อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ผู้เดินทางเข้าไทยที่ตรวจพบติดเชื้อ 1 ใน 4 เป็นโอมิครอน เจอหลุดรอดจาก Test & Go แล้ว เตรียมเสนอปรับมาตรการให้เข้มขึ้น รอ ศบค.พิจารณา ชวนประชาชนฉีดวัคซีนเข็ม 3

วันที่ 20 ธ.ค. 2564 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ถึงสถานการณ์การติดเชื้อของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน หรือ โอไมครอน (Omicron) ว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว 89 ประเทศทั่วโลก ส่วนสายพันธุ์ย่อย พบแล้ว 3 พันธุ์ คือ BA.1, BA.2 และ BA.3 โดยสายพันธุ์ที่ระบาดหลักคือ BA.1 พร้อมยืนยันว่าการตรวจ 5 ตำแหน่งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วินิจฉัยได้ ขอให้มั่นใจ อย่าวิตกกังวลในเรื่องนี้

ในส่วนของการระบาดของโอมิครอน กรณี R0 คือ ประชากรที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อดังกล่าว จะสามารถแพร่ได้ 8.54 เท่า เปรียบเทียบกับสายพันธุ์อู่ฮั่นเดิม 2.5 เท่า เดลตา 6.5 เท่า ซึ่งในที่สุดโอมิครอนก็อาจจะเบียดเดลตาไปได้ ส่วนความรุนแรงนั้นยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด ขณะข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า วัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) จะช่วยเพิ่มศักยภาพหรือประสิทธิผลวัคซีน เพราะฉะนั้น การที่ไทยมีนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เป็นเรื่องถูกต้องและจะช่วยลดปัญหาลง ไม่ว่าจะไฟเซอร์ หรือ แอสตราเซเนกา หากมีการฉีดกระตุ้นจะเกิดภูมิคุ้มกันมากขึ้น และเพียงพอต่อการจัดการ

สำหรับประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์กำลังเพาะเชื้อ และเป็นข่าวดีว่าเชื้อขึ้นมามากพอสมควร จากนั้นจะเริ่มนำมาทดลองกับผู้ที่ฉีดวัคซีนในสูตรวัคซีนของบ้านเรา จะทดลองกับเชื้อโอมิครอนเป็นๆ ว่าจะสามารถยับยั้งได้มากน้องเพียงใด คาดว่าช่วงปีใหม่จะได้ผลออกมา

ทางด้านสถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอน รวมแล้ว 63 ราย และยังมีอีก 20 กว่ารายรอยืนยันสายพันธุ์ ขณะที่ภาพรวมของประเทศยังเป็นสายพันธุ์เดลตา ทำให้สัดส่วนของโอมิครอนในไทยในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.26% จากสัปดาห์ที่แล้วไม่ถึง 1% อีกทั้งพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ RT-PCR เป็นบวกแล้วส่งมาตรวจสายพันธุ์พบเป็นโอมิครอน พบมากขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยข้อสรุปของโอมิครอนมีดังนี้

...

1. พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับสถานการณ์โลก

2. ทุกรายยังมีความเชื่อมโยงกับการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ไม่มี Index case ในประเทศไทย

3. สัดส่วนของผู้เดินทางเข้าประเทศ (Test & Go, Sandbox, AQ) ที่ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์โอมิครอนถึง 1 ใน 4 หรือคิดเป็น 25%

4. การตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมง ก่อนมา และตรวจ RT PCR เพียงครั้งเดียว เมื่อมาถึงประเทศไทยยังทำให้ผู้ป่วย 1 ราย หลุดไปได้ เข้ามาในระบบ Test & Go เนื่องจากอยู่ในระยะฟักตัว (Window Period) หลังจากนั้น 2-3 มีอาการและตรวจพบเป็นผลบวก ก่อนจะยืนยันสายพันธุ์เป็นโอมิครอน จึงอาจพิจารณาปรับมาตรการ Test & Go อาจจะทำให้มีเคสหลุดจนอาจเป็นคลัสเตอร์ในประเทศ

5. การตรวจจับสายพันธุ์ ยังทำได้ตามปกติ ทั้งแบบเบื้องต้น (Potentially วันเดียวรู้ผลว่าจะเป็น) และแบบยืนยัน (Confirmed) คือการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ยังสามารถตรวจจับโอมิครอนได้ ไม่มีหลุดรอดแน่ ขอให้ความมั่นใจ

นายแพทย์ศุภกิจ ย้ำว่า การบูสเตอร์โดสยังมีความจำเป็น และน่าจะมีการบูสเตอร์ตามกำหนดโดยเร็ว รวมถึงผู้ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนก็ขอให้รีบเข้ามารับวัคซีนโดยเร็ว เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น โดยในช่วงท้ายระบุด้วยว่าจะมีการพิจารณาทบทวนมาตรการ Test & Go เนื่องจากมีโอกาสที่เชื้อจะหลุดออกไปได้ เพราะมีให้เห็นแล้ว จึงต้องมีการทำมาตรการให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับ ศบค. ว่าจะมีการพิจารณาดำเนินการอย่างไร เพราะถ้าหลุดออกมามากก็มีโอกาสที่ประเทศจะต้องกลับมาล็อกดาวน์ซ้ำ.