กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เดินหน้าสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด STI for New Normal กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของใหม่ๆ คนไทย ผ่าน BCG โมเดล
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า สำหรับการจัดโชว์นวัตกรรมในรูปแบบออนไลน์ ที่จัดขึ้นในธีมแบบอวกาศ ทำให้งานดูน่าค้นหาและน่าสนใจมากขึ้น จึงนับว่าเป็นโอกาสดี ที่เราจะได้เห็นการนำศักยภาพการพัฒนาวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาใช้อย่างจริงจังในภาวะวิกฤติ ซึ่งถือเป็นผลงานที่ไม่ใช่แค่งานวิจัย แต่สามารถจับต้องได้จริง อย่างห้องแยกโรคความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการทำงานภาคสนาม หรือจะเป็นหุ่นยนต์ปิ่นโต 2 เครื่องผลิตละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สำหรับฆ่าเชื้อ รวมไปถึงนวัตกรรมวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 และชุดตรวจโควิดด้วย

ทั้งนี้ เราหวังจะให้ผลงานต่างๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา ในงาน TechnoMart 2021 ที่ผ่านมา ถูกนำไปใช้ไปต่อยอดธุรกิจได้จริง โดยทาง อว. จะมีหน้าที่ในการสนับสนุนในทุกมิติ จนพัฒนาผลงานไปสู่เชิงพาณิชย์ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ ผู้ใช้ ตลอดจนสร้างรายได้แก่นักคิดนักประดิษฐ์ทุกคน
...
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากนี้ อว. จะจับมือสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสร้างสรรค์ ร่วมคิดค้น ผลงานนวัตกรรมต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ไปพร้อมๆ กับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ เพื่อให้ผลงานทุกชิ้น สามารถนำไปใช้ได้จริง จนต่อยอดธุรกิจ เกิดการซื้อขายระหว่างนักวิจัย ผู้คิดค้น ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ และเพื่อสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งแนวคิดเรื่องนี้ก็เป็นไปตามที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ ได้มอบนโยบายไว้อย่างชัดเจน เรื่องงานประดิษฐ์ที่ใช้ได้จริง และยังสอดรับกับแนวคิด “BCG Model” ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดยมุ่งขับเคลื่อนประเทศด้วยรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตแบบองค์รวม ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่รวมอยู่

ด้านรองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การแสดงผลงานต่างๆ กระทรวง อว.พร้อมผลักดันให้เกิดการเจรจาธุรกิจ การพัฒนาผลงานให้ตรงตามความต้องการของตลาด นำไปสู่การสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีผลงานของกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 80 หน่วยงาน และมีผลงานมากกว่า 200 ผลงาน
สำหรับผลงานรางวัลสิ่งประดิษฐ์รอบชิงแชมป์ ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นกิจกรรมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ ที่มุ่งเน้นการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์จากองค์ความรู้ กระบวนการวิจัยและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นำไปสู่ผลงานที่มีประโยชน์ สามารถใช้งานได้จริง ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เครื่องช่วยแช่ข้าวและบ่มข้าวด้วยวิธีการนึ่ง เพื่อทำข้าวฮางงอก จากวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมากระบบกึ่งอัตโนมัติ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี , รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องอบกระเทียมดำประหยัดพลังงานเพื่อชุมชน จากวิทยาลัยเทคนิคลำปาง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ เตาด้วยไอน้ำอบโอ่งและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี.