เมื่อวานแนะนำให้รู้จักไอเดียคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จกับการเป็นสตาร์ตอัพภาคเกษตร วิสาหกิจชุมชน Paepo: ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์จากโปรตีนพืช (Paepo Meat) ของสาวน้อยวัย 24 ปี...วันนี้มาต่อกันอีกกับ 2 สตาร์ตอัพ

คนแรก นายธนโชติ วงษ์เกิด วัย 23 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง FutureFarm agricultureinnovation เนื่องจากเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเยาวชนกับทาง NIA อย่างต่อเนื่อง และผ่านการฝึกงานกับสตาร์ตอัพที่ให้บริการด้านเทคโนโลยี จึงสนใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของเทคโนโลยี Iot

พบว่า Iot เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเติบโตสูงมาก สามารถแก้ไขปัญหาที่คนควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะการทำฟาร์มเห็ดในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมในโรงเรือนเพาะเห็ดได้

จึงเริ่มคิดค้น โรงเรือนเพาะเห็ดแบบเคลื่อนที่ ภายในมีระบบการควบคุมอุณหภูมิที่ใช้ระบบ Iot ควบคุมสภาพอากาศให้เหมาะสมแก่การเติบโตของเห็ด... ทดลองกับฟาร์มเห็ดญี่ปุ่นของเกษตรกร จ.สุรินทร์ พบว่าช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างดี เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้ในปริมาณมากขึ้น

อีกคน นายธีรธัช เจียระผกานนท์ อายุ 17 ปี เจ้าของโครงการ Volta หุ่นยนต์ ยานพาหนะตรวจตราอัจฉริยะสำหรับการจับกุ้ง แม้จะเรียนอยู่ชั้น ม.5 แต่ต้องการหารายได้เสริมระหว่างที่เรียน ประกอบกับเห็นการจับกุ้งแต่ละครั้งใช้แรงงานหลายคน ใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงสนใจพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อทุ่นแรงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง

เมื่อปรึกษาอาจารย์ได้รับคำแนะนำให้เข้าร่วมโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (Youth Startup Fund) กับ NIA และได้รับทุนสนับสนุนในขั้นตอนการนำเสนอไอเดียสำหรับพัฒนาหุ่นยนต์ Volta

...

ที่มีระบบการทำงานของหุ่นยนต์เหมือนแขนมนุษย์ แต่สามารถจับกุ้งได้จำนวนมากในคราวเดียว ขณะนี้ทดลองกับบ่อเลี้ยงกุ้งในโรงเรียน

และนี่คืออีกตัวอย่างที่ดีของการคิดนอกกรอบ ที่จะเติบโตไปเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนประเทศ ที่น่าจะมีคุณภาพมากกว่าให้ไดโนเสาร์มาขีดเส้นให้เดินตามเป็นไหนๆ.

สะ–เล–เต