ้นช่วงเดือน ก.ค. แต่หลังจากนั้นจะพบว่าฝนตกน้อยกว่าปกติในช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค. จากการพลิกกลับไปเป็นสภาวะเอลนีโญ

ดร.สุทัศน์กล่าวอีกว่า หากปีนี้สถานการณ์เกิดขึ้นจริงตามนี้ก็น่าเป็นห่วงมาก เพราะช่วงที่เขื่อนจะมีน้ำไหลลงอย่างเป็นกอบเป็นกำเพื่อเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไปในปี 2566 ต้องมีฝนตกมากในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. อีกทั้งในฤดูแล้งปี 2564/2565 น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักของภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีน้ำต้นทุนน้อย เขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การเพียง 4,268 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อน ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำใช้การเพียง 1,546 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 16% ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อน ซึ่งจะให้เขื่อนทั้ง 2 กลับมามีน้ำต้นทุนปกติจะต้องมีฝนตกในภาคเหนือตอนบนมาก แต่หากฝนตกน้อยกว่าปกติต่อเนื่องอีก ก็จะกระทบกับน้ำต้นทุนที่จะใช้ในปีต่อไป ซึ่งจำเป็นจะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างละเอียดรอบคอบ.

...