วิกฤติน้ำท่วมภาคเหนือ อีสานและกลางยังอ่วม มวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างไหลเข้าพื้นที่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ชาวบ้านต้องอยู่ในสภาพติดเกาะ กระแสน้ำจะไหลเข้า จ.บุรีรัมย์ ส่วนที่ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ แม่น้ำชีหนุนสูงท่วมไร่นา กว่า 4,000 ไร่ ในตัวเมืองน้ำลดแล้วแต่ยังกังวลพายุลูกใหม่ จ.พิษณุโลกยังอ่วม 4 อำเภอ ส่วน จ.สุโขทัยสถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบหนัก คันน้ำแตกทะลักเข้าท่วมวัดบ้านเกิดนายขนมต้ม ตลาดอิงน้ำสามโคกจมบาดาล ขณะที่กรมอุตุฯแจ้งเตือนฝนยังตกหนักต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำยังไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ มวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง จ.นครราชสีมา ไหลหลากเข้าพื้นที่ อ.โนนสูง อ.โนนไทย ทะลักเข้าท่วม อ.พิมาย ชาวบ้านอยู่ในสภาพติดเกาะมาหลายวัน แผ่ขยายวงกว้างเข้าท่วม 2 อำเภอใน จ.ขอนแก่น ขณะที่ จ.สระบุรียังอ่วมแนวกั้นน้ำแตกจมบาดาล 3 อำเภอ พื้นที่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังวิกฤติระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำลดลง ส่งผลกระทบ จ.ชัยนาท จ.อ่างทอง และ จ.นครสวรรค์ น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่

...

โคราชอ่วม 10 อำเภอ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่า ขณะนี้เร่งอุดประตูระบายน้ำอ่างลำเชียงไกร ตอนล่างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ต.ค.นี้ ส่วนมวลน้ำในอ่างลำเชียงไกรไหลออกจนเกือบหมดแล้ว จะทำให้เกิดภัยแล้งที่หลายฝ่ายเป็นห่วง ขณะนี้จะเร่งปิดจุดที่มีการปล่อยน้ำไป แล้วจะให้น้ำออกทางเดียวคือทางระบายน้ำเท่านั้น นอกจากนี้สั่งการให้ทุกส่วนราชการบูรณาการช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย และให้เตรียมการฟื้นฟูเยียวยาความร่วมกัน โดยเฉพาะอำเภอที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักประกอบด้วย อ.ด่านขุนทด อ.เมืองนครราชสีมา อ.โนนไทย อ.โนนสูง อ.คง อ.พิมาย อ.โนนแดง อ.ชุมพวง อ.ลำทะเมนชัย และ อ.เมืองยาง

ซ่อมอ่างเก็บน้ำเสร็จแล้ว

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ล่าสุดปริมาณน้ำเหลือในอ่าง 6.1 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 22% ของความจุอ่างทั้งหมด 27.7 ล้านลูกบาศก์เมตร นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยความคืบหน้าของการซ่อมแซมทำนบดินของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ว่า กรมชลประทานซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราวที่ชำรุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ยกบานประตูระบายน้ำ 4 ช่องที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ระบายน้ำแทนทำนบดินที่ชั่วคราว เพื่อปิดช่องทางน้ำไหล และสามารถเก็บกักน้ำในอ่างไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ ขณะนี้ยังคงมีน้ำจากพื้นที่ด้านบนไหลเข้าอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) อย่างต่อเนื่อง

อ.โนนสูงชาวบ้านติดเกาะ

ด้านนายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงาน ปภ.นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้มวลน้ำอยู่ที่ อ.พิมาย ไหลไปยัง อ.ชุมพวง ส่วนถนนมิตรภาพที่มีน้ำท่วมขัง ระดับน้ำต่ำกว่าหัวเข่ารถสามารถสัญจรได้บ้างแล้ว น้ำเริ่มลดลง กระแสน้ำจะไหลไปยัง อ.ลำทะเมนชัย และ อ.เมืองยาง คาดว่ามวลน้ำจะขังอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจะไหลเข้าสู่ จ.บุรีรัมย์ ส่วนที่ชุมชนบ้านกระพี้-ตลาดเก่า ต.โนนสูง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ชาวบ้านยังคงได้รับความเดือดร้อน และได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 50 ปี น้ำขังมากว่า 5 วันแล้ว ทหาร ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าหน่วยกู้ภัย ฮุก 31 ลงพื้นที่ขนอาหารและส่งของที่จำเป็นใส่เรือพายนำไปแจกจ่ายชาวบ้านที่ต้องอยู่ในสภาพติดเกาะ ระดับน้ำยังสูงถึงเอว

