คลิปภาพ “ทีมผู้กำกับโจ้ ใช้ถุงดำครอบหัวผู้ต้องหาขาดอากาศหายใจเสียชีวิต” ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง จนกลายเป็นประเด็นร้อนสั่นสะเทือน “วงการสีกากี” ถูกเหมารวมดังสุภาษิตสำนวนไทยที่ว่า “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง”

แต่ก็ว่าไปแล้ว “การรีดเอาคำรับสารภาพจากผู้ต้องหา” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยที่มักมีข่าว “คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม” ให้เห็นเป็นระยะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนี้

ส่วนใหญ่กล่าวกันว่าปัญหามาจาก “ตํารวจ” ที่เป็นต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมที่มักใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องหาระหว่างควบคุมตัว ไม่ว่าจะเป็นละเมิดสิทธิตรวจค้น บุกจับ ประจานต่อสาธารณะ ซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพ หรือให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน

อันเป็นพฤติกรรมจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ทําไปเองโดยพลการของคนบางกลุ่มเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว หรืออีกกรณีทําตามหน้าที่ที่มีเจตนาที่ดี แต่อาจเป็นเหตุพลาดพลั้งไปก็มี...ทางกฎหมายว่ากันด้วย “สิทธิผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับกุมในชั้นสืบสวน” มีสิทธิได้รับการคุ้มครองอยู่เสมอทุกขั้นตอน ตั้งแต่มีสิทธิแจ้งญาติทราบ สิทธิประกันตัว สิทธิพบปรึกษาทนายเป็นการส่วนตัว หรือให้ทนายร่วมฟังการสอบปากคำ และสิทธิจะให้การ หรือไม่ให้การก็ได้ แต่ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นอยู่เช่นเดิม

...

โดยเฉพาะคนจนมักตกเป็นเหยื่อถูกใช้ความรุนแรง เพราะขาดความรู้กฎหมายไม่อาจเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่รัฐจัดให้ไว้ได้ คมเพชญ จันปุ่ม หรือ “ทนายอ๊อด” ประธานเครือข่ายทนายชาวบ้าน ว่า

จริงๆแล้วตามหลักกฎหมายในชั้นการจับกุมผู้ต้องหากระทำผิดคดีอาญาทั่วไป “พนักงานสอบสวน” ต้องรวบรวมพยานหลักฐานขอหมายจับจากศาลก่อนเสมอแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โทษจำคุกเกินกว่า 3 ปี ศาลสามารถออกหมายจับได้ทันที ในส่วน “โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี” พนักงานสอบสวนต้องออกหมายเรียก 2 ครั้ง

ผู้นั้นไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุอันควรที่เชื่อว่าจะหลบหนี หรือก่ออันตรายก็ขอออกหมายจับได้

ยกเว้นกรณีความใน ป.วิ.อาญา ม.78 อันเป็น “เหตุความจำเป็น” ที่ไม่ต้องออกหมายเรียก หรือหมายจับในลักษณะเหตุจำเป็นของพฤติการณ์ควรสงสัยจะก่อเหตุมีเครื่องมือ อาวุธใช้ในการทำความผิดหรือเหตุเชื่อจะหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน อีกกรณี “กระทำความผิดอันเป็นเหตุความผิดซึ่งหน้า” ตาม ป.วิ.อาญา ม.80

อย่างเช่นตำรวจเห็นคนร้ายชิงทรัพย์ต่อหน้าต่อตาเช่นนี้สามารถจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ แต่มิใช่ว่าคนร้ายหนีกลับถึงบ้าน 2-3 ชม.แล้วตามไปเข้าจับกุมตัวลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นเหตุความผิดซึ่งหน้าได้

ทว่า “กระบวนการจับกุมผู้ต้องหา” ก็มีกฎหมายให้หลักปฏิบัติไว้เช่นกันที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานรัฐ สามารถทําตามความอำเภอใจได้ตาม ป.วิ.อาญา 7/1 มีตั้งแต่สิทธิแจ้งญาติทราบว่าถูกจับกุมให้มาประกันตัว สิทธิพบปรึกษาทนายเป็นการส่วนตัว สิทธิให้ทนายเข้าฟังการสอบปากคำ สิทธิได้เยี่ยม ถ้าบาดเจ็บต้องได้รับการรักษา

...

ในชั้นสอบสวนตำรวจต้องบอกสิทธิที่ผู้ต้องหามีด้วยการถามว่า “มีทนายไหม” ถ้าหากไม่มีแล้วเขาต้องการควรจัดหาทนายให้เร่งด่วน ดังนั้นถ้าไม่ทำตาม ป.วิ.อาญา 7/1 ถือว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการสอบสวนมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีผลเท่ากับไม่ได้สอบสวนในคดีนั้นส่งกระทบต่อการฟ้องคดีได้เช่นกัน...ตอกย้ำในทางปฏิบัติบางครั้ง “ผู้จับกุม” มักไม่ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนการจับกุมเคร่งครัด ในการแจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับกุมทราบตั้งแต่แสดงหมายเข้าจับกุมหรือไม่แจ้งสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ เมื่อนำตัวมาโรงพักแล้ว “ตำรวจสืบสวน” มักทำการสอบสวนให้ยอมรับสารภาพในระหว่างควบคุมตัวสอบสวนได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง

ลือกันว่ามีตั้งแต่วิธีแบบเบาๆ พูดจูงใจให้ความหวังเพื่อรับสารภาพ เช่น รับสารภาพแล้วจะให้ประกันตัว รับสารภาพแล้วจะลดโทษเบาลง สิ่งที่นิยมใช้ที่สุดคือการให้ความหวังเกี่ยวกับ 100/2 หรือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ม. 100/2 ที่ผู้ทำความผิดให้ข้อมูลสำคัญเป็นประโยชน์การปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

เพื่อจะได้ลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แต่ว่าการที่จะได้ 100/2 นี้ผู้ต้องหาต้องให้ข้อมูลผู้ค้ารายอื่นที่ขยายผลให้ทางการจับผู้ค้ารายใหญ่กว่าได้เท่านั้น

กล่าวกันถึงขั้นว่าบางครั้งบานปลายเป็น “ละเมิดสิทธิผู้ต้องหารุนแรง” เช่นกรณีเมื่อหลายปีก่อนผู้ต้องหาถูกจับกุมข้อหาวิ่งราวทรัพย์ควบคุมตัวอยู่โรงพักแล้วถูกใช้ไฟฟ้าช็อตร่างกายและอวัยวะเพศ เพื่อให้รับสารภาพ ทั้งในปี 2556 ตำรวจใช้เครื่องไฟฟ้าช็อตไข่บังคับ 5 เยาวชนรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ร้านขายของชำ

ตามหลักแล้ว “ตำรวจสืบสวน” มีหน้าที่หาข่าวการกระทำความผิดมีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดแสดงหลักฐานให้รู้แห่งความผิดส่งตัวผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีนั้น ที่มิใช่ว่า “ผู้ต้องหาปฏิเสธแล้วจูงใจ หรือใช้ความรุนแรงให้รับสารภาพ” ที่เป็นการกระทำไม่ถูกต้อง

...

เรื่องนี้บอกเลยว่า “คำจูงใจให้รับสารภาพ” มิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา ม.135 การถามคำให้การผู้ต้องหาห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใดๆซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญหลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบประการใดเพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆในเรื่องที่ต้องหานั้น

สุดท้าย “กระบวนการจับกุมมิชอบด้วยกฎหมายในชั้นสอบสวน” ที่กล่าวมานั้นมักนำจัดแจ้งให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายกำหนดไว้ “ลงในบันทึกการจับกุม บันทึกคำให้การสำนวนคดี” แล้วจบด้วยให้ผู้ต้องหาลงชื่อรับสภาพโดยปริยาย ที่เกิดจาก “การขาดความรู้ด้านกฎหมาย” ในการใช้สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม...ก่อนนำสำนวนคดีส่งให้ “อัยการ” พิจารณากลั่นกรองหลักฐานที่ได้มามีมูลเพียงพอที่จะส่งฟ้องในชั้นศาล หรือไม่สั่งฟ้องก็ได้ถ้าไม่มีมูลเพียงพอ หรือไม่ใช่ความผิดประเภทอาญานั้น

ประเด็นน่าสนใจ...“ความผิดอันเกี่ยวกับยาเสพติด” มีหลักปฏิบัติต่างจาก “ความผิดอาญาทั่วไป” ที่ให้อำนาจพิเศษ “เจ้าพนักงานผู้ได้รับมอบหมาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 2519” ส่วนใหญ่ แต่ละโรงพักมักมีตำรวจระดับสารวัตร ที่ผ่านการฝึกอบรมได้รับแต่งตั้งรับมอบหมาย 2-3 นายต่อแห่งด้วย...สามารถเข้าตรวจค้น และการจับกุมในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดโดยไม่ต้องมีหมายแล้วยังควบคุมตัวไว้สอบสวนได้ไม่เกิน 3 วัน เพื่อนำตัวไปขยายผลเครือข่ายยาเสพติด ก่อนส่งตัวให้พนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา ควบคุมตัวได้อีกไม่เกิน 48 ชม. นั่นหมายความว่า “ผู้ต้องหายาเสพติด” ต้องถูกควบคุมตัว 5 วัน

...

ทำให้มักมีข้อครหาเสมอมาว่า เป็นช่องว่างในการใช้ หรือมีอำนาจมากเกินความจำเป็นที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำล่วงละเมิดต่อกฎหมาย ในการเกิดช่องทางแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เช่น ทรมานร่างกาย และจิตใจผู้ทำผิด เพื่อบีบบังคับให้รับสารภาพที่อาจไม่ได้มุ่งแสวงหาพยานหลักฐานความจริงก็ได้

ถัดมา “การนำผู้ต้องหาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ” มักมีการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาโดยตรง แม้ว่าตำรวจมักอ้างเพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีก็ตาม แต่ในคดีอาญาแล้ว “ตราบใดยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุด” ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ผู้ต้องหายังไม่มีความผิด” มีสิทธิได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งการทำแผนนี้ยังเป็นเสมือนการบังคับให้ “ผู้ต้องหารับสารภาพ” เพราะมีหลายกรณีผู้ต้องหากลับคำรับสารภาพในชั้นศาลอันเป็นการถูกบังคับให้สารภาพนั้น สิ่งสำคัญการนำตัว “ผู้ต้องหา” ไปจุดเกิดเหตุมักมี “ผู้โกรธแค้นไม่พอใจ” นิยมเปิดฉากทำร้ายรุมประชาทัณฑ์ระหว่างการทำแผนประกอบคำรับสารภาพอยู่เสมอ

คิดเล่นๆถ้าผู้ต้องหาถูกรุมทำร้ายเสียชีวิตขึ้น “ผู้นำตัวไปทำแผนต้องมีความผิด ป.อ.ม.157 และคนทำร้ายมีความผิด ป.อ.ม.295”...“การนำตัวผู้ต้องหาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ” ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้จำต้องได้รับความยินยอมจากตัวผู้ต้องหาเอง ที่ไม่ใช่ถูกบังคับ หรือขู่เข็ญอย่างที่เกิดขึ้นในหลายกรณี

ย้ำว่ากฎหมายไทยเป็นระบบกล่าวหาตราบใด “ศาลไม่มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษ” ผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญานั้นถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์เสมอจะปฏิบัติต่อเขาเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้.