ศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ ร่วมมือกับ รศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวฯ จุฬาฯ คิดค้นอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรค เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะเชื้อโควิด-19 โดยมี รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ภาควิชาวิศวกรรมโลหะการ และ ดร.เจนยุกต์ โล่วัชรินทร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม “น้องไฟฉาย” โดยใช้รังสี UV-C อยู่ในช่วงความยาวคลื่น 200-280 นาโนเมตร ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการฆ่าเชื้อ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา โดยความเข้มข้นของแสง มีหน่วยวัดเป็นจูล/ตารางเซนติเมตร ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าปริมาณความเข้มข้นของแสง UV-C ที่ประมาณ 1.2 จูล/ตารางเซนติเมตร หรือ 1,200 มิลลิจูล/ตารางเซนติเมตร เป็นอย่างน้อยสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีต่อ 1 จุด
ดร.เจนยุกต์กล่าวว่า ผู้สนใจสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา หรือต้องการหุ่นยนต์ “น้องไฟฉาย” ไปใช้ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ติดต่อ โทร. 0-2256-4000 ต่อ 81513.