“บิณฑ์” แจกเงินครอบครัวละ 500 บาท

ขณะเดียวกัน นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ผจก.ฝ่ายกิจกรรมพิเศษมูลนิธิร่วมกตัญญู นำกำลังอาสาสมัคร ของมูลนิธิร่วมกตัญญู กรุงเทพฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป่อเต็กตึ๊ง ลงพื้นที่ช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วมในพื้นที่ บ้านหนองอ้อ หมู่ 3 และหมู่ 4 ต.เมืองปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ระดับน้ำสูงท่วมหัว พักอาศัย อยู่ที่ชั้น 2 สภาพเหมือนติดเกาะ นายบิณฑ์แจกถุงยังชีพ พร้อมกับแจกเงินช่วยเหลือเบื้องต้นครอบครัวละ 500 บาท รวม 200 ครอบครัว

ร้อยเอ็ดเตรียมรับน้ำชีล้น

นายภูสิต สมจิตต์ ผวจ.ร้อยเอ็ด พร้อมคณะออกตรวจติดตามพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณตลาดชุมชนบ้านดินดำ ต.ดินดำ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ใช้เป็นจุดอพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราวกรณีเกิดอุทกภัย และบริเวณวัดบ้านดินดำ เป็นจุดที่ ลำน้ำชีเคยล้นตลิ่งและหลากเข้าท่วมในบริเวณวัด พร้อมกับหารือแนวทางและวิธีการแจ้งเตือนประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก

...

ตัวเมืองชัยภูมิบิ๊กคลีนนิง

จ.ชัยภูมิ น้ำเริ่มลดลงแล้วบริเวณหน้าทางเข้าโรงพยาบาลชัยภูมิ รถยนต์วิ่งผ่านได้ตามปกติ แต่สะพานทางเดินชั่วคราวยังไม่ได้รื้อถอน เพราะเตรียมรับสถานการณ์พายุลูกใหม่ที่จะเข้าในวันที่ 4-5 ต.ค. อีกครั้ง ส่วนย่านการค้าที่ถนนหฤทัย ชาวบ้าน ออกมาทำความสะอาดจัดร้าน เก็บสินค้าที่เสียหายนำไปกองทิ้งกันเป็นจำนวนมาก ส่วนที่ถนนสาย 225 ชัยภูมิ-นครสวรรค์ ทางสายหลักเชื่อมจาก จ.ชัยภูมิ และภาคอีสานไปสู่ภาคเหนือเริ่มใช้ได้แล้ว

น้ำชีหนุนสูงท่วมพื้นที่เกษตร

ส่วนอีกด้านในการเร่งระบายน้ำลงสู่ลำน้ำชี ออกจากตัวเมืองชัยภูมิ ล่าสุด หลังสูบน้ำออกจากตัวเมืองต่อเนื่อง ปริมาณน้ำตาม 2 ฝั่งแม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่งหนุนสูงทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรพื้นที่ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ ระดับน้ำท่วมสูงมิดหัว มวลน้ำท่วมใน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านนาโจด หมู่ 6 บ้านหนองเบ็น หมู่ 5 และบ้านหนองปลาปึ่ง หมู่ 1 ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายกว่า 4,000 ไร่ บ้านเรือน 300 หลังคาเรือน ชาวบ้านอยู่ในสภาพติดเกาะ นางกัลป์ยานี จันทร์เพ็ง อายุ 36 ปี ชาวบ้านนาโจด เปิดเผยว่า น้ำมาเร็วมากไม่มีโอกาสได้ตั้งตัว ชีวิตอยู่อย่างลำบากต้องอยู่เฝ้าบ้านหวั่นโจรขโมยของ ส่วนไฟฟ้าและน้ำประปาไม่มีใช้ ช่วงนี้มีเจ้าหน้าที่นำอาหารมามอบให้ทุกวัน

น้ำท่วมเสียหายกว่า 2 หมื่นไร่

ที่ อ.โคกโพธิ์ไชย จ.ขอนแก่น จากผลกระทบจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ มวลน้ำในแม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่ง ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 ตำบล 31 หมู่บ้าน มีราษฎรประสบภัยจำนวน 2,152 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 21,018 ไร่ เจ้าหน้าที่จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภายในโรงเรียนบ้านโนนกระยอม พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ และเตรียมพร้อมช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบอุทกภัยตลอด 24 ชั่วโมง

...

เขื่อนอุบลรัตน์เปิดสปิลเวย์

ขณะเดียวกัน ที่เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่เพิ่มการระบายเป็น 18 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) เป็นวันแรก หลังจากที่คณะอนุกรรมการน้ำจังหวัดขอนแก่น มีมติให้เขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มการระบายน้ำสูงสุด 35 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปริมาณน้ำไหลเข้าปริมาณมาก ทำให้เหลือพื้นที่รองรับน้ำไม่มาก นายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผอ.โรงไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า หลังจากที่พายุเตี้ยนหมู่ และร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคอีสานตอนบน ทำให้เกิดฝนตกหนักเหนืออ่าง เก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ น้ำในลำน้ำสาขาไหลลงสู่เขื่อน อุบลรัตน์ปริมาณมาก ตลอดทั้งสัปดาห์มีน้ำไหลเข้ากว่า 800 ล้าน ลบ.ม. กระทั่งจังหวัดขอนแก่นประชุมคณะอนุกรรมการน้ำจังหวัดขอนแก่นเร่งระบายออกจากเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อรองรับน้ำที่ยังจะไหลเข้าสู่ เขื่อนอุบลรัตน์อีกจำนวนมาก วันนี้ได้ระบายน้ำ 18 ล้าน ลบ.ม. เป็นการระบายผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง 15 ล้าน ลบ.ม. และล่าสุดเปิดสปิลเวย์ระบาย 3 ล้าน ลบ.ม. จากนั้นจะเพิ่มการระบายวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. ไปจนกว่าจะถึง 35 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

...

สุโขทัยเริ่มคลี่คลาย

จ.สุโขทัย สถานการณ์ เริ่มคลี่คลายหลายจุด ทำให้ปริมาณน้ำที่ท่วมขังลดลง แต่ก่อนหน้านี้มีการ ระบายน้ำในแม่น้ำยมบริเวณด้านเหนือประตูระบายน้ำ บ้านหาดสะพานจันทร์ หมู่ 9 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก ลงทางประตูระบายน้ำฝั่งขวาบ้านน้ำโจน ต.ป่ากุมเกาะ และประกอบกับมีฝนตกลงมาในพื้นที่ก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมาก ทำให้มวลน้ำที่ระบายผ่านประตูระบายน้ำฝั่งขวาบ้านน้ำโจน รวมกับปริมาณน้ำฝนมีปริมาณมาก และน้ำไหลลงคลองแม่พระองค์ผ่านต.วังไม้ขอน เพื่อระบายไปยังพื้นที่ ต.ย่านยาว ต.หนองกลับ แต่ด้วยปริมาณน้ำที่ไหลแรงกัดเซาะถนนคันคลองฝั่งตะวันออก ช่วงรอยต่อก่อนที่จะข้าม สะพานระบายน้ำถนนสายสวรรคโลก-ทุ่งเสลี่ยม ต.วังไม้ขอน เป็นแนวยาว 10 เมตร ทำให้มวลน้ำไหลทะลักออกจากคลองแม่พระองค์เข้าท่วมพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านเป็นวงกว้าง

พระราชทานถุงยังชีพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.กัมปนาท รุด ดิษฐ์ องคมนตรี เดินทางไปติดตามสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ปัจจุบันจังหวัดมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.วังทอง อ.บางกระทุ่ม อ.เนินมะปราง และ อ.เมืองพิษณุโลก บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมรวม ทั้งหมด 28 ตำบล 120 หมู่บ้าน จำนวน 1,886 หลังคาเรือน พื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วม 22,556 ไร่ ขณะนี้สถานการณ์ในบางอำเภอเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงน้ำท่วมที่ อ.วังทอง และ อ.เมืองพิษณุโลก จากนั้น พล.อ.กัมปนาทเชิญถุงพระราชทานเครื่อง อุปโภคบริโภคจำนวน 1,886 ชุด ไปมอบแก่ตัวแทนราษฎรที่ประสบอุทกภัย

นครสวรรค์เร่งทำแนวกั้นน้ำหลาก

ส่วนชาวบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ 6 ต.น้ำ ทรง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ช่วยกันเร่งกรอกกระสอบทราย เพื่อทำแนวกระสอบทรายกั้นริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้สูงกว่าพื้นถนนหมู่บ้าน 40 ซม. และเป็นระยะทางยาวกว่า 1 กม. เพื่อป้องกันน้ำเจ้า พระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมหมู่บ้านที่มีมากกว่า 120 หลังคาเรือน ภายหลังกรมชลประทานแจ้งเตือนชาวบ้านที่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ แม่น้ำปิงมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 757 ลบ.ม.ต่อวินาที แม่น้ำน่านมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,280 ลบ.ม.ต่อวินาที แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,631 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำบึงบอระเพ็ดอยู่ที่ 25.35 เมตร คิดเป็นปริมาตรน้ำประมาณ 318 ล้าน ลบ.ม. (176.67% จากความจุ 180 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ประมาณ 20.4 ล้าน ลบ.ม.

“นิพนธ์” เยียวยาผู้ประสบภัย

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย พร้อมด้วยนายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร อดีต ส.ส.นครสวรรค์ น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ อดีต ส.ส.ลพบุรี และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ จำนวน 2 จุด โดยจุดแรกลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกรียงไกร อ.เมืองนครสวรรค์ จุดที่ 2 ที่ชุมชนบางปรอง อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ นายนิพนธ์กล่าวว่า รัฐบาลดูแลประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังแน่นอน และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต 6 รายที่เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยครั้งนี้ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ประสบภัยซึ่งเป็นระเบียบกระทรวงการคลัง ที่บรรเทาความเดือดร้อนรวมทั้งเป็นขวัญ และกำลังใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมย้ำกับทุกภาคส่วนดูแลความปลอดภัยและชีวิตของประชาชนเป็นอันดับแรก

ชะลอน้ำเหนือลงท้ายเขื่อน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน มีหนังสือด่วนที่สุดถึงนายรังสรรค์ ตันเจริญ ผวจ.ชัยนาท ให้แจ้งเตือนประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้าง เขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอีก 20 ซม. เนื่องจากกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ด้วยการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งรวม 376 ลบ.ม.ต่อวินาที เต็มความสามารถที่รับได้ในขณะนี้ ทำให้มีพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ อ.เมืองชัยนาท อ.วัดสิงห์ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท

รพ.สต.ตั้งเต็นท์บริการแทน

นางปิยนาต ครุฑธกะ ผอ.รพ.สต.บ้านวังสาคร ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ตอนนี้ที่ รพ.สต. ถูกน้ำท่วมชั้น 1 แล้วเช่นกัน จึงต้องออกมาตั้งเต็นท์ให้บริการประชาชนตรวจรักษาโรคต่างๆที่ศูนย์อำนวยการหน้าวัดมะปราง พร้อมสั่งการให้หมอ และพยาบาล พายเรือเข้าไปส่งยาแบบถึงมือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยถึงหน้าบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในสถานการณ์อุทกภัย ที่ไม่รู้ว่าอีกกี่วันสถานการณ์จะคลี่คลาย

ท่วมวัดน้ำสูงมิดหัว

ส่วนปริมาณจากแม่น้ำเจ้าพระที่เอ่อล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมเพิ่มสูงขึ้นอีก น้ำท่วมชุมชนบ้านเกาะสวรรค์ หมู่ 6 ต.เกาะเทโพ อ.เมืองอุทัยธานี พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่เป็นสวนผัก และพืชไร่ทั้งข้าวโพด มะละกอ และบ้านเรือนประชาชน รวมทั้งวัดเกาะสวรรค์ท่วมทั้งวัด เมรุใช้การไม่ได้ ระดับน้ำท่วมสูงมิดหัว บ้านเรือนเสียหาย 50 หลัง ชาวบ้านต้องขนย้ายสิ่งของไว้ข้างถนน นอกจากนี้พื้นที่บ้านท่ารากหวาย หมู่ 1 ต.เกาะเทโพ และพื้นที่ชุมชนบ้านวัดราด หมู่ 6 ต.ท่าซุง น้ำท่วมมิดหัว บ้านเสียหายกว่า 150 หลังคาเรือน การเข้าออกต้องใช้เรือเท่านั้น

อินทร์บุรีท่วมมิดหลังคา

ส่วนในพื้นที่ จ.อ่างทอง น้ำท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ป่าโมก อ.วิเศษชัยชาญ อ.ไชโย อ.เมือง และ อ.สามโก้ 36 ตำบล 143 หมู่บ้าน 3,443 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 19,520 ไร่ ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมคณะเดินทางไปให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.ป่าโมก ขณะเดียวกันนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน นำคณะลงพื้นที่ตลาดสดเสาธง ต.เขาพระงาม อ.เมืองลพบุรี เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 7 ต.น้ำตาล อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี น้ำท่วมมิดหลังคา ต้องพายเรืออพยพขนข้าวของไปอยู่ที่ริมถนนคันคลองชลประทาน ร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

วัดจุฬามณีคันกั้นน้ำแตก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุคันกั้นน้ำหลังวัดจุฬามณี ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ความสูง 2 เมตร ทนแรงน้ำไม่ไหวแตก ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทะลักเข้าท่วมพื้นที่วัด รพ.สต.บ้านกุ่ม และบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำสูงถึงหน้าอก ชาวบ้านต้องประสานเจ้าหน้าที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ และ ช่วยกันทำสะพานชั่วคราวไว้เป็นทางเดินเพื่อสัญจรภายในวัด ด้าน น.ส.อรุโณทัย พารอด กำนัน ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า วัดจุฬามณีเป็นวัดบ้านเกิดของนายขนมต้ม บรมครูมวยไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนหน้านี้ชาวบ้านช่วยกันทำแนวป้องกันน้ำ แต่สู้ไม่ไหวน้ำไหลเชี่ยวมากทะลักเข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว โบสถ์และวิหาร สมัยกรุงศรีอยุธยา เมรุ ศาลาการเปรียญรวมถึง รพ.สต.บ้านกุ่ม ถูกน้ำท่วมเสียหายหนัก

สระบุรีอ่วม 3 อำเภอ

นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผวจ.สระบุรี ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำที่ประตูน้ำเริงราง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี และ อ.หนองโดน เพื่อติดตามแนวกั้นน้ำที่บริเวณถนนช่วงต้นคลอง 23 R ที่แยกจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ขาดพังทลาย ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ ต.ตลาดน้อย ต.โคกใหญ่ และ ต. หรเทพ อ.บ้านหมอ แนวกั้นน้ำดังกล่าวถูกน้ำกัดเซาะจนพังมีความกว้าง 40 เมตร ยังไม่สามารถอุดแนวรั่วได้ เนื่องจากน้ำไหลเชี่ยวและแรง ล่าสุดสถานการณ์ในขณะนี้ยังขยายวงกว้างไปอีก 2 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองโดน และ อ.ดอนพุด จ.สระบุรี ระดับน้ำสูงถึงหน้าอก ชาวบ้านอพยพไปอยู่ศูนย์อพยพที่ทางหน่วยงานราชการจัดเตรียมไว้ให้ ขณะนี้ในจังหวัดน้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ดอนพุด อ.บ้านหมอ และ อ.หนองโดน

ตักวัชพืชเปิดทางน้ำ

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปสำรวจคลองน้ำระพีพัฒน์ อ.หนองแค จ.สระบุรี พบว่าเจ้าหน้าที่กรมชลประทานนำรถแบ็กโฮตักวัชพืชที่อยู่เหนือประตูน้ำพระศรีเสาวภาคที่อุดตันเหนือประตูน้ำ เพื่อเตรียมการรองรับมวลน้ำที่จะผันมาจากเขื่อนพระรามหกไหลไปสู่แม่น้ำบางปะกง ในขณะนี้มวลน้ำในคลองระพีพัฒน์นั้นยังถือว่ายังอยู่ในสภาวะปกติ

ตลาดอิงน้ำสามโคกจมบาดาล

พื้นที่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ระดับน้ำล้นเข้าชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมสถานที่ราชการและบ้านเรือนประชาชน ภายในตลาดอิงน้ำสามโคก เป็นตลาดแหล่งท่องเที่ยวระดับน้ำสูงถึงหัวเข่าทะลักเข้าท่วมร้านค้า ถึงแม้ว่าชาวบ้านเตรียมรับมือไว้แล้ว แต่ยังมีข้าวของบางอย่างได้รับความเสียหายเช่นกัน นอกจากนี้ ชุมชนวัดเจดีย์ หมู่ 1 ต.คลองควาย อ.สามโคก น้ำไหลทะลักเข้าบ้านแล้ว ด้านนายสายชล ภู่เฉลิมตระกูล กำนัน ต.คลองควาย และชาวบ้านร่วมกันทำสะพานเหล็ก เพื่อเป็นทางเดินจากปากทางมาถึงหน้าวัดเจดีย์ทอง แต่บางช่วงน้ำลึกต่อสะพานไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนถูกตัดขาดจากภายนอก

กรมชลฯผันน้ำลงทะเล

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาว่า กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เพื่อลดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนและบริหารจัดการน้ำแม่น้ำท่าจีนในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ด้วยการใช้คลองที่มีในพื้นที่เป็นคลองรับน้ำเพื่อการระบายน้ำ เร่งระบายน้ำในพื้นที่ผ่านประตูระบายน้ำ และเครื่องสูบน้ำถาวรบริเวณริมแม่น้ำท่าจีน นอกจากนี้ยังเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่แก้มลิง ผ่านประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยลงสู่ทะเล เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ จะทำการพร่องน้ำในคลองมหาชัยให้ต่ำกว่าตลิ่ง 0.3-0.5 เมตร และเดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองมหาชัยและคลองหวายลิงใหญ่ เสริมในช่วงน้ำทะเลหนุน พร้อมกับเร่งระบายน้ำในคลองสายหลัก เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่ชุมชนด้วย

ปภ.แจง 17 จังหวัดยังอ่วม

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” เคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.64-ปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 31 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา รวม 195 อำเภอ 1,001 ตำบล 6,909 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 264,210 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 8 ราย สูญหาย 1 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด

“อัศวิน” ยันน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ลงเรือตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ใต้สะพานพระราม 7 เขตบางพลัด ถึงชุมชนโรงสี เขตยานนาวา จากนั้นผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่า กทม.เตรียมความพร้อมรับ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจมีระดับน้ำสูงขึ้น รวมทั้งป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ยืนยันว่าปีนี้น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ เหมือนปี 54 กทม. เตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมต่างๆ พร่องน้ำในคลองเพื่อรองรับน้ำ สร้างธนาคารน้ำ (water bank) สร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) ขุดลอกคลอง ลอกท่อระบายน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา ความยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร

เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวร

พล.ต.อ.อัศวินเปิดเผยอีกว่า หลังจากปี 54 เป็นต้นมา เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 14 จุด รวมระยะทาง 2,512 เมตร รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ต่างๆให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง

เตรียมขนของขึ้นที่สูง

สำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต อาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม สั่งการให้สำนักงานเขตในพื้นที่ ประกอบด้วย ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่างๆอย่างทันท่วงที คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะคลี่คลาย สำหรับปริมาณน้ำวันที่ 3 ต.ค. เวลา 06.00 น. ปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่ อ.บางไทร จ.พระนคร ศรีอยุธยา ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่าน กทม.เฉลี่ย 3,052 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด อยู่ที่ระดับ 1.85 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยังต่ำกว่าระดับ คันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม.อยู่ประมาณ 1.15 เมตร ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ปล่อยมาจาก เขื่อนเจ้าพระยา และจากน้ำขึ้นเต็มที่แต่อย่างใด

บช.น.เตรียมกำลังช่วยชาวบ้าน

ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษก บช.น. กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าจะมีพายุ 2 ลูกเข้ามาประเทศไทย และน้ำทะเลหนุนสูงสุดในวันที่ 10 ต.ค. อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ประกอบกับน้ำจากทางภาคเหนือไหลลงมา ระดับน้ำยังไม่สูงเกินกว่ากำหนด ภายใต้การอำนวยการของ ผบช.น. เตรียมกำลังช่วยเหลือประชาชนกรณีมีน้ำท่วมขัง แจ้งให้ประชาชนรับทราบข้อมูลโดยเร็วที่สุด และใช้เวลาคลี่คลายไม่เกิน 1 ชั่วโมง อุโมงค์ดินแดงมีน้ำท่วมขัง 20 ซม. ยาว 50 ซม. เนื่องจากเครื่องสูบน้ำพังไป 1 ตัวจาก 2 ตัว

“บิ๊กตู่” สั่งเหล่าทัพช่วย ปชช.

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม สั่งการทุกเหล่าทัพ สนับสนุนจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสักรับมือกับมวลน้ำที่ทยอยระบายจากพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำสายหลักได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะเดียวกันย้ำให้ทุกเหล่าทัพ ให้การช่วยเหลือประชาชนกว่า 229,000 ครอบครัวในทุกพื้นที่ 31 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องกันไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด ให้สนับสนุนติดตั้งสะพานทางทหารเร่งด่วนให้ประชาชนสามารถสัญจรได้โดยไม่ถูกตัดขาด ประสานทำงานร่วมกับส่วนราชการ อาสาสมัครจิตอาสา และภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมกันนี้แสดงความเสียใจกับกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นาย จากอุบัติเหตุไฟฟ้าแรงสูงช็อตระหว่างนำเครื่องมือช่างลงช่วยเหลือในพื้นที่ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ

กรมอุตุฯเตือนฝนตกหนัก

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า วันที่ 4 ต.ค.64 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 5-9 ต.ค. ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ อนึ่งในช่วงวันที่ 5-9 ต.ค. หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไหหลำ ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย

โพลผิดหวัง ขรก.ต่างคนต่างทำ

สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง วิกฤติน้ำท่วมกับสิ่งที่ปรากฏ จากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 1,196 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.-2 ต.ค. เมื่อถามถึงสิ่งที่เห็น สิ่งที่ผิดหวัง และสิ่งที่อยากเห็นในช่วงวิกฤติน้ำท่วม พบว่า ส่วนใหญ่การลงช่วยเหลือของประชาชน หรือร้อยละ 59.3 ระบุภาคการเมือง เห็นพรรคพลังประชารัฐ ลงช่วยในพื้นที่มากกว่าพรรคอื่นร้อยละ 52.6 ภาคราชการ เห็นกองทัพลงลุยช่วยเหลือประชาชนเข้าถึงพื้นที่น้ำท่วมรวดเร็วมากกว่าหน่วยอื่น และร้อยละ 52.1 ระบุ ผู้นำฝ่ายบริหาร เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ช่วยเหลือดูแลประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.5 ระบุ ผิดหวังต่อการทำงานของข้าราชการแต่ละหน่วยงานที่ต่างคนต่างทำ ไม่เชื่อมโยงกัน จนเกิดความเสียหายต่อประชาชนและทรัพย์สิน ร้อยละ 83.9 ผิดหวัง ต่อระบบการเตือนภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ไม่บูรณาการและไม่มีประสิทธิภาพพอสำหรับการช่วยเหลือเตือนภัยให้ประชาชนทราบล่วงหน้า และที่น่าสนใจร้อยละ 78.5 รู้สึกเบื่อและผิดหวังต่อนักการเมืองฝ่ายค้าน ที่มุ่งโจมตีบั่นทอนสร้างความแตกแยกของประชาชน แม้ยามวิกฤติของประเทศ