• ผวาโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ "โอไมครอน" องค์การอนามัยโลกระบุเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ส่งผลหลายชาติสั่งงดการเดินทาง จากทวีปแอฟริกาตอนใต้ รวมถึง "ไทย" ด้าน สธ.สั่งระงับคนจาก 8 ประเทศ
  • สธ.ยัน "โอไมครอน" ยังไม่เข้าไทย ย้ำ "มีเตียง-ยารักษา" เพียงพอ พร้อมกระตุ้นคนฉีด "วัคซีน" ป้องกัน ยันวัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพป้องกัน "โอไมครอน"
  • นายกฯ สั่งจับตา "โอไมครอน" สธ.เผยตำแหน่งกลายพันธุ์เยอะ "หวั่นแพร่เร็ว-หลบภูมิคุ้มกัน" เผยอาการใกล้เคียง "เดลตา" ห่วงเข้าไทยทางบก เข้มป้องกันพรมแดนทุกด้าน 

แม้สถานการณ์ "โควิดฯ" ไทยจะ "ดีวันดีคืน" ตามตัวเลขที่ ศบค.อัปเดตรายวัน ยอด "ป่วย-ตาย" ลดลงต่อเนื่อง หลากหลายวิถีเริ่มขยับปรับตัว ค่อยๆกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ยังไม่ทันเท่าไร ข่าวคราวเชื้อร้ายก็หวนปะทุ สร้างความ "หวาดวิตก" อีกครั้ง หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันแล้วว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กลายพันธุ์ตัวล่าสุด "B.1.1.529" หรือที่มีชื่อใหม่ว่า "โอไมครอน" น่าวิตกกังวลจริง!!! ทั้งในแง่ติดเชื้อง่าย แพร่กระจายเร็ว และมีแนวโน้มดื้อต่อวัคซีนที่มีอยู่ ส่งผลให้หลายชาติสั่งงดการเดินทางจากทวีปแอฟริกาตอนใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

...

นายกฯ สั่งจับตาพิเศษ "โอไมครอน"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความลงเพจเฟซบุ๊ก หลังมีการตรวจพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ในทวีปแอฟริกา ที่องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อว่า "โอไมครอน" เป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และอาจแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิมนั้น กระทรวงสาธารณสุขติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด และรายงานตนตลอดเวลาต่อเนื่องว่า จะส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทยบ้าง เบื้องต้นประเทศในทวีปแอฟริกาไม่ได้รวมอยู่ใน 63 ประเทศ/พื้นที่ ที่ไทยอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ขอย้ำว่าไทยยังไม่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิดฯ สายพันธุ์ใหม่นี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งหน่วยงานคัดกรองที่จุดต่างๆ ให้จับตามองและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ 

"WHO" กังวล สธ.ยันไทยยังไม่พบเชื้อ 

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงเชื้อไวรัสโควิดฯ กลายพันธุ์ว่า องค์การอนามัยโลกจัดสายพันธุ์ต่างๆ ที่กลายพันธุ์ โดยก่อนหน้ามี 4 สายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล หรือ variants of concern (voc) คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา เดลตามีสัดส่วนครองโลกมากที่สุด อัลฟาบางประเทศได้ถอดออกจากสายพันธุ์น่ากังวลแล้ว ล่าสุดมีสายพันธุ์ที่ต้องติดตามใกล้ชิด เป็นน้องใหม่ B.1.1.529 และองค์การอนามัยโลกยกระดับชั้นเป็นอีกสายพันธุ์น่าห่วงกังวล พร้อมตั้งชื่อว่า "โอไมครอน" เริ่มพบเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. ที่ประเทศบอตสวานา และระบาดไป 5-6 ประเทศใกล้ๆ และมีคนที่เดินทางจากประเทศเหล่านี้ไปฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอล เป็นต้น ตรวจเจอข้อสำคัญพบว่า คนได้รับวัคซีนครบแล้ว วัคซีนไม่การันตีว่า จะไม่ติดเชื้อ ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ที่ผ่านมาตรวจและรายงานเข้าระบบ GISAID แล้ว 7 พันกว่าตัวอย่าง ยังไม่มีสายพันธุ์ B.1.1.529 แต่ไม่ประมาทในการตรวจตราต่อไป 

ตำแหน่งกลายพันธุ์เยอะ หวั่นแพร่เชื้อง่าย-หลบภูมิคุ้มกันได้

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สายพันธุ์โอไมครอนที่ถูกยกเป็นสายพันธุ์ที่ห่วงกังวล เนื่องจากตัวไวรัสโควิดฯ มีตำแหน่งยีน 30,000 ตำแหน่ง โอไมครอนกลายพันธุ์ถึง 50 ตำแหน่ง ที่สำคัญ 32 ตำแหน่งอยู่บนสไปค์โปรตีน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของหนามโปรตีนที่จะมาจับเซลล์มนุษย์ และเข้าไปทำอันตราย ขณะที่เดลตากลายพันธุ์ที่สไปค์โปรตีน 9 ตำแหน่ง บางตำแหน่งเคยพบในสายพันธุ์น่ากังวลเก่าๆ บางส่วนเป็นตำแหน่งใหม่ที่ไม่เคยพบในตัวเก่า ต้องจับตาว่าตำแหน่งที่กลายพันธุ์นั้นจะมีปัญหาหรือไม่ ตรงนี้เป็นข้อสันนิษฐานจากตำแหน่งการกลายพันธุ์ว่า บางส่วนอาจเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อมากขึ้น หรือหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร และเป็นข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่ที่ตรวจพบว่า แต่ละรายที่ตรวจพบมีค่าความเข้มข้นสูง ตรวจหาง่าย สะท้อนว่าอาจแพร่ติดเชื้อง่ายหรือเร็วขึ้น แต่ข้อมูลในสนามจริงยังมีไม่เพียงพอ ต้องติดตามข้อมูลต่อไป 

ตั้งสติใช้ชีวิต ห่วงเข้าไทยทางบก จี้กวดขัน 

...

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ขอให้ตั้งสติในการใช้ชีวิต และมาตรการทั่วไปในการป้องกันโรคยังใช้ได้ ทั้งเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือ โดยไวรัสตัวนี้ตรวจได้ด้วยระบบ RT-PCR ตามปกติ เมื่อผลบวกแล้วมาถอดรหัสพันธุกรรมจะรู้ว่ามีมากน้อยเพียงใด เวลามีการกลายพันธุ์ช่องทางเข้าที่เราระวังมาก คือ ทางอากาศไม่ค่อยเป็นปัญหา มีมาตรการครบถ้วน สิ่งที่กังวลคือช่องทางบก กว่า 4,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ ขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขัน เป็นความมั่นคงของประเทศและประชาชนที่ข้ามไปมาแล้วไม่บอกกล่าว ไม่เกิดปัญหาเฉพาะท่าน แต่เกิดภาพรวมสังคมประเทศด้วย 

เข้มระวังพื้นที่พรมแดนทุกด้าน 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ถ้าเพื่อนบ้านมีการระบาดไม่ว่าทางใต้ ตะวันตก หรือตะวันออก ต้องใส่ใจเพิ่มขึ้น การดูแลพรมแดนคนเข้าออกเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการเปิดด่านทางบกนั้น เน้นประเทศเพื่อนบ้านที่ปลอดภัย นำร่องที่ จ.หนองคาย ไม่ได้เปิดทั้งหมด ส่วนระบบ Test&Go ไม่ได้เพิ่มประเทศในทวีปแอฟริกาเลย ที่ประชุมรับทราบและมีมติทวีปแอฟริกาไม่ให้เข้าระบบนี้ ประเทศที่เข้า Test&Go ยังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์นี้ และมีระบบเฝ้าระวังทั่วโลก แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อย่างฮ่องกงเป็นเคสนำเข้า ยังไม่มีปัญหา  

...

สั่งระงับ 8 ชาติแอฟริกาเข้าไทย

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า จากการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกฯ สั่งการให้ติดตามสายพันธุ์โอไมครอน และดำเนินมาตรการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย เบื้องต้นสายพันธุ์โอไมครอน ข้อมูลเชิงระบาดมีความสามารถหลบหลีกวัคซีนและยา ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ทั่วโลกกำลังร่วมจับตา โดยไทยมีการจับตาใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างประเทศทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ องค์การอนามัยโลก และมีการวางมาตรการ ดังนี้ การเดินทางเข้าราชอาณาจักรสำหรับประเทศในทวีปแอฟริกา ประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอนใน 8 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว เป็นกลุ่มประเทศที่มีการระบาด ผู้ที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าประเทศมาแล้ว จะมีการสั่งกักตัวเพิ่มเป็น 14 วัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และไม่อนุญาตให้คนที่เดินทางจาก 8 ประเทศดังกล่าวมาสู่ราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 รวมถึงไม่อนุญาตให้มีการลงทะเบียนเข้าสู่ประเทศไทยในระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น COE หรือ Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. เป็นต้นไป 

คุมเข้มคนกาฬทวีปที่เข้าไทยแล้ว เผยมีกว่า 1 พันคน 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาหรือนอกเหนือจาก 8 ประเทศดังกล่าว จะไม่อนุญาตให้เข้ามาในรูปแบบ Test and Go รวมถึงแซนด์บ็อกซ์ คนที่เข้ามาแล้วต้องอยู่ในสถานกักตัวที่ทางราชการกำหนดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน และต้องมีการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ 3 ครั้ง วันแรกในวันที่ 5-6 และวันที่ 12-13 ข้อปฏิบัติคือไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ได้แจ้งสายการบินประเทศต่างๆ และกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการแล้ว ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้ามาแล้วนั้น ให้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 64 แต่จะต้องมีการกักตัวให้ครบเป็นเวลา 14 วัน สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากแถบแอฟริกาตอนใต้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการระบาดนั้น ได้มีการเก็บข้อมูลในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา พบคนที่เดินทางมาจาก 12 ประเทศ จำนวน 1,007 คน ในสายการบินต่างๆ เข้ามาในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ที่ภูเก็ต ตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดฯ อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ต้องดำเนินการต่อเนื่องและติดตามข้อมูลใกล้ชิด 

...

ย้ำวัคซีนคือ "ทางรอด" เข้มมาตรการป้องกันครอบจักรวาล 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อมีตลอดเวลา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แถบทวีปแอฟริกาใต้กลายพันธุ์มาก นอกจากการป้องกันแล้ว วัคซีนก็เป็นอีกปัจจัย ทวีปแอฟริกามีคนฉีดวัคซีนน้อย สิ่งที่ประชาชนจะร่วมกันทำให้ประเทศปลอดภัย คือ ร่วมกันฉีดวัคซีน คนฉีดไปแล้ว 2-3 เข็มกังวลว่าภูมิจะตกหรือไม่ จากการติดตามคนฉีดครบ 2 เข็ม ภูมิจะอยู่ระดับดีมาก 5-6 เดือน คนฉีดครบ 2 เข็มไปแล้วไม่ว่าสูตรใดๆ ให้รอฟังประกาศของ สธ. เราเตรียมวัคซีนบูสเตอร์โดสไว้แล้ว เพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ลดการติดเชื้อ สำคัญคือลดป่วยหนักและเสียชีวิต แต่วิธีการที่จะช่วยกันได้นั้น ยังเป็นมาตรการป้องกันครอบจักรวาล คือใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง มาตรการ COVID Free Setting ที่หน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกัน โดยมาตรการที่ต้องดำเนินการก่อนล่วงหน้าคือ VUCA คือ 1.V ฉีดวัคซีน 2.U ป้องกัน ครอบจักรวาล 3.C COVID Free Setting และ 4.A ATK เมื่อมีความเสี่ยง หากคนไทยสามารถร่วมมือกันได้จะมีความปลอดภัย 

กพท.กำชับสายการบินเข้มงวดประเทศเสี่ยง 

ด้าน นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศ กพท.เพื่อแจ้งไปยังสายการบินทั่วโลก เรื่องการเดินทางของผู้โดยสารที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา 8 ประเทศ ประกอบด้วย บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว เข้าประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขประกอบด้วย 1.หากผู้โดยสารเดินทางมาถึงไทยตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 00.01 น. จนกระทั่งถึงวันที่ 30 พ.ย. 64 เวลา 23.59 น. จะต้องเข้ากระบวนการกักตัว (Quarantine) 14 วัน ทันทีไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้เดินทางมาแบบไหน 2.ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ห้ามผู้โดยสารจาก 8 ประเทศข้างต้นนี้เข้าไทย แม้ว่าจะได้รับอนุญาตผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว และการอนุญาตทั้งหมดจะสิ้นสภาพตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไป 3.ปัจจุบันระบบ Thailand Pass ไม่ให้บริการขออนุญาตจากผู้ที่จะเดินทางจากประเทศเหล่านี้แล้ว สำหรับประเทศในทวีปแอฟริกาที่เหลือ จะเดินทางเข้าไทยได้ตามการอนุญาตที่ได้รับจนถึงวันที่ 14 ธ.ค. และตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. เป็นต้นไป หากเดินทางมาถึง จะต้องเข้ากระบวนการกักตัว 14 วันไม่ว่าจะได้รับอนุญาตมาแบบไหน ดังนั้น กพท.จึงขอทางสายการบินทุกสายโปรดช่วยพิจารณาเป็นหูเป็นตา กรณีที่ทราบว่าผู้โดยสารเดินทางมาจากประเทศทั้ง 8 นี้ แม้ว่า Thailand Pass อาจจะแจ้งว่าได้ลงทะเบียนมาจากประเทศอื่น ขอให้แจ้งผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามมาตรการข้างบนด้วย 

ยันวัคซีนที่ฉีดในไทยมีประสิทธิภาพ 

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะที่วัคซีนที่มีการฉีดในไทย นักวิชาการยังยืนยันว่ามีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนได้ การฉีดวัคซีนในกลุ่มคนไทยฉีดแล้วจำนวนมาก เป็นเข็ม 1 กว่าร้อยละ 72 นายกรัฐมนตรีอยากให้ได้ถึงร้อยละ 75 คาดว่าในสิ้นปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเข็ม 2 ฉีดครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 60 ขอความร่วมมือประชาชนทุกฝ่ายมาฉีดวัคซีน เรามีวัคซีนมากพอ วัคซีนภาครัฐมีราวๆ 140 ล้านโดส วัคซีนทางเลือก ประมาณ 20-30 ล้านโดส 

เผยอาการ "โอไมครอน" ใกล้เคียง "เดลตา" 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอนปรับเปลี่ยนทุกนาทีและทุกชั่วโมง ข้อมูลที่ทราบเบื้องต้นขณะนี้ ลักษณะการติดใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อราวๆ 2-3 วัน ยังไม่พบอาการรุนแรง มาตรการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ร่วมกับการฉีดวัคซีน สามารถป้องกันได้ ในส่วนของการเข้าประเทศผ่านทางอากาศนั้น ไม่ค่อยกังวล แต่กังวลการเข้าประเทศตามแนวชายแดน ต้องมีการดูแลเข้มข้น อย่างไรก็ตาม การเปิดด่านพรมแดนที่ จ.หนองคาย ให้เข้ามาผ่านระบบ Test&Go ในวันที่ 1 ธ.ค. 64 เตรียมความพร้อมไว้ คาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

มี "เตียง-ยา" เพียงพอรับมือ

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์เตียงปัจจุบันมีประมาณ 2 แสนเตียง ใช้ไปประมาณ ร้อยละ 30 ตอนนี้ยังมีพอเหลือ ยามีฟาวิพิราเวียร์ อย่างน้อย 45 วัน วันละ 5 แสนเม็ด และสั่งเพิ่มจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีวัตถุดิบสำหรับผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ประมาณ 60 ล้านเม็ด นอกจากนี้ เรายังมีการทำสัญญาสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 50,000 คอร์ส จะเข้ามาในเดือน ม.ค. 2565 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข

"อนุทิน" ปรับมาตรการสู้ "โอไมครอน" 

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการป้องกันโควิดฯ สายพันธุ์โอไมครอน ว่า ตนและกระทรวงสาธารณสุขจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนมาตรการเพื่อให้ประชาชนมั่นใจและปลอดภัย อาทิ ล่าสุดสั่งห้ามบางประเทศเข้าไทย และปรับมาตรการให้บางประเทศเข้ามาแล้วต้องกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้แบบไม่มีเงื่อนไข ส่วนความกังวลเรื่องการเปลี่ยนวิธีการตรวจเมื่อเข้ามาในประเทศไทยจาก RT-PCR เป็น ATK ล่าสุดได้สั่งให้ทบทวนแล้ว ย้ำว่าความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด ส่วนเรื่องวัคซีนได้ระดมฉีด เพราะต้องการเสริมเกราะให้ประชาชนก่อน ตอนนี้อยากให้ทุกคนรีบฉีดวัคซีน ไทยให้บริการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย เป้าหมายในปีนี้ของกระทรวงสาธารณสุขคือ 120 ล้านโดส ส่วนการเกิดขึ้นมาของโอไมครอนนั้น ปัจจุบันนี้โลกกำลังหาวัคซีนเพื่อจัดการกับเชื้อตัวนี้ ขณะที่ในประเทศมีทีมศึกษาวิจัย หวังว่าเร็วๆ นี้จะมีวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อตัวใหม่นี้ได้ 

ไทยยังฉีด "วัคซีน" เข็มแรกต่ำเป้า 

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 297,973 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 92,658,390 โดส แยกเป็นเข็มแรก 48,074,050 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 66.7 ของประชากร เข็มสอง 41,210,777 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 57.2 ของประชากร และเข็มสาม 3,373,563 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 64.7 ของประชากร. 

ผู้เขียน : หงเหมิน

กราฟฟิก : sathit chuephanngam