สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยงานหลักเกี่ยวกับงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ เป็นองค์กรหนึ่งที่มุ่งเน้นนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ที่ผ่านมาจึงมีการถ่ายทอดงานวิจัยสู่ชุมชน รวมถึงเอกชนเสมอมา

ล่าสุดได้ร่วมมือกับคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ถ่ายทอดองค์ความรู้ในงานวิจัย “ระบบปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบ น้ำไหลเวียน” หรือ Dynamic Root Floating Technique (DRFT)

พร้อมติดตั้งระบบให้กับพื้นที่ชุมชน 9 จังหวัด 14 กลุ่ม ได้แก่ จ.พัทลุง พิจิตร เชียงใหม่ พะเยา สุพรรณบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และกาฬสินธุ์

DRFT เป็นระบบที่ถูกออกแบบมาให้มีการไหลเวียนสารละลายธาตุอาหารผ่านรากพืช มีวาล์วปรับระดับน้ำ และตัวปั๊มเพื่อเพิ่มออกซิเจน ค่าไฟเฉลี่ยแค่วันละ 1 บาท เหมาะสำหรับการปลูกผักรวมถึงพืชสมุนไพรได้ทุกชนิด

มีธาตุอาหารในรูปสาร ละลาย คือ ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุ ใช้ชีวภัณฑ์ บี-เวจจี้แบบขยายควบคุมศัตรูและป้องกันและควบคุมโรครากเน่าและใบจุด ผลผลิตมีปริมาณไนเทรตไม่เกินค่ามาตรฐาน

ระบบมีขนาด 1.2 × 3.4 เมตร คลุมโครงหลังคาด้วยพลาสติกขุ่น ติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำให้น้ำไหลเวียนไปพร้อมกับธาตุอาหาร โดยแช่ในถังพักสารละลาย เคลื่อนย้ายได้สะดวก เหมาะกับสังคมสูงวัย และเกษตรกรยุคใหม่

พร้อมกับต่อท่อสูบส่งไปเลี้ยงระบบไหลเวียนไปแต่ละร่องปลูก เพื่อให้ผ่านรากแต่ละต้น และระบายผ่านวาล์วรักษาระดับน้ำ กลับไปที่ถังพักสารละลายธาตุอาหาร ตลอดอายุการปลูก

ข้อดีของระบบนี้...ไม่ต้องรดน้ำ พรวนดินให้เสี่ยงรากพืชเสียหาย ให้ธาตุอาหารที่เหมาะสมสมดุล จึงไม่ต้องวัดค่าความเข้มข้นของธาตุอาหารพืช

...

ประหยัดน้ำเนื่องจากใช้ระบบน้ำหมุนเวียน ประหยัดเวลา และแรงงานในการจัดการดินปลูก ไม่ต้องคอยกำจัดวัชพืช ใช้เวลาพักแปลงแค่ 2 วันเท่านั้น

ที่สำคัญพืชเจริญเติบโตเร็ว ใช้เวลาปลูกเพียง 38 วันก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ต่างจากปลูกในดินที่ต้องใช้เวลา 45-55 วัน ได้ปริมาณพืชผักมากกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกในดินขนาดเท่ากัน และผักมีรสชาติอร่อยกว่า.

สะ–เล–เต