ผลกระทบจากโควิด–19 สินค้าเกษตรแทบทุกชนิดประสบปัญหาราคาตกต่ำ...แต่ไม่ใช่กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปูนาใน จ.บุรีรัมย์ ที่ยังคงมีออเดอร์เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย
จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปูนายังเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถนำไปแปรรูปและนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ปัจจุบันตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรจึงให้ความสนใจเลี้ยงกันมากขึ้น
“เดิมทำโฮมสเตย์ต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ช่วงปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงหาอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงปูนาน้ำใสในบ่อผ้าใบ หรือกระชังบก เพราะมองว่าแทบทุกบ้านในพื้นที่ล้วนใช้ปูเป็นวัตถุดิบผลิตอาหาร จึงน่าจะมีอนาคต เริ่มต้นจากการซื้อปูนาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 10 คู่/กระชัง ทดลองเลี้ยงตามวิธีการที่ศึกษาจากสื่อโซเชียล และอบรมดูงานตามฟาร์มเลี้ยงต่างๆจนประสบผลสำเร็จ จากนั้น
จึงเปิดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้เพื่อสร้างอาชีพ”
...
น.ส.พาพัชร ศรีชนะ เจ้าของศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงปูนาน้ำใสในบ่อผ้าใบ บ้านโคกเมือง ต.จระเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ บอกถึงที่มาของการเลี้ยงปูนาเป็นรายได้เสริม ที่กลายมาเป็นรายได้หลัก...เมื่อเริ่มเลี้ยงเป็น จึงเพิ่มจาก 1 กระชัง สู่ 15 กระชัง (ขนาด 2×3 เมตร) สามารถเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้กระชังละ 100 คู่
มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยกระชังละ 24,312 บาทต่อรอบการผลิต โดยแม่พันธุ์จะให้ลูกในเดือนที่ 4–5 กระชังละ 1,000 ตัว จากนั้นจะอนุบาลลูกปูและเลี้ยงจนเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จึงสามารถจับขายได้ ใช้เวลาเลี้ยงเฉลี่ย 8 เดือน ราคาขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์คู่ละ 80–100 บาท ส่วนแม่พันธุ์พร้อมคลอดตัวละ 200 บาท ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยกระชังละ 55,000 บาท กำไรกระชังละ 30,688 บาทต่อรอบการผลิต
ต่อมาเริ่มพัฒนามาสู่การเลี้ยงในบ่อดินและบ่อปูนควบคู่กันไป หลังจากพบว่าปูจะชอบมากกว่า เพราะเสมือนการเลียนแบบธรรมชาติ ที่สำคัญไม่ต้องทำความสะอาดบ่อยเหมือนเลี้ยงในกระชัง
จากเดิมเลี้ยงในกระชังขนาด 2×3 เมตร 15 กระชัง กระชังละ 100 คู่ ปัจจุบันเหลือกระชังแค่ 2-3 กระชัง แต่เพิ่มบ่อปูน 5 บ่อ บ่อดิน 2 บ่อ และบ่อวง 4 บ่อ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นกะละมังสำหรับอนุบาลลูกปู
...
วิธีการเลี้ยงในบ่อดินและบ่อปูน...ปล่อยปู 30 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. ปล่อยน้ำแค่พอท่วมหลังปู เปลี่ยนถ่ายน้ำวันเว้นวัน เพราะปูนาชอบน้ำสะอาด จึงเป็นที่มาของ “ปูนาน้ำใส” ให้อาหารปลาดุกไซส์เล็กเฉลี่ยตัวละ 3-5 เม็ด วันละครั้งในช่วงพระอาทิตย์ตก เพราะปูหากินตอนกลางคืน
เสริมด้วยผักผลไม้สุกหรือข้าวสวยเล็กน้อยตามสมควร แต่ห้ามให้สับปะรด เพราะปูไม่ชอบและทำให้น้ำเสียง่าย เลี้ยง 4-5 เดือน จะเริ่มให้ผลผลิต
ด้านการตลาด 75% จำหน่ายให้กับผู้เลี้ยงรายย่อยในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง อีก 20% แปรรูปเป็นปูดอง ปูร้า น้ำพริกปู และข้าวเกรียบปู จำหน่ายให้กับร้านค้าและนักท่องเที่ยวทั่วไป
ที่เหลือขายทางออนไลน์ผ่าน Page Facebook 239 ฟาร์มปูนา จังหวัดบุรีรัมย์ สนใจสอบถามได้ที่ 08-0282-8239, 06-4192-8919 หรือ ID line : papat239.
กรวัฒน์ วีนิล