การระบาด “โควิด-19” บีบ บังคับให้ผู้คนต้องใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน “เวิร์กฟรอมโฮม” ทั้งทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแทนการออกบ้านเลี่ยงไปในที่สาธารณะ
ทำให้กลุ่มโจรไซเบอร์ใช้เป็นสะพานเชื่อม “หลอกลวงต้มตุ๋นก่ออาชญากรรมบนออนไลน์หลายรูปแบบรายวัน” ทั้งโจรกรรมข้อมูลคอมพิวเตอร์ การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์เรียกค่าไถ่ หลอกร่วมลงทุน หลอกลวงซื้อขายสินค้า ค้าประเวณี แชร์ลูกโซ่ และเว็บสื่อลามกอนาจารมากมาย
นับวันยิ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงลุกลามสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ไม่รู้เท่าทันในโลกโซเชียลฯ “ลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ” ที่ยากต่อการจับกุมดำเนินคดีด้วยซ้ำ
พ.ต.อ.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ อดีตผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บอกว่า พฤติกรรมการก่ออาชญากรรมบนโลกออนไลน์ มีรูปแบบวิธีหลอกลวงต้มตุ๋นประชาชนไม่ต่างจากอดีตนักยกเว้น “การใช้คริปโตเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล” ถูกออกแบบเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนเงินตราไม่ผ่านธนาคารแล้ว “โจรไซเบอร์” ใช้เงินสกุลนี้เข้ามาช่วยปกปิดตัวตนของการกระทำความผิด
...
โดยเฉพาะ “เหยื่อสามารถโอนเงินให้คนร้ายข้ามประเทศโดยตรง” ไม่ต้องผ่านธนาคารกลาง แต่การได้มาต้องนำเงินบาทแลกผ่านเอ็กซ์เชนจ์ ผู้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราตาม กลต.อนุญาตถูกต้องตามกฎหมายแล้ว “สกุลเงินดิจิทัลถูกเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล (E-Wallet)” ใช้จ่ายโอนได้เหมือนเงินปกติ
ประเด็นกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงโควิด-19 “โจรไซเบอร์ฉวยโอกาสชักจูงหลอกผู้คนร่วมลงทุน” ด้วยการสร้างแอปพลิเคชันปลอมทักทายเหยื่อผ่านช่องทางส่วนตัวหลอกล่อให้ร่วมลงทุนจากเงินหลักพันบาทแล้วไม่กี่วัน ก็มีเงินผลกำไรผลตอบแทนโอนคืนให้จริง เพื่อให้เหยื่อตายใจหลงเชื่อเติมเงินลงทุนเพิ่มสูงเรื่อยๆ...แต่ละกลุ่มมีผู้เสียหายหลายร้อยคน มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท ล่าสุดคดีลักษณะนี้มีผู้สูญเงินสูง 91 ล้านบาทต่อคน ทั้งมีแพทย์ตกเป็นเหยื่อไม่ต่ำกว่า 10 คน ขยายต่อผู้ป่วย และคนอื่นอีกหลายราย
หลักๆแล้วเกี่ยวกับ “การลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี” เพราะเป็นกระแสสร้างเงินรายได้ดีแล้วแห่พากันมาร่วมลงทุนโดยไม่มีความรู้เข้าใจชัดเจน เรื่องนี้เป็นช่องโหว่ให้ “กลุ่มมิจฉาชีพมีความรู้” เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้แทนจัดการลงทุนให้ด้วยการรับปากนำเงินมาแล้วจะมีผลตอบแทนสูงเกินจริง
หนำซ้ำ “ผู้เสียหาย” ส่วนใหญ่อยู่ใน “กลุ่มผู้ใหญ่วัยสูงอายุ” เพราะ ชีวิตไม่ค่อยคลุกคลีโลกไซเบอร์ แต่กลับถูกสถานการณ์โควิด-19 บีบบังคับให้ต้องมาทำงานผ่านอินเตอร์เน็ต “เวิร์กฟรอมโฮม” กลายเป็นเด็กอ่อนต่อโลกไซเบอร์จนถูกหลอกลวงได้ง่ายที่ “ยิ่งแก่ยิ่งตกเป็นเป้าหมาย” มีตัวเลขกลุ่มนี้ ตกเป็นเหยื่อสูงมาก
ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า “ผู้สูงอายุ” ส่วนใหญ่มีเงินก้อนที่เก็บออมมาตลอดทั้งชีวิตแล้วถูกใช้หมดไปทีละน้อยลงเรื่อยๆทำให้กังวลจนต้อง “นำเงินออมนั้นมาสร้างดอกเบี้ยงอกเงยออกเป็นผลกำไร” คนร้ายจึงใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นล่อลวงจากผลประโยชน์ค่าตอบแทนกำไรที่สูง 5-15% ต่อวัน ที่มัก ได้ผลมีผู้ตกเป็นเหยื่อมาตลอด
ไม่เท่านั้น “กลุ่มอายุ 30-40 ปี” ที่เป็นวัยทำงานหากินมีเงินเก็บออม ค่อนข้างมากแล้วก็ตามกระแสหันมาสนใจลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีถูกหลอกเยอะไม่แพ้ผู้สูงอายุเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนบิทคอยน์ที่มีกลุ่มมิจฉาชีพทักทายผ่านระบบออนไลน์เสนอตัวเป็นผู้แทนจัดการลงทุนให้ก่อนถูกเชิดเงินหนีหายไปในกลีบเมฆ
การตรวจสอบ “ไอพีแอดเดรส คนร้ายใช้ในการก่อเหตุอาชญากรรมออนไลน์” มักปรากฏกระจายอยู่ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านห่างจากประเทศไทยราว 2-3 กม.เท่านั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้อยู่ภายใต้อำนาจกฎหมายไทยในการติดตามจับกุมได้ยาก ทั้งยังเชื่อว่า “คนไทย” น่าจะมีส่วนร่วมขบวนการนี้
...
ปัญหาเพราะ “ตำรวจไทย” ไม่สามารถข้ามเขตแดนตามจับกุมคนร้ายในประเทศเพื่อนบ้านได้จำเป็นต้องใช้กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่อกัน ถ้าไม่มีต้องใช้วิธีประสานขอความร่วมมือ “ตำรวจในประเทศปลายทาง” เพื่อช่วยเหลือตามดุลพินิจในการติดตามจับกุมคนร้ายต่อไป
ตามหลัก “ตำรวจในประเทศนั้น” ต้องให้ความสำคัญต่อประชาชนตัวเองก่อนเสมอ ที่มีภารกิจทำคดีให้พลเรือนตัวเองล้นมือ ส่วน “คดีความร่วมมือระหว่างประเทศ” อาจถูกจัดระดับความสัมพันธ์ด้วยก็ได้
แต่ว่าในช่วงโควิด-19 ระบาดที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตพึ่งพาอินเตอร์เน็ต ทำ ธุรกรรม ซื้อ ขายสินค้า บริการ ผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น ส่งผลให้การก่ออาชญากรรมบนโลกออนไลน์เพิ่มชัดทุกด้านแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน ...ข้อมูล “เอ็ตด้า” เดือน ม.ค.-ส.ค. “คดีฉ้อโกงในประเทศ” ผู้ใช้ออนไลน์ ถูกหลอกซื้อของแล้ว “ไม่ได้สินค้า หรือสินค้าไม่ตรงปกจำนวนมาก” แต่ไม่แจ้งความดำเนินคดีเกรงเสียเวลาเลยปล่อยคนร้ายลอยนวลไป
...
ด้วยเหตุที่ว่า “คนทำผิดอาศัยอยู่ต่างแดน” รับออเดอร์แล้วส่งสินค้าตรงมาจากประเทศ ไม่สามารถตามจับกุมได้โดยง่ายจากอุปสรรคข้อกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้เป็นช่องโหว่ให้คนไทยถูกหลอกทุกวันนี้...สิ่งที่อยากเตือน “โฆษณาผ่านไลน์ 90% เป็นสินค้าหลอกลวง” แต่ด้วยผู้บริโภค ไม่ตรวจสอบสินค้าก่อนซื้อเลยตกเป็นเหยื่อเสมอ มีจุดสังเกตง่ายๆ กดตรงโลโก้ชื่อร้าน เพื่อตรวจสอบรีวิว คอมเมนต์ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลผู้ที่เคยซื้อ แล้วนำมาประกอบการตัดสินใจได้ เพื่อมิให้ต้องตกเป็นเหยื่อถูกหลอกเสียหายตามมา
อีกทั้งช่วงนี้ยังมี “สื่อลามกอนาจาร” บริการทางเพศบนโลกอินเตอร์เน็ตแลกเงินเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วยเพราะ “ผู้คน” ไม่สามารถหารายได้จากช่องทางอื่นแล้วจำเป็นต้อง “นำคลิปภาพของตนเองลักษณะลามกอนาจาร” เผยแพร่เข้าสู่เว็บไซต์แลกรับประโยชน์เกิดเป็นธุรกิจใหม่มากมาย
ส่วนใหญ่มัก “โชว์เรือนร่างแลกยอดกดไลค์” เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ตอบแทน ลักษณะเป็นการผลิตสื่อลามกอนาจารเพื่อการค้า “ประเทศไทย” ยังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายทำไม่ได้ มีโทษทั้งจำคุก...ปรับ
...
จริงๆแล้ว “โลกสื่อสารไร้พรมแดน” การแก้เรื่องนี้ “ควรเปิดเสรีอย่างมีเงื่อนไข” ด้วยการจดทะเบียนผู้ผลิตสื่อลามกนำสู่การเก็บภาษีแล้ว “แอดมิน” คอยควบคุมคัดกรองผู้เข้าดูอายุเกิน 18 ปีขึ้นไป ถ้ามีภาพ คลิปวิดีโอเด็ก หรือภาพละเมิดคนอื่น ต้องนำออกแล้วแจ้งตำรวจทันที ถ้าแอดมินไม่ปฏิบัติฝ่าฝืนต้องถูกดำเนินคดี...ประการต่อมา “อาชญากรรมบนโลกออนไลน์ภัยอันตรายเบอร์ 1 ของโลก” ระบาดหนักมุ่งโจมตีหน่วยงานราชการสำคัญ และองค์กรขนาดใหญ่ตกเป็นเป้าหมายด้วยการใช้ “แรนซัมแวร์” (Ransomware) เป็นเครื่องมือการปล่อยอีเมลส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ฐานข้อมูลถูกบล็อกเรียกค่าไถ่ที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ
แต่ด้วย “ผู้เสียหาย” ไม่ยอมเปิดเผยกลัว “ภาพลักษณ์เสียหาย” ตามข้อมูลอินเตอร์โพล (Interpol) ระบุองค์กรตกเป็นเป้าหมายกว่า 90% ยอม จ่ายเงินเรียกค่าไถ่นี้ด้วยซ้ำ
สุดท้ายฝากไว้ว่า “อาชญากรรมออนไลน์” เป็นการก่อเหตุไร้พรมแดนที่เรียกว่า “อาชญากรรมข้ามชาติ” ส่วนใหญ่กฎหมายเอื้อมถึงตัวผู้ทำผิดยาก ในขั้นตอนการจับกุมมีอุปสรรคเยอะมาก ตั้งแต่แปลเอกสารภาษาอังกฤษส่งกองการต่างประเทศพิจารณาข้อกฎหมายนำเรียน ผบ.ตร. ส่งให้อัยการสูงสุด ฝ่ายต่างประเทศ
พิจารณาโทษความผิดต้องตรงกันสองประเทศ จึงสามารถเข้าสู่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ตอกย้ำระหว่างคุยกับ พ.ต.อ.ปองพล ปรากฏมีโทรศัพท์ 06-2631-4xxx ปลายสายเสียงผู้หญิงระบุว่า “รัฐบาล” มีนโยบายช่วยเหลือเยียวยาผู้รับผลกระทบโควิดจากเงินกู้ 2 พันล้านบาท ท่านได้สิทธิ์รับเงิน 2 แสนบาท สามารถยืนยันได้ จากนั้นก็มีข้อความส่งลิงก์สมัครรหัสการเชิญ 48335xxx เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิ์ตามมา
“อาชญากรรม” พัฒนาควบคู่ความเจริญตามเทคโนโลยี เมื่อสังคมเจริญมาก ก็เติบโตเป็นเงาตามตัวเช่นกัน ยันต์ป้องกันภัยถูกหลอกอย่าโอนเงินให้ใครง่ายๆโดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบคู่สนทนา.