ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้สงสัยเหตุใดนักศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่งไม่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทางการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อนักเรียน 1 คนนั้น ขอชี้แจงว่าการจัดทำตัวเลขข้อมูลผู้ที่จะได้รับการเยียวยาเพื่อเสนอให้กับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดทำข้อมูลตัวเลขนักเรียน นักศึกษาในสังกัดทุกระดับ ตั้งแต่ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 662,389 คนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 356,757 คน และปริญญาตรี 10,538 คน รวมทุกระดับ 1,029,684 คน ซึ่งในการประชุมร่วมกับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. เพื่อเคาะตัวเลขก่อนเสนอสภาพัฒน์ น.ส.ตรีนุช และนายสุภัทร ก็ยืนยันตัวเลขตามที่ สอศ.เสนอ แต่เมื่อสภาพัฒน์พิจารณาและส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากลับตัดกลุ่มปริญญาตรีของ สอศ.ออกไป ทั้งนี้ น.ส.ตรีนุช ทราบเรื่อง ได้มอบหมายให้ปลัด ศธ.ประสานไปยังสภาพัฒน์เพื่อทบทวนและขยายเพดานการเยียวยาให้ถึงกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรี หากสภาพัฒน์พิจารณาแล้วก็ต้องเสนอให้ ครม.พิจารณา ถ้าผ่านมติ ครม. แล้ว สอศ.จะเร่งดำเนินการโอนงบประมาณให้กับสถาบันการอาชีวศึกษาเพื่อจ่ายเยียวยาทันที เพราะได้เตรียมงบประมาณดำเนินการในเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว
ดร.สุเทพกล่าวว่า ส่วนที่มีการพูดถึงว่านักศึกษาปริญญาตรีของ สอศ.ทำไมจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเหมือนนิสิตนักศึกษาสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่าย ระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตราส่วน 60:40 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 นั้น มาตรการช่วยเหลือของ อว. และ ศธ. มีหลักคิดคนละแนวทาง ซึ่ง สอศ.ได้สอบถามไปยังสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่งแล้ว ทุกสถาบันให้คำตอบว่าไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีงบประมาณที่จะนำไปร่วมจ่าย 40% ประกอบกับ อว. ก็ไม่ได้ดึงปริญญาตรีของ สอศ.เข้าไปร่วมในมาตรการดังกล่าว สอศ.จึงเสนอเยียวยานักศึกษาปริญญาตรีตามกรอบแนวทางที่ ศธ.กำหนด ซึ่งทั้ง 23 สถาบันการอาชีวศึกษาต่างก็เห็นด้วย.
...