ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 สภาผู้แทนราษฎร ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทย มีหลายหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำ ซึ่งการพิจารณาของกรรมาธิการครั้งต่อไปควรจะเชิญมาพิจารณาพร้อมๆกัน จึงขอฝากประเด็นให้คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการได้ไปพิจารณาด้านความซ้ำซ้อน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา มีงบแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จัดซื้ออุปกรณ์ 209 ล้านบาท ในขณะที่กรมทรัพยากรน้ำ มีงบชื่อคล้ายกัน 122 ล้านบาท เป็นต้น นอก จากนี้ ขอให้มีการพิจารณาทบทวนการใช้เทคโนโลยี เช่น ดาวเทียมในการติดตามสถานการณ์น้ำ รวมทั้งเห็นด้วยที่มีการใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ในการกระจายน้ำไปยังที่ขาดแคลน เพื่อลดการใช้น้ำมัน

ดร.พิสิฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ที่ผ่านมาเราไปมุ่งใช้น้ำท่า ซึ่งมีปีละ 70,000 ล้าน ลบ.ม. เป็นหลัก แต่ด้วยปัญหาอากาศโลก และการทำลายสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งของเสียและการใช้สารเคมี ทำให้น้ำท่าขาดแคลนและมีต้นทุนสูงขึ้นในการบำบัด ดังนั้นควรทบทวนนโยบายการใช้น้ำ โดยหันมาใช้น้ำบาดาลให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม ประเทศไทยมีปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บ 1.13 ล้านล้าน ลบ.ม. แต่มีการใช้เพียง 14,741 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จึงยังมีน้ำเหลือใช้เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลที่น่าจะนำออกมาใช้ได้ ดังนั้น พื้นที่บางแห่ง อาจส่งเสริมให้มีการใช้น้ำบาดาลโดยเฉพาะในที่ห่างไกล สำหรับการใช้น้ำบาดาล อธิบดีกรมน้ำบาดาล ยืนยันว่าน้ำบาดาล เป็นน้ำที่สะอาดและหลายสิบประเทศก็ใช้ในการบริโภค น้ำดื่มที่ขายกันในท้องตลาดล้วนเป็นน้ำบาดาลทั้งสิ้น.