ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ต้องจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เด็กได้รับความรู้ไม่เต็มที่นั้น ในส่วนของการประเมินผลการเรียน หรือจัดสอบเพื่อเลื่อนชั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ย้ำกับโรงเรียนต่างๆ ว่า การประเมินผลการเรียนเพื่อเลื่อนชั้นยังคงต้องมี แต่ให้ปรับยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ไม่มีการสอบวัดความรู้ตามเนื้อหาการเรียน แต่อาจใช้การประเมินผ่านใบงาน หรือยืดหยุ่นตามบริบทของพื้นที่ เช่นเดียวกับการเรียนในภาคเรียนที่ 2 โรงเรียนก็ต้องยืดหยุ่นจัดการเรียนการสอนได้ตามสถานการณ์ โดย สพฐ.ให้สถานศึกษาเป็นผู้ตัดสินใจการจะเปิดหรือไม่เปิดสอนยังสถานศึกษา โดยการตัดสินใจต้องได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นอันดับแรก จากนั้นต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดเป็นผู้อนุมัติ และโรงเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข
“ตอนนี้มีสถานศึกษาหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงเข้มแต่ในชุมชนไม่มีการระบาดของโควิด-19 และถือว่าเป็นสีเขียวอยากจะเปิดการเรียนการสอนที่สถานศึกษา หรือ Onsite โดยความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และ อสม.เข้ามาดูแลเพื่อให้บุตรหลานได้กลับมาเรียนยังสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้รับรายงานว่ามีสถานศึกษาในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น สถานศึกษาใน จ.เชียงราย ก็ดำเนินการไปแล้ว หรือแม้แต่ จ.น่าน ที่สถานศึกษาแต่ละแห่งอยู่ห่างไกลกันก็ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยืนยันว่า สพฐ.ไม่มีนโยบายเดียวให้โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศปฏิบัติเหมือนกันหมด แต่ให้ดูความเหมาะสมกับบริบท และความต้องการของแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
...
ดร.อัมพรกล่าวอีกว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่เลื่อนออกไปจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับจะมีข้าราชการครูจำนวนหนึ่งต้องเกษียณอายุ ก.ย.นี้ อาจส่งผลกระทบปัญหาขาดแคลนครูนั้น ขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ปีนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาจะเกษียณอายุราชการประมาณ 20,000 คน ขณะที่ สพฐ.มีสถานศึกษาในสังกัดทั้งหมดกว่า 35,000 แห่งเฉลี่ยแล้วเกษียณอายุราชการแห่งละคน รวมถึงสถานศึกษาแต่ละแห่งก็จ้างครูอัตราจ้างอยู่แล้วจึงไม่กระทบ แต่หากสถานศึกษาใดมีผลกระทบจากการขาดแคลนครูก็ได้ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ละแห่งทั่วประเทศบริหารจัดการให้พื้นที่เรียบร้อยแล้ว.