ดูเหมือนว่าสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มจะคลี่คลายลงแล้ว หากไม่มีฝน หรือพายุ เติมกระหน่ำลงมาอีก หลังจากนี้ก็เข้าสู่โหมดฟื้นฟูและเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยใหญ่ในปีนี้
โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกน้ำท่วมขังมานาน รัฐจะต้องมีมาตรการดูแลที่ดี
ไม่ใช่พอสถานการณ์คลี่คลายแล้วก็แล้วกัน
เพราะบ้านเรือนราษฎรที่เสียหายจากความผิดพลาดบกพร่องในการบริหารจัดการน้ำ ของหน่วยงานภาครัฐ มีเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน การฟื้นฟูซ่อมแซมถนนหนทางที่ถูกน้ำท่วมตัดขาด ก็ต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน
จากข้อมูลของ กรมทางหลวงชนบท มีถนนทางหลวงชนบทที่ประสบอุทกภัย รวม 53 สายทาง ในพื้นที่ 13 จังหวัด
ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครสวรรค์ หนองบัวลำภู สุพรรณบุรี และนครปฐม
สามารถสัญจรผ่านได้ 31 เส้นทาง และไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 22 เส้นทาง
นี่ยังไม่นับรวมถนนทางหลวงหลัก ที่ถูกกระแสน้ำตัดขาดอีกหลายเส้นทางเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์นับว่าดีขึ้นแล้ว แต่ในอีกหลายพื้นที่ พี่น้องประชาชนยังต้องแช่อยู่ในน้ำต่อไปอีกนานแรมเดือน
หลายครอบครัวยังไม่สามารถกลับเข้าพักในบ้านเรือนได้ เพราะระดับน้ำยังคงสูงอยู่ ยังต้องอาศัยอยู่ในจุดพักที่หน่วยงานต่างๆ จัดเอาไว้ และมีอีกมากที่ต้องอาศัยอยู่บนถนน
ตรงนี้หน่วยงานรัฐคงต้องเข้าไปดูแลในเรื่องระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
มีตัวอย่างจาก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่รวบรวมบุคลากรของกรมฯ ทั้งข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
โดยเฉพาะการจัดทำสุขาลอยน้ำ จำนวน 78 หลัง
...
ตามโครงการ “DSD จิตอาสาเพื่อสังคม” ภายใต้การนำของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
ที่ร่วมกับสถานประกอบกิจการ ภาคเอกชน เครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกันบริจาคเงิน และผลิตภัณฑ์
สำหรับใช้สร้าง สุขาลอยน้ำ สุขภัณฑ์เคลื่อนที่ และเรือไฟเบอร์กลาส
มีการส่งมอบสุขาลอยน้ำ กระจายไปยังพื้นที่ที่ประสบภัยทั่วประเทศ ได้แก่ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง จันทบุรี กาญจนบุรี พิษณุโลก ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ชุมพร พิจิตร มหาสารคาม ศรีสะเกษ และสระบุรี
ลงมือสร้างด้วยฝีมือของครูช่าง และผู้เข้ารับการฝึก ตามรูปแบบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีการติดตั้งไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ และทดสอบการใช้งานก่อนส่งมอบ ว่าใช้งานได้จริงในพื้นที่ประสบอุทกภัย
ทั้งหมดนี้ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของทางราชการ และมอบให้หน่วยงานในพื้นที่ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ในระยะยาวต่อไป
ซึ่งได้รับความชื่นชอบจาก นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างมาก
และอยากให้เป็นต้นแบบของหน่วยงานอื่น ในความร่วมมือ ร่วมแรงจากทุกภาคส่วน
คนไทยไม่ทิ้งกันในยามยากลำบากอยู่แล้ว.
“เพลิงสุริยะ”