“ในวันนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่ทั้งประเทศมีความกังวลทั้งในเรื่องปัญหาปากท้องและภัยอาชญากรรมที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการตกงาน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้รายวัน ได้ตระหนักในปัญหาดังกล่าว จึงได้ริเริ่มสร้างพื้นที่ปลอดภัยในทุกพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ โดยยึดความเดือดร้อนความต้องการและปัญหาของประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อนำร่องเรื่อง “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” 1 พื้นที่ ต่อ 1 กองบัญชาการ” แนวคิด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ที่ต้องการดูแลความปลอดภัยในคดีชีวิตร่างกาย คดีเกี่ยวกับทรัพย์และเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติดของประชาชน ด้วยการนำเทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของประชาชนมาดำเนินการ เป็นที่มาโครงการ “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0”
มีการทดสอบความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนในพื้นที่เหมือน pre-test และ post-test ดูว่าพื้นที่ต่างๆนำข้อมูลจากระบบ CRIMES ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีของ ตร.มาประกอบการพิจารณาเป็นตัวตั้งที่ 1 ก่อนทำ “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” พื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ที่องค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นแลนด์มาร์ก ย่านประกอบธุรกิจสำคัญของจังหวัด พื้นที่ที่มีความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆไม่ว่าเครือข่ายอาสาสมัคร การปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคธุรกิจเอกชน เป้าหมายความสำเร็จคือ ความสุขของประชาชน
...
มอบ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. เป็นที่ปรึกษา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ 9) ขับเคลื่อน คัดเลือกพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว แหล่งเศรษฐกิจ เอาความเดือดร้อนประชาชนเป็นตัวตั้ง พื้นที่ที่มีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม คดีเกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินหรือคดีอื่นๆ ที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว เป็นพื้นที่นำร่อง 15 สถานีตำรวจทั่วประเทศ บช.น. และ บช.ภ.1-9
นวัตกรรมเทคโนโลยี AI มาขับเคลื่อน เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างเมืองปลอดภัย เพราะจะทำให้การทำงานของสายตรวจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว พื้นที่ตำรวจนครบาล พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ให้ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. เป็นผู้คัดเลือก สน.ห้วยขวาง สน.ลุมพินี และ สน.ภาษีเจริญ เป็นพื้นที่นำร่อง
สน.ลุมพินี พื้นที่ย่านธุรกิจแยกราชประสงค์ เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศ เป็นย่านธุรกิจ สน.ห้วยขวาง บริเวณแยกพระราม 9 ขณะนี้เป็นไชน่าทาวน์แห่งที่ 2 ของประเทศ ที่ตั้งธุรกิจสำคัญห้างฟอร์จูนทาวน์และสถานทูตจีน อยู่บริเวณใกล้เคียง ส่วนฝั่งธนบุรี ตลาดน้ำคลองบางหลวง พื้นที่ สน.ภาษีเจริญ
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ ให้ ผกก.พื้นที่พบปะผู้นำชุมชน นำทฤษฎีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม ทฤษฎีมีหน้าต่างแตก ทฤษฎีการปรับปรุงหรือการควบคุมอาชญากรรมด้วยสภาพแวดล้อม ไปทำความเข้าใจกับผู้คนในพื้นที่แสวงหาความร่วมมือ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบวงจรปิดสมัยใหม่ มาสนับสนุนสถานีตำรวจในพื้นที่ นำภาคประชาชนมาร่วมการป้องกันอาชญากรรม ความรู้สึกหวาดกลัวเหมือนในสมัยก่อนต้องหมดไป ประชาชนมั่นใจว่า ตำรวจดูแลและป้องกันได้ในระดับที่ประชาชนพึงพอใจ
เขตพื้นที่กรุงเทพฯ ผบ.ตร. ให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดแล้ว 9,000 กว่าตัว เป็น กล้องที่มีคุณภาพสูง บันทึกภาพและเสียง เชื่อมกับระบบ AI ทำให้งานตำรวจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีเจ้าหน้าที่ประจำห้อง CCOC คอยดูตลอดเวลา เพื่อขับเคลื่อน “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” ทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจมากขึ้น และเตรียมพัฒนา นำระบบ License Plate หรือระบบ Face Recognition มาใช้ตรวจสอบบุคคลหมายจับและรถต้องสงสัยได้ทันที
บช.ภ.5 พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. ลงพื้นที่ร่วม พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผบช.ภ.5 พล.ต.ต.เฉลิมพล จินตรัตน์ รอง ผบช.ภ.5 พล.ต.ต.พิเชษฐ์ จีระนันตสิน ผบก.ภ.จ.เชียงใหม่ ตรวจสอบพื้นที่ โดยรอบคูเมืองเชียงใหม่ กำหนดเป็นพื้นที่ “เซฟตี้โซน” สร้างเป็นคูเมืองปลอดภัย ลดความหวาดกลัวภัยให้ประชาชน
พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. กล่าวกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ว่า “โครงการ “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” ตามนโยบาย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ที่ต้องการสร้างเมืองให้ปลอดภัย กำชับให้ตำรวจทุกพื้นที่ให้ความสำคัญในการวิเคราะห์สภาพอาชญากรรม เพื่อนำมาวางแผนในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมให้เหมาะสม นำเทคโนโลยีมาสนับสนุน เชื่อมโยงการทำงานต่างๆเข้าด้วยกัน ในลักษณะระบบศูนย์ควบคุม Command and Control Operations Center หรือ CCOC ตำรวจต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ และผสานเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันอาชญากรรม สร้างความอุ่นใจและลดความหวาดกลัว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการ“สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” จะนำเทคโนโลยีทุกประเภทมาสนับสนุนการทำงานในสถานีตำรวจนำร่อง 15 สถานี ทั่วประเทศ”
...
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ 9) กล่าวว่า “ผบ.ตร.มีดำริให้ทำโครงการ “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” สร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยยึดความเดือดร้อน ความต้องการ ปัญหาของประชาชนเป็นศูนย์กลาง 1 พื้นที่ต่อ 1 กองบัญชาการเช่น ภูเก็ต พัทยา อุดรธานี นครราชสีมา ราชประสงค์ ห้วยขวาง ตลาดน้ำบางกอกน้อย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นