ครม.มีมติกลับไปใช้การตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย โดยใช้ ไปยันสิ้นปี หลังสายพันธุ์โอมิครอนชักดุ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มในหลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่น ขณะที่ปลัด สธ.ย้ำไทยยังเอาอยู่ มีพอทั้งเตียงผู้ป่วย-ยารักษา พร้อมกระตุ้นคนฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน ยันวัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ ด้านนายกฯลั่นหากพบผับบาร์ลอบเปิดก่อนกำหนด ไม่ใช่แค่ย้าย 5 เสือในพื้นที่ แต่ผู้บังคับการจังหวัดโดนด้วย

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วประเทศมีแววดี เมื่อผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่อเนื่อง แต่ยังยืนที่หลักพันคน เสียชีวิตอีกกว่า 30 คน ขณะเดียวกัน ก็ต้อง เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน ที่พบผู้ติดเชื้อแล้วในหลายประเทศ

นายกฯไม่ใช้ ATK ตรวจ นทท.

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 30 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม. ที่มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแก้มติ ศบค.โดยให้ใช้การตรวจแบบ RT-PCR กับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเหมือนเดิม แทนการตรวจ ATK ว่า ใช่ เนื่องจากเราต้องให้ความระมัด ระวัง จึงต้องแก้ไขนิดหน่อยเพราะสถานการณ์โอมิครอน ระบาดอยู่ในขณะนี้ จากเดิมที่จะให้ตรวจ ATK ตอนนี้ก็ให้กลับมาตรวจแบบ RT-PCR ใหม่อีก ก็ต้องเข้าใจ ระมัดระวัง โดยให้เริ่มทันทีมีผลตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.เป็นต้นไป

...

ขู่ย้ายผู้การฯหลิ่วตาเปิดผับบาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม สั่งการเน้นย้ำเรื่องการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน เป็นพิเศษ กำชับหน่วยงานความมั่นคง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย เข้มงวดตามแนวชายแดน เพราะยังจับกุมการลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศได้ทุกวัน และพบว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องให้ดำเนินคดีและตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างถึงที่สุด ทั้งนี้วันที่ 3 ธ.ค.นายกฯจะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จะเสนอให้พิจารณาวงเงินและหลักเกณฑ์การเยียวยาให้ตัวแทนสมาคมเครือข่ายนักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ คลับ บาร์ คาราโอเกะ นอกจากนี้ อย่าให้มีการลักลอบเปิดผับบาร์ก่อนกำหนด หากพบจะไม่ย้ายแค่ 5 เสือในพื้นที่แต่จะรวมถึงผู้บังคับการจังหวัดด้วย

“อนุทิน” ปรับมาตรการสู้โอมิครอน

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.ว่าตนและกระทรวงสาธารณสุข จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนมาตรการเพื่อให้ประชาชนมั่นใจและปลอดภัย อาทิ ล่าสุดสั่งห้ามบางประเทศเข้าไทย และปรับมาตรการให้บางประเทศเข้ามาแล้วต้องกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้แบบไม่มีเงื่อนไข ส่วนความกังวลเรื่องการเปลี่ยนวิธีการตรวจเมื่อเข้ามาในประเทศไทยจาก RT-PCR เป็น ATK ล่าสุดได้สั่งให้ทบทวนแล้ว ย้ำว่าความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด ในส่วนของวัคซีนได้ระดมฉีด เพราะต้องการเสริมเกราะให้ประชาชนก่อน ตอนนี้อยากให้ทุกคนรีบฉีดวัคซีน ไทยให้บริการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย เป้าหมายในปีนี้ของกระทรวงสาธารณสุขคือ 120 ล้านโดส ส่วนการเกิดขึ้นมาของโอมิครอน ปัจจุบันนี้โลกกำลังหาวัคซีน เพื่อจัดการกับเชื้อตัวนี้ ขณะที่ในประเทศมีทีมศึกษาวิจัย หวังว่าเร็วๆนี้ จะมีวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อตัวใหม่นี้ได้

ตรวจ RT-PCR ต่างชาติถึงสิ้นปี

จากนั้น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงมาตรการควบคุมสายพันธุ์โอมิครอนว่าประเทศไทยให้ชะลอการเดินทางของผู้ที่มาจาก 8 ประเทศ ในทวีปแอฟริกาแต่คนไทยยังสามารถเดินทางกลับประเทศได้ โดยเข้าสู่ระบบกักตัว 14 วัน ส่วนประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกานั้นยังต้องเข้าระบบกักตัว 14 วัน และเพื่อความรอบคอบ เนื่องจากก่อนหน้านี้เราเพิ่งปรับการตรวจหาโควิดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จากการตรวจ RT-PCR มาเป็น ATK แต่ล่าสุดได้สั่งการให้กลับมาใช้มาตรการตรวจด้วยวิธี RT-PCR จนถึงสิ้นปี แล้วค่อยมาพิจารณากันอีกรอบ

ยันวัคซีนมีประสิทธิภาพ

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ขณะที่วัคซีนที่มีการฉีดในไทย นักวิชาการยังยืนยันว่ามีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ การฉีดวัคซีนในกลุ่มคนไทยฉีดแล้วจำนวนมาก เป็นเข็ม 1 กว่าร้อยละ 72 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้ได้ถึงร้อยละ 75 คาดว่าในสิ้นปีนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเข็ม 2 ฉีดครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 60 ขอความร่วมมือประชาชนทุกฝ่ายมาฉีดวัคซีน เรามีวัคซีนมากพอ วัคซีนภาครัฐมีราวๆ 140 ล้านโดส วัคซีนทางเลือก ประมาณ 20-30 ล้านโดส

...

เผยอาการเพลีย-เมื่อย 2-3 วัน

ปลัด สธ.กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอนปรับเปลี่ยนทุกนาที ทุกชั่วโมง ข้อมูลที่ทราบเบื้องต้นขณะนี้ ลักษณะการติดใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อราวๆ 2-3 วัน ยังไม่พบอาการรุนแรง มาตรการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ร่วมกับการฉีดวัคซีน สามารถป้องกันได้ ในส่วนของการเข้าประเทศผ่านทางอากาศนั้นไม่ค่อยกังวล แต่กังวลการเข้าประเทศตามแนวชายแดน ต้องมีการดูแลเข้มข้น อย่างไรก็ตาม การเปิดด่านพรมแดนที่หนองคายให้เข้ามาผ่านระบบ Test & Go ในวันที่ 1 ธ.ค.นั้น เตรียมความพร้อมไว้ คาดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

เตียง-ยารักษามีเพียงพอ

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์เตียงปัจจุบันมีประมาณ 2 แสนเตียง ใช้ไปประมาณ ร้อยละ 30 ตอนนี้ยังมีพอเหลือ ยามีฟาวิพิราเวียร์ อย่างน้อย 45 วัน วันละ 5 แสนเม็ด และสั่งเพิ่มจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีวัตถุดิบสำหรับผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ประมาณ 60 ล้านเม็ด นอกจากนี้ เรายังมีการทำสัญญาสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 50,000 คอส จะเข้ามาในเดือน ม.ค.2565

โควิดทำเลือดขาดแคลน

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์เลือดขาดว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งจากสถานพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์ ถึงสถานการณ์เลือด โดยธนาคารเลือดของ รพ.ราชวิถีได้มีการระดมการบริจาคเป็นช่วงๆ ขณะเดียวกันในการผ่าตัดแต่ละเคส เบื้องต้นได้แจ้งให้ทาง รพ.ประสานกับญาติที่ใกล้ชิด หากร่างกายแข็งแรง ให้มาบริจาคเลือดเตรียมไว้ก่อน คาดสาเหตุของการที่เลือดขาดแคลนมาจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริจาคไม่กล้าไป รพ.ไม่ใช่เพราะมีการผ่าตัดเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องแนวทางการรักษาโควิด-19 หลังจากมีสายพันธุ์โอมิครอนนั้น เรื่องนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นแนวทาง การรักษายังเหมือนเดิม เนื่องจากอาการไม่แตกต่างกันมากนัก และยังมีการสำรองยาไว้พร้อมแล้ว

...

ติดเชื้อเพิ่ม 4.3 พันคน

วันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,306 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,175 คน มาจากเรือนจำ 123 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 คน ประกอบด้วย มาจากสเปนและสหรัฐอเมริกา ประเทศละ 1 คน มาในโครงการเทสต์แอนด์โกพังงาและภูเก็ต ตามลำดับ จากประเทศเบลเยียม 3 คน มาในโครงการเทสต์แอนด์โก ชลบุรี จากรัสเซีย 2 คน เข้ากักตัวใน AQ กทม. และจากประเทศเมียนมา 1 คน ผ่านช่องทางธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันแรกที่มาถึงไทย เว้นจากสเปน ที่พบเชื้อในวันที่ 10 นับตั้งแต่วันที่เดินทางถึงไทย สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 28 พ.ย. ได้แก่ กทม. 740 คน นครศรีธรรมราช 307 คน สงขลา 247 คน สุราษฎร์ธานี 247 คน ชลบุรี 170 คน เชียงใหม่ 167 คน สมุทรปราการ 119 คน ตรัง 98 คน ปัตตานี 96 คน และกระบี่ 93 คน

ตายเพิ่ม 37 ศพเกินครึ่งสูงอายุ

นอกจากนี้ รักษาหายป่วยเพิ่มขึ้น 6,407 คน อยู่ระหว่างรักษา 75,673 คน อาการหนัก 1,353 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 329 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 37 คน เป็นชาย 15 คน หญิง 22 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 29 คน มีโรคเรื้อรัง 5 คน พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 6 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,115,872 คน มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,019,428 คน มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 20,771 คน

...

ฉีดเข็มแรกยังไม่ถึงร้อยละ 70

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 พ.ย.มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 297,973 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 92,658,390 โดส แยกเป็นเข็มแรก 48,074,050 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 66.7 ของประชากร เข็มสอง 41,210,777 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 57.2 ของประชากร และเข็มสาม 3,373,563 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 64.7 ของประชากร

นทท.เข้ากรุง 8 หมื่นป่วย 57 คน

อีกด้านหนึ่งที่ศาลาว่าการ กทม. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุม ศบค.กทม.ที่มี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน มีการรายงานสถานการณ์ใน กทม.ที่หลายพื้นที่มีแนวโน้มลดลง ส่วนการฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 8-29 พ.ย.2564 ให้บริการวัคซีนไปแล้ว 17,583 โดส ผลการติดตามภายหลังเปิดกรุงเทพฯ เพื่อรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ Test&Go มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมาก ระหว่างวันที่ 1-29 พ.ย.64 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 80,146 คน พบผู้ติดเชื้อ 57 คน และทุกคนได้เข้าสู่ระบบการรักษาเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มอบหมายให้สำนักอนามัยร่วมกับสำนักงานเขตสุ่มตรวจและติดตามผู้ที่เดินทางเข้ามาอย่างใกล้ชิด รวมถึงผู้ที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในกลุ่มผู้ที่เดินทางเข้ามาก่อน รวมทั้งกำกับติดตามการดำเนินการและประชาสัมพันธ์ภายใต้หลัก VUCA อย่างเข้มแข็ง

คลัสเตอร์ใหม่ผุดไม่หยุด

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ ณ วันที่ 30 พ.ย.เป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายจังหวัดยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันลดลง จากที่เคยพบหลักร้อย ลดเหลือหลักสิบไปจนถึงเลขตัวเดียว ขณะเดียวกันมีการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 47 คน ผู้เสียชีวิต 2 ศพ เป็นชาย อายุ 88 ปี ชาว ต.ทัพรั้ง อ.พระทองคำ อีกรายเป็นชาย อายุ 58 ปี ชาว ต.มาบตะโกเอน อ.ครบุรี ขณะเดียวกันไม่มีผู้ต้องขังในเรือนจำติดเชื้อเพิ่มแต่ยังต้องจับตา 2 คลัสเตอร์ใหม่ อาทิ คลัสเตอร์ชุมชนบ้านปาริชาต อ.เมืองนครราชสีมา พบมีการติดเชื้อวงแรก 15 คน และขยายวงที่สองอีก 1 คน

ทารกติดเชื้อโยงกลุ่มเกี่ยวข้าว

ด้านนายแพทย์ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ กล่าวถึงคลัสเตอร์เกี่ยวข้าวบ้านนาทราย ม.2 ต.นาสิงห์ อ.ศรีวิไล เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ยอดผู้ติดเชื้อรวม 40 คน บวกเพิ่มวันนี้อีก 12 คน รวมเป็น 52 ราย ที่สำคัญยังพบว่าผู้ติดเชื้อมีเด็กทารกชายอายุ 6 เดือน เด็กหญิงอายุ 1 ขวบ 2 ขวบ 10 ขวบ นักเรียนโรงเรียนศรีวิไลวิทยาอายุ 15 ปี และ 18 ปี ติดเชื้อจากคนในครอบครัวกระจายอยู่ในตำบลนาสิงห์ และตำบลนาสะแบงด้วย ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็นนักเรียนและครู ทีมสอบสวนควบคุมโรคได้จัดทำสถานที่กักกันที่โรงเรียนบ้านนาทรายสำหรับครูและนักเรียนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดเกือบทั้งหมู่บ้านนั้น ทีมสอบสวนควบคุมโรคร่วมกับทางอำเภอมีคำสั่งปิดหมู่บ้าน จำกัดคนเข้าออกเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไปยังพื้นที่อื่น โดยมีผู้นำชุมชน อปพร.อสม.คอยควบคุมเฝ้าระวัง กำกับติดตามการกักตัวที่บ้านและการปิดหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด และอยู่ในช่วงของการค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม คิดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ข้างหน้า

ขอนแก่นปลดล็อกนั่งดื่มในร้าน

ขณะที่ จ.ขอนแก่น ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พ.ย. พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 88 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ศบค.ประกาศให้พื้นที่ จ.ขอนแก่น บางพื้นที่เป็นพื้นที่สีฟ้า และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ขอนแก่น ได้อนุมัติให้ อ.เมืองขอนแก่น และเขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ เป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวรองรับการเปิดประเทศตามที่รัฐบาลกำหนด เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป ทำให้เหล่าผู้ประกอบการร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆที่เข้าเงื่อนไขตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข เรียกพนักงาน ให้กลับเข้าทำงานและเริ่มจัดเตรียมสิ่งของ จัดโต๊ะ เก้าอี้ ทำความสะอาดร้าน ล้างถ้วย จาน และแก้ว รวมทั้งการจัดเตรียมเวทีดนตรีและทดสอบระบบเครื่องเสียงต่างๆ เพื่อพร้อมที่จะเปิดให้บริการ ทั้งนี้ นายภาณุ ธีรภาณุ เจ้าของร้านเดอ ลา แจ็ส ขอนแก่น กล่าวว่า ร้านอาหารทุกร้านดีใจที่รัฐบาลและจังหวัดประกาศมาตรการผ่อนคลาย ภายใต้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด เพื่อให้ร้านอาหารและสถานบริการทุกร้านได้กลับมาให้บริการอีกครั้ง ตามพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวที่รัฐบาลกำหนด โดยเฉพาะการอนุญาตให้สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งขอนแก่นอนุมัติให้จำหน่ายได้จนถึงเวลา 21.00 น. จะทำให้บรรยากาศของการออกมาใช้จ่าย หรือการทานข้าวนอกบ้าน การพักผ่อนหลังเลิกงาน หรือการพบปะเพื่อนพ้องน้องพี่กลับมามีสีสันอีกครั้ง

ร.ร.ไทยรัฐวิทยา 33 ปิดต่อ 7 วัน

ส่วนสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่อำเภอแม่สะเรียง ยังไม่แผ่ว ทำให้สถานศึกษาในพื้นที่ต้องปิดการเรียนแบบออนไซต์ต่อไปอีก โดยจากการเปิดเผยของนายเรืองศักดิ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว) ว่าเมื่อคืนวันที่ 29 พ.ย.ผลตรวจพบเด็กนักเรียนหอพักนอน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ติดโควิด 1 คน มีการนำส่ง รพ.สนาม อ.สบเมย และเช้าวันที่ 30 พ.ย.ได้ประสานทาง จนท.โรงพยาบาลแม่สะเรียง มาตรวจคัดกรอง ATK ครู บุคลากร และนักเรียน ผลตรวจนักเรียนเป็นบวก 4 คน เป็นเด็กนักเรียนที่มาจากหมู่บ้านแม่แพ อ.สบเมย ทั้งนี้ ทางโรงเรียนตระหนักและห่วงใยความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนที่อาจจะได้รับผลกระทบ จึงมีคำสั่งประกาศโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 (บ้านทุ่งพร้าว) อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เรื่อง การปิดโรงเรียนด้วยเหตุพิเศษ อีก 7 วัน คือระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-6 ธ.ค.2564 ให้นักเรียนทุกคนหยุดมาโรงเรียนและเรียนอยู่ที่บ้าน โดยครูประจำชั้น/ครูประจำวิชามอบหมายใบงาน ในรูปแบบออนแฮนด์ และออนไลน์

ตั้งจุดเข้มโควิดสะพานปลา

สำหรับ จ.ปัตตานี ที่เคยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 400-500 คนต่อวัน แต่ล่าสุดสถานการณ์เริ่มดีขึ้น พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 96 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ ด้านนายสมนึก พรหมเขียว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีกล่าวว่า ตอนนี้จังหวัดปัตตานี มีจุดตรวจใน 112 ตำบล โดยจัดตั้งไว้เพื่อคัดกรองผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนและเชิญชวนไปฉีด และในส่วนพื้นที่สะพานปลา ได้เข้าพื้นที่ไปจัดระเบียบโดยจะมีกลุ่มที่เกี่ยวข้อง 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มลูกเรือประมงที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว กลุ่มที่สองคือคนที่ทำงานและอยู่ในพื้นที่สะพานปลา กลุ่มที่สามคือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาซื้ออาหารทะเล ทั้ง 3 กลุ่มจังหวัดได้ตรวจคัดกรองโรคได้เกือบทั้งหมดแล้ว และส่วนการฉีดวัคซีนก็เช่นเดียวกัน โดยส่วนที่เหลือเป็นลูกเรือประมง ประมาณ 1 พันกว่าคน ล่าสุดจังหวัดมีคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจคัดกรองทางเข้าออกพื้นที่สะพานปลา เพื่อเป็นจุดคัดกรองผู้ที่เข้าออก และบริการฉีดวัคซีน

เชื้อโอมิครอนโผล่นาริตะ

ด้านสำนักข่าวต่างประเทศรายงานเกาะติดสถานการณ์การลุกลามทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ “โอมิครอน” ที่จากข้อมูลเบื้องต้น เชื่อว่าอาจแพร่กระจายได้ง่ายกว่า “เดลตา” โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ย. รัฐบาลญี่ปุ่นตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรก ที่สนามบินนานาชาตินาริตะ เป็นชายวัยประมาณ 30 ปี เดินทางมาจากประเทศนามิเบีย ในแอฟริกา ถือเป็นการตรวจพบในวันเดียวกับที่ทางการเริ่มใช้มาตรการปิดรับนักเดินทางต่างชาติเข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน

ออกเที่ยวห้างในนครซิดนีย์

ขณะที่ออสเตรเลีย พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มเป็น 6 คน แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการแพร่ระบาดในชุมชน หลังพบว่าในจำนวนนี้มี 1 คน ออกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าที่มีคนพลุกพล่านในนครซิดนีย์ ทางการออสเตรเลียยังชี้แจงด้วยว่า ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางมากับเที่ยวบินที่พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน อยู่ระหว่างการกักตัวเองในที่พักอาศัย 14 วัน ทำให้ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวที่ออกไปเดินห้าง ละเมิดมาตรการกักตัวหรือกักตัวครบกำหนดแล้ว ระบุเพียงว่าฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และผู้ติดเชื้อโอมิครอนอีก 5 คนที่เหลือ ไม่แสดงอาการป่วย หรือมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แวะผ่านสิงคโปร์-ผลตรวจเป็นลบ

ด้านรัฐบาลสิงคโปร์ยืนยันว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอน 2 คนที่ถูกตรวจพบในออสเตรเลีย เดินทางมาจากนครโยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ และแวะพักที่ท่าอากาศยานชางงีของสิงคโปร์ ในวันที่ 27 พ.ย.ก่อนเดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย ซึ่งการตรวจหาเชื้อก่อนไปออสเตรเลียมีผลตรวจเป็นลบ แต่กรณีนี้ขอยืนยันว่า ผู้โดยสารที่ติดเชื้อไม่ได้เข้าไปในเมือง อยู่เพียงแค่ในจุดพักคอยของสนามบิน และในเที่ยวบินดังกล่าวมีเพียง 7 คนที่เดินทางเข้าเมือง ในจำนวนนี้ 6 คนทางการได้แจ้งให้กักตัวอยู่ในที่พักอาศัยเป็นเวลา 10 วัน และมี 1 คน ทางการพาไปกักตัว เนื่องจากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

อังกฤษหวั่นลาม-ฮ่องกงปิด

ส่วนที่สกอตแลนด์ ตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน อีก 3 คน ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่เพิ่มเป็น 9 คน ทางการยอมรับด้วยว่า ผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ 6 คน ทั้งในเขตลานาร์คเชอร์ และเกรทเตอร์ กลาสโกว์ อยู่ระหว่างการกักบริเวณตัวเอง 10 วัน ไม่มีคนไหนล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล แต่สิ่งที่น่าวิตกกังวลคือในจำนวนนี้มีบางคนที่ไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ จึงมีความเป็นไปได้ที่เชื้ออาจมีการแพร่กระจายไปบ้างแล้ว ขณะที่กลุ่มที่ปรึกษารัฐบาลอังกฤษ ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ภายในไม่กี่วัน อาจมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนหลายร้อยคน ส่วนรัฐบาลฮ่องกง ประกาศงดรับนักเดินทางชาวต่างชาติที่มีประวัติเดินทางผ่านประเทศในแอฟริกา รวมถึงออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เยอรมนี อิสราเอล อิตาลี เข้ามาในฮ่องกง นับตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.เป็นต้นไป และชาวฮ่องกงที่กลับมาจากประเทศเหล่านี้ จะต้องเข้ารับการกักตัวในโรงแรมเป็นเวลา 3 สัปดาห์