เปิดภาพ "ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี" เป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ ส่งท้ายปี 2564 ท่ามกลางลมหนาวเย็น
วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 7 ธันวาคม ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีผู้ปกครองพาบุตรหลาน เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ และประชาชนทั่วไป ไปชมปรากฏการณ์เหนือท้องฟ้าช่วงค่ำพระอาทิตย์ตกดินไปจนถึงช่วง 2 ทุ่ม ชมดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม


...
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง 7 ตัว ให้บริการส่องดูดาว ซึ่งมองเห็นเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ อยู่ในระยะวงโคจรใกล้ดวงจันทร์ที่มีลักษณะเป็นเสี้ยวเหมือนกัน ส่องแสงสว่างโดดเด่นอยู่บนท้องฟ้า สร้างความประทับใจแก่เด็กๆ และนักท่องเที่ยวท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น ท้องฟ้าโปร่ง มองเห็นดาวศุกร์และดวงจันทร์ชัดเจน นอกจากนี้ยังสามารถส่องกล้องโทรทรรศน์มองเห็นดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี ที่อยู่ในวงโคจรใกล้เคียงกันอีกด้วย

เช่นเดียวกับ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พบว่า ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ได้พากันไปชมความสวยงามของดาวศุกร์ ที่ปรากฏสว่างที่สุดในรอบปี (The Greatest Brilliancy) หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ซึ่งท้องฟ้าปลอดโปร่ง มองเห็นดาวศุกร์สว่างสุกใส เปล่งประกายชัดเจนทางทิศตะวันตก ท่ามกลางอากาศเย็นสบายในช่วงหัวค่ำ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เผยว่า ช่วงค่ำวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดในรอบปี สว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น.
ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม มีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่นๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
...

สำหรับ ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า และเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ตำแหน่งของดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 47 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหรือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือเวลากลางดึก หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า "ดาวประจำเมือง" แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า "ดาวประกายพรึก".