หลังสิ้นฤดูฝน อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.น่าน ที่อยู่ในการดูแลของกรมชลประทาน มีปริมาณน้ำที่จัดสรรรวม 30.22 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 70 ของปริมาณกักเก็บ

นายนิพนธ์ ฟูศรี ผอ.โครงการชลประทานน่าน บอกถึงแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ให้ความสำคัญในการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก 2.7 ล้าน ลบ.ม. เพื่อน้ำรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำอีก 3 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรปลูกพืชฤดูแล้งไว้ 15 ล้าน ลบ.ม. ปลูกพืชได้รวม 19,300 ไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรัง 2,100 ไร่ พืชไร่-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 13,900 ไร่ นอกจากนี้จะต้องยังสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝน (พ.ค.–ก.ค.) อีก 10 ล้าน ลบ.ม.

“กรมชลประทานมั่นใจว่าแผนการจัดสรรน้ำที่เตรียมไว้จะทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพียงพอสำหรับประชาชนไปจนสิ้นฤดูแล้ง พื้นที่ชลประทานจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน”

ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน กรมชลประทานได้เตรียมเครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่อง พร้อมเข้าช่วยเหลือได้ทันที โดยประชาชนแจ้งเหตุเพื่อรับการช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานน่าน โทร. 0-5471-6185

และเพื่อแก้ปัญหาน้ำระยะยาว กรมชลประทานจะดำเนินการ 2 โครงการสำคัญ โครงการงานเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักอ่างเก็บน้ำน้ำแหงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.นาน้อย จากเก็บกักน้ำได้ 13 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเป็น 15.73 ล้าน ลบ.ม. และโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ บ.หาดผาขน ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง เพื่อสนับสนุนพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่มะม่วงน้ำดอกไม้ 500 ไร่

นอกจากนี้ ภายในปี 2572 ยังมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำอีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ อ.ท่าวังผา ความจุ 52 ล้าน ลบ.ม. โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกอน อ.เชียงกลาง ความจุ 73.73 ล้าน ลบ.ม. โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เฉลิมพระเกียรติ ความจุ 46.09 ล้าน ลบ.ม. และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจ๊วก พร้อมอาคารประกอบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.นาหมื่น ความจุ 3 ล้าน ลบ.ม.

...

เมื่อทั้ง 4 โครงการแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้รวม 174.82 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 75,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 52 หมู่บ้าน 13 ตำบล ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเริ่มโครงการทั้ง 4 ภายในปี 2566 เป็นต้นไป.

สะ–เล–เต