น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กอย่างมาก เนื่องจากโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 90% ต้องปิดตามมาตรการควบคุมความเสี่ยง ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ถดถอย ปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่ 1.เด็กติดสื่อจอใส ทั้งทีวี โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต 2.เด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ขาดกิจกรรมทางกาย และ 3.เด็กมีพัฒนาการถดถอยทั้งทางสติปัญญา กาย อารมณ์ และสังคม สสส. และภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันจัดทำ “กล่องครอบครัวยิ้ม” เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ไม่ให้หยุดนิ่งหรือถดถอยเพราะสถานการณ์ล็อกดาวน์ โดยใช้การเล่านิทาน และส่งเสริมการเล่นอิสระในครอบครัว

ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวด้วยว่า กล่องครอบครัวยิ้มจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้เด็กมีกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองมากขึ้น ส่งเสริมความรักความอบอุ่นในครอบครัว โดย สสส.และภาคีเครือข่ายได้นำร่องจัดส่งไปยัง 17 จังหวัด 95 ตำบลในพื้นที่ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ รวมจำนวน 2,140 ชุด ซึ่งครอบครัวที่จะได้รับกล่องจะต้องผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกก่อน.