การเปิดประเทศต้อนรับผู้ที่เดินทางมาจาก 63 ประเทศ/ พื้นที่ แบบไม่กักตัว และสามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศไทยได้เริ่มขึ้นแล้วในวันที่ 1 พ.ย.2564 ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ทำพื้นที่ทดลอง “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว แต่กำหนดต้องอยู่ในพื้นที่ของเกาะภูเก็ต 14 วันก่อนเดินทางไปพื้นที่อื่นๆ ได้ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

ต้องนับว่าเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งของการเริ่มต้นมีพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ จนถึงการเปิดประเทศรับชาวต่างชาติมากขึ้น หลังจากประเทศไทยปิดประเทศไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวนานมากกว่า 1 ปี

กว่าจะมาถึงวันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีการปรับโมเดลขยายพื้นที่ออกไป อาทิ ในวันที่ 16 ส.ค. 2564 มี “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ 7+7 เอ็กซ์เทนชัน” อยู่ภูเก็ต 7 วัน และข้ามไปพื้นที่นำร่องอื่นๆอีก 7 วัน ทั้งเกาะไหง ไร่เลย์ เกาะพีพี จ.กระบี่ และเขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา และข้ามไปทะเลฝั่งอ่าวไทย เพื่อช่วยฟื้นการท่องเที่ยวของเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ที่มี “สมุย พลัส โมเดล” แต่ไม่มีการตอบรับเท่าที่ควร

จนถึงวันที่ 1 ต.ค.2564 ศบค.เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในทุกพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ลดเวลาอยู่ในพื้นที่เหลือ 7 วัน ก็ไปพื้นที่อื่นได้ทั่วประเทศแบบอิสระ ไม่ต้องข้ามไป ข้ามมาระหว่างเกาะตามสูตรเดิมอีก

อย่างไรก็ตาม การประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 ดูจะฮือฮามากที่สุด เพราะเป็นการเปิดรับนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยแบบไม่ต้องกักตัวเลย แต่ก็มีเงื่อนไขให้ต้องพักอยู่ที่โรงแรมก่อน อย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อรอผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เมื่อผลตรวจออกมาไม่ติดเชื้อก็ถือว่าอิสระ ไปได้ทั่วไทย

...

การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 3 รูปแบบ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีปฏิบัติตัวแตกต่างกัน “ทีมเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมมาให้ เพื่อสร้างความกระจ่างมากขึ้น โดยเฉพาะคนไทยที่อาศัยในต่างประเทศ และคนไทยที่อยากออกไปต่างประเทศ แล้วยังกังวลว่าตอนกลับเข้ามา จะเข้าเงื่อนไขใด แบบไหนได้ แบบไหนไม่ได้ ขอเชิญเคลียร์ความสงสัยกันได้ ณ ที่นี่

รายชื่อ 63 ประเทศ/พื้นที่ไม่ถูกกักตัว

ขอเปิดด้วยรายชื่อ 63 ประเทศ/พื้นที่ ที่เข้าไทยแบบไม่ถูกกักตัว จากการประกาศครั้งแรก 46 ประเทศ ประกอบด้วย 1.ออสเตรเลีย 2.ออสเตรีย 3.บาห์เรน 4. เบลเยียม 5.ภูฏาน 6.บรูไนดารุสซาลาม 7.บัลแกเรีย 8.กัมพูชา 9.แคนาดา 10.ชิลี 11.จีน 12.ไซปรัส 13.สาธารณรัฐเช็ก 14.เดนมาร์ก 15.เอสโตเนีย 16.ฟินแลนด์ 17.ฝรั่งเศส 18.เยอรมนี 19.กรีซ 20.ฮังการี

21.ไอซ์แลนด์ 22.ไอร์แลนด์ 23.อิสราเอล 24.อิตาลี 25.ญี่ปุ่น 26.ลัตเวีย 27.ลิทัวเนีย 28.มาเลเซีย 29.มอลตา 30.เนเธอร์แลนด์ 31.นิวซีแลนด์ 32.นอร์เวย์ 33.โปแลนด์ 34.โปรตุเกส 35.กาตาร์ 36.ซาอุดีอาระเบีย 37.สิงคโปร์ 38.สโลวีเนีย 39.สาธารณรัฐเกาหลี 40. สเปน 41.สวีเดน 42.สวิตเซอร์แลนด์ 43. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 44.สหราชอาณาจักร 45.สหรัฐอเมริกา 46.ฮ่องกง

และล่าสุดวันที่ 30 ต.ค.2564 ประกาศเพิ่มอีก 17 ประเทศ ได้แก่ 1.โครเอเชีย 2.อินเดีย 3.อินโดนีเซีย 4.คูเวต 5.ลาว 6.ลักเซมเบิร์ก 7.มัลดีฟส์ 8.มองโกเลีย 9.เมียนมา 10.เนปาล 11.โอมาน 12.ฟิลิปปินส์ 13.โรมาเนีย 14.สาธารณรัฐสโลวัก 15.ศรีลังกา 16.เวียดนาม 17.ไต้หวัน

รายชื่อประเทศเหล่านี้กระทรวงการต่างประเทศจะพิจารณาทบทวน โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวมองว่า ยังขาดประเทศรัสเซีย ที่ต้องรอลุ้นประกาศรายชื่อเพิ่มในรอบถัดไป

กลุ่มแรก TEST&GO มีเงื่อนไข

ตามที่ “รัสเซลล์ โครว์”ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ซึ่งเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย เรื่อง “The Greatest Beer Run Ever” ในกรุงเทพฯ เข้าไทยผ่าน “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ได้ช่วยโปรโมตประเทศไทยผ่านทวิตเตอร์ ตลอดเวลาที่อยู่ในไทยจนกระทั่งวันกลับ ได้ทวีตทิ้งท้ายแปลเป็นไทย ว่า “วันที่ 1 พ.ย.เปิดให้นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จาก 46 ประเทศ/พื้นที่ โดยมีกระบวนการกักตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่นี่มีสถานที่สวยงาม น่าสนใจ และตื่นตาตื่นใจ ผู้คนจะให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ถ้าคุณเคยต้องล็อกดาวน์ ต้องโดดเดี่ยว หรือต้องกักตัว ได้เวลากลับมาท่องเที่ยวแล้ว”

...

นับว่ามีความเข้าใจในหลักเกณฑ์เข้าประ เทศไทยอย่างมาก ที่ในขั้นตอนจริงๆ ยังมีกระ บวนการกักตัวแบบมีเงื่อนไข ศบค.เรียกกลุ่มนี้ว่า นักท่องเที่ยวจากประเทศนำร่องไม่กักตัว หรือ Exemption From Quarantine (TEST&GO) ก่อนเข้าประเทศ ไทย มีเงื่อนไขให้ต้องจองโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA PLUS หรือมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว และบุคลากรในโรงแรมฉีดวัคซีนแล้ว ไม่น้อยกว่า 70% หรือโรงแรมที่เป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (AQ) จำนวน 1 คืนก่อน พร้อมกับจ่ายค่าตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ในราคา 2,000 บาท

เมื่อถึงประเทศไทยจะต้องไปเช็กอิน ณ โรงแรมที่จองไว้ ระยะเวลาเดินทางจากสนามบินไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละโรงแรมจะมีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจหาเชื้อให้ จากนั้นต้องไปรอผลตรวจในห้องพัก และโรงพยาบาลจะส่งผลให้ทราบภายใน 6 ชั่วโมง 

ถ้าพบไม่ติดเชื้อจึงจะเช็กเอาต์ได้ และเดินทางไปได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยจะได้รับชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองหรือ ATK เพื่อตรวจตัวเองในวันที่ 6-7 และส่งผลตรวจกลับมาทางแอปพลิเคชันหมอชนะ ส่วนกรณีของคนที่โรงพยาบาลส่งผลตรวจมาพบว่ามีการติดเชื้อ จะต้องเข้ารับการรักษาทันที 

คุณสมบัติของบุคคลกลุ่มนี้ต้องมาจากประเทศที่กำหนด 63 ประเทศ/ พื้นที่เท่านั้นไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใด รวมถึงคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ส่วนกรณีมาจากประเทศอื่นก็ต้องพำนักใน 63 ประเทศนี้มาไม่น้อยกว่า 21 วัน ยกเว้นคนไทยหรือชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย ไม่จำเป็นต้องอยู่ถึง 21 วัน เช่น ได้เดินทางออกจากไทยไปยัง 63 ประเทศ 5-6 วันแล้วกลับเข้าไทย ก็ถือว่าเข้าข่ายเงื่อนไขนี้ได้

...

ยกเลิก COE ใช้ “ไทยแลนด์ พาส”

ก่อนหน้าที่จะถึงวันที่ 1 พ.ย.2564 บรรดา ผู้คนที่อยู่ในต่างประเทศ เวลาเข้าไทยจะต้องยื่นเอกสารที่ถูกกำหนด เพื่อขอใบรับรองในการเดิน ทางเข้าประเทศไทย (COE) ด้วยระบบออน ไลน์ ซึ่งชาวต่างชาติจำนวนมากระบุว่ายุ่งยาก จึงมีการปรับรูปแบบใหม่ให้ยื่นเอกสาร เข้าประเทศผ่านระบบ ไทยแลนด์ พาสทาง https://tp.consular.go.th ที่จะสะดวกมากขึ้น

เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้เจ้าหน้าที่ตรวจเอกสาร เป็นระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผล และเมื่อได้รับการอนุมัติจะได้ Thailand Pass QR CODE ในการอำนวยความสะดวกเข้าประเทศไทย

QR CODE นี้สำคัญมาก เพราะเมื่อผ่านทุกขั้นตอนเป็นสีเขียว แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวคนนั้นสามารถเดินทางไปได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

พร้อมปรับเงื่อนไขจากแต่เดิม คือ วงเงินประกันภัยได้ลดลงจาก 100,000 เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ไม่ต้องกำหนดว่าเป็นการคุ้มครองการติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะเช่นแบบเดิม เพียงขอให้ครอบคลุมเอาไว้ ยกเว้นคนไทยไม่ต้องทำประกันนี้ ส่วนชาวต่างชาติที่ทำงาน ในไทยจะได้รับยกเว้นเช่นกัน ในกรณีมีประกัน สังคมหรือบริษัทที่สังกัดทำประกันไว้ให้ในวงเงิน 50,000 เหรียญสหรัฐฯ

สิ่งสำคัญของทุกคนต้องรับวัคซีนมาครบโดสอย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรอง ยกเว้นเด็กอายุ 12 ปีที่มาพร้อมกับผู้ปกครองไม่ต้องมีเอกสารรับรองการรับวัคซีน และมีผลตรวจ RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมง จากประเทศต้นทาง

...

พื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัดแซนด์บ็อกซ์

ก่อนหน้าที่จะมีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศ/พื้นที่ แบบไม่กักตัว ได้มีความพยายามของภาคเอกชนในพื้นที่ท่องเที่ยว ส่งต่อถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อผลักดันผ่าน ศบค.อีกที ให้เปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์เพิ่ม

ไม่ว่าจะเป็น “พัทยา มูฟออน” “หัวหิน รีชาร์จ” “เชียงใหม่ ชาร์มมิ่ง” เช่นเดียวกับ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” โดยขอเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่เดือน ก.ย. และเลื่อนมาเป็น ต.ค. จนถึงวันที่ 1 พ.ย.2564 เพื่อรอให้คนในพื้นที่ฉีดวัคซีนให้ครบ 70% ของประชากรก่อน และในที่สุดได้สรุปการเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด

ประกอบด้วย 1.กรุงเทพมหานคร 2.กระบี่ 3.ชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียนและตำบลบางเสร่) 4.เชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง) 5.ตราด (เฉพาะอำเภอเกาะช้าง)

6.บุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์) 7.ประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะตำบลหัวหิน และตำบลหนองแก) 8.พังงา 9.เพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ) 10.ภูเก็ต 11.ระนอง (เฉพาะเกาะพยาม) 12.ระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) 13.เลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน) 14.สมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ)

15.สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) 16.หนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ) 17.อุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม)

ประเทศไม่มีรายชื่อมาพักที่นี่

โดยล่าสุด ศบค.ได้เรียกพื้นที่นี้ว่า Living in The Blue Zone หรือพื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัดแซนด์บ็อกซ์ ในพื้นที่นี้ไม่มีการกำหนดว่ามาจากประเทศไหน จะมาจาก 63 ประเทศ/พื้นที่ หรือนอกเหนือจากนั้นได้ทั้งหมด แต่ต้องมีเอกสารรับรอง รับวัคซีนมาครบโดส ขณะที่เด็กมาพร้อมผู้ปกครองไม่ต้องมีหลักฐานรับวัคซีนถึงอายุ 18 ปี มากกว่ารูปแบบแรก เพราะกลุ่มนี้ถูกกำหนดให้อยู่ในพื้นที่

มีผลตรวจ RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงจากประเทศต้นทาง มีประกันภัยคุ้มครอง 50,000 เหรียญสหรัฐฯ และต้องมีเอกสารยืนยันการชำระที่พัก SHA PLUS รวมค่า RT-PCR

เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ให้เดินทางเข้าที่พักจากสนามบินไม่เกิน 5 ชั่วโมง โดยตรวจหาเชื้อที่โรงแรม หรือสถานที่ที่โรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการกำหนด ด้วยวิธี RT-PCR ระหว่างพำนักในพื้นที่นี้ หากต้องการไปพื้นที่อื่นต้องอยู่ให้ครบ 7 คืนก่อน กรณีอยู่น้อยกว่า 7 คืน ต้องเป็นการเดินทางด้วยเที่ยวบินตรงออกนอกประเทศเท่านั้น

ขณะที่การตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 6-7 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. มีการปรับการตรวจจากวิธี RT-PCR เป็น ATK ด้วยตัวเอง ตามคำเรียกร้องแล้ว

ไม่ฉีดวัคซีนเข้า“แฮปปี้ ควอรันทีน”

การเดินทางเข้าประเทศของสองกลุ่มข้างต้นคือ TEST&GO และพื้นที่สีฟ้า ต้องย้ำว่าต้องเดินทางเข้าไทยทางอากาศเท่านั้น ปัจจุบันกำหนดไว้คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สยามบินเชียงใหม่ สนามบินสมุย สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และอีก 2 สนามบินเฉพาะชาร์เตอร์ ไฟล์ หรือเครื่องบินเช่าเหมาลำ คือ สนามบินอู่ตะเภา และสนามบินบุรีรัมย์

ทั้งนี้ เฉพาะผู้ที่ลงเครื่องที่สนามบินภูเก็ตเท่านั้น จะทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งแรก ด้วยวิธี RT-PCR ที่สนามบินเลย แล้วไปรอผลในห้องพักของโรงแรมที่จองไว้ เนื่องจาก “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์”ได้ทำระบบไว้ลงตัวแล้ว

ส่วนกรณีที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนไม่ครบโดส ก็สามารถเข้าประเทศได้ โดยจะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “แฮปปี้ ควอรันทีน ทั่วไทย”

เริ่มต้นวันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป กรณีเดินทางมาทางอากาศและทางน้ำ ต้องเข้าพักในโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก (AQ) 10 วัน ส่วนผู้ที่มาทางบก 14 วัน โดยต้องมีเอกสารตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทางภายใน 72 ชั่วโมงและเอกสารยืนยันการชำระค่าที่พัก พร้อมวงเงินประกันภัย 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องถูกตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในครั้งที่ 2 และ 3 ด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบใหม่ในการเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 เป็นต้นไป เป็นความท้าทายระหว่างการฟื้นเศรษฐกิจและการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ของคนไทย ที่ต้องจับตามองอย่ากะพริบ!!!

ทีมเศรษฐกิจ