น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย อันหาที่สุดมิได้
ในโอกาสที่วันพรุ่งนี้ (5 ธ.ค.) เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9
5 ธันวาฯมหาราช วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติของปวงชนชาวไทย
ทรงสร้างคุณูปการต่อประเทศไทย คนไทย มากมายมหาศาล หนึ่งในนั้นคือ แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พระองค์มีพระราชดำรัส อธิบายหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในหลายวาระ
ขอยกมาย้ำ ณ ที่นี้ เป็นบางส่วน
“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” ให้ไว้ ณ วันที่ 18 ก.ค.2517
“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” (4 ธ.ค.2517)
“...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ 200-300 บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนกไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...” (17 ม.ค.2544)
...
ที่ต้องนำมาตอกย้ำแบบนี้ เพราะมีคนบางส่วนยังไม่เข้าใจในหลักปรัชญานี้อย่างแท้จริง
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย
1.ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภค ที่อยู่ในระดับพอประมาณ
2.ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
3.ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ขนาด สหประชาชาติ ยังยกย่องแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเอเชีย จนถูกนำไปบรรจุในแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ชาติสมาชิกนำไปปฏิบัติ
แนวคิดของพระองค์ถูกยกย่องให้เป็นหลักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ของโลก
หันมาดูในบ้านเรา พระองค์ท่านทรงให้หลักคิดนี้ไว้นานกว่า 47 ปีแล้ว
ทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลนี้ ชูเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวในการบริหารประเทศ
แต่ระยะเวลาอันยาวนานกว่า 47 ปี พิสูจน์ชัด
ฝ่ายปฏิบัติคือรัฐบาล ไร้ความจริงใจ ได้แต่ท่องกันเป็น “นกแก้วนกขุนทอง”.
เพลิงสุริยะ