ปัญหาหมูแพง ทำแผงหมูที่นครสวรรค์ครวญราคาสูงขายไม่ได้ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งควบคุมด่วน ด้านเขียงหมูในตลาดที่อุบลฯ เจอผลกระทบยอดขายตกคนซื้อลดลง ส่วนแม่ค้าตามสั่งโอดต้นทุนเพิ่มงดหมูกรอบ

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ราคาหมูสดทั่วประเทศมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบให้การค้าขายในพื้นที่ตลาดสดจังหวัดนครสวรรค์เป็นไปด้วยความเงียบเหงามีลูกค้าเข้ามาซื้อหมูตามแผงค้าลดน้อยเป็นจำนวนมาก

นายยุทธนา พิศาลวาปี เจ้าของเขียงหมูในตลาดสดบ่อนไก่ เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ลูกค้าที่เคยมาซื้อหมูเป็นประจำต่างลดภาระค่าใช้จ่ายโดยการซื้อเนื้อหมูน้อยลงหรือซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้นเนื่องจากราคาหมูปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดราคาขายหน้าแผงทะลุกิโลกรัมละ 240 บาท และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการขายหมูฟาร์มอ้างว่ามีหมูเป็นในฟาร์มปริมาณน้อย จึงทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นจากราคาหมูเป็น 80-100 บาท เป็นราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก

...

เบื้องต้นจากราคาหมูที่สูงเริ่มส่งผลกระทบเขียงหมูและผู้บริโภคหนักขึ้นแล้ว โดยเขียงหมูจากที่เคยขายได้วันละหลายร้อยกิโลกรัมตอนนี้ขายได้ไม่กี่สิบกิโลกรัมเท่านั้น ล่าสุดได้ปรับวิธีการขายโดยใช้พรีออเดอร์หรือจำหน่ายตามลูกค้าสั่งเท่านั้น เนื่องจากหากซื้อหมูมาเก็บไว้ขายตามปกติ ก็จะประสบปัญหาภาวะการขาดทุนเนื่องจากลูกค้าเข้ามาซื้อลดน้อยลง จึงอยากวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการค้าภายในเข้ามาควบคุมราคาด้วยเนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าเดือดร้อนมาก

ด้านที่ตลาดสันติสุข อ.เมืองอุบลราชธานี พบว่าราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์เกือบ 30-40 บาทต่อกิโลกรัม โดยกลุ่มเนื้อแดงเดิมขายกิโลกรัมละ 140-150 บาท ก้าวกระโดดขึ้นเป็น 190 บาท เนื้อสันนอก สันใน สันคอ กิโลกรัมละ 160-180 บาท เป็น 200-220 บาท

ผู้ขายเขียงเนื้อของตลาดระบุว่า ไม่เคยปรากฏมีราคาที่ขึ้นรวดเร็วเช่นนี้มาก่อน ทำให้เกิดผลกระทบกับยอดการขาย เพราะลูกค้าได้ปรับปริมาณการซื้อลดลง จากเดิมเคยซื้อหนึ่งกิโลกรัมก็ปรับมาเหลือเพียงครึ่งกิโลกรัม บางคนซื้อแค่ 2-3 ขีดก็มี ทำให้ยอดหายไปเกือบร้อยละ 40 ส่วนที่ราคาเนื้อหมูปรับสูงต่อเนื่อง ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน เพียงได้รับแจ้งจากสายส่งว่า มีหมูตายจากโรคระบาด รวมทั้งผู้ค้าหมูเจอกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูง ไม่อาจทนแบกรับภาระต้นทุนมาเป็นเวลานาน จึงทยอยปรับราคาขึ้นตามความเป็นจริงของกลไกการตลาด

...

ลูกค้าที่เป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง กล่าวว่า เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ซื้อเนื้อหมูสไลด์หั่นชิ้นคุณภาพปานกลางจากห้างสรรพสินค้ากิโลกรัมละ 159 บาท แต่วันจันทร์ที่ผ่านมาปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 177 บาท และวันนี้ ปรับขึ้นเป็น 187 บาทแล้ว ซึ่งไม่เคยพบเห็นการปรับขึ้นราคาในระยะสั้นๆ ไม่กี่วันเกือบ 30 บาท ที่ผ่านมาอย่างเก่งเดือนหนึ่งปรับขึ้นแค่ 5-10 บาทเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ น.ส.จุฬาลักษณ์ สัวกิตติกุล เจ้าของร้านโกตาหมูสด ที่ตลาดสดร่วมใจ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า หมูราคาขึ้นมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว เนื่องจากหน้าฟาร์มส่งหมูให้ในราคาแพงขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นทางร้านจึงต้องขึ้นราคาหมูตามไปด้วย ในปีนี้ราคาหมูแพงมาก แพงกว่าปีที่ผ่านมา การที่หมูราคาแพงจึงส่งผลระทบต่อทั้งผู้ขายและลูกค้า เพราะผู้ขายต้องรับหมูมาขายน้อยลง และเนื่องจากเศรษฐกิจที่ซบเซาแบบนี้ก็ส่งผลกระทบต่อลูกค้าตามไปด้วย ลูกค้าที่เคยซื้อหมูในราคาถูกกว่านี้ มาในปีนี้ทางร้านก็เสียลูกค้ากลุ่มนั้นไป ทำให้กำไรน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาหมูหน้าฟาร์มจะขึ้นราคาหมูทุกส่วน แต่ทางร้านไม่สามารถขึ้นราคาหมูทุกส่วนได้ เพราะบางอย่างหากราคาแพงไปอีกลูกค้าก็จะรับไม่ได้เลย แล้วก็จะไม่ซื้อ จึงอาจทำให้ลูกค้าหายหมด และยิ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้อาจมีราคาเพิ่มขึ้นอีก

...

สำหรับราคาหมูสามชั้นมีราคาสูงกว่าเนื้อหมูส่วนอื่นๆ จากเดิม กก. ละ 180 บาท ในปีนี้ราคาแพงถึง กก. ละ 200 บาท ส่วนสะโพกจากเดิม กก. ละ 120 บาท ขึ้นมาเป็น 180 บาท สันคอจากเดิม กก. ละ 150 บาท ขึ้นมาเป็น 220 บาท สันในจากเดิม กก. ละ 170 บาท ขึ้นมาเป็น 180 บาท หมูบดจากเดิม กก. ละ 140 บาท ขึ้นมาเป็น 170 บาท ส่วนซี่โครงจากเดิม กก. ละ 140 บาท ขึ้นมาเป็น 170 บาท

...

ด้านบรรดาอาหารตามสั่ง ได้รับผลกระทบจากหมูแพงนั้น ก็ต้องปรับตัวเอง เช่น ร้านอาหารตามสั่งของ นางทรัพย์ เสระพันธุ์ หรือ “ยายเตี้ย” ย่านวัดราชบูรณะ ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก หลังจากหมูแพงมาหลายวัน อย่างที่ไม่เคยมีราคาสูงเช่นนี้มาก่อน ร้านตนเองก็ต้องปรับตัว จากซื้อหมูชิ้นทีละมากๆ ก็ต้องหันไปซื้อหมูบด มาทำเป็นอาหารให้ลูกค้า และต้องบอกลูกค้าว่า เมนูหมูบางอย่างไม่สามารถทำให้ได้ โดยเฉพาะเมนูกะเพราหมูกรอบ ซึ่งร้านตนเองไม่กล้าซื้อหมูมาตุนมากๆ แต่ร้านตนเองก็ไม่ได้ปรับราคาขายขึ้นแต่อย่างใด ก็ต้องทนรับภาระไปก่อน อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลและช่วยเหลือราคาหมูอย่างจริงจัง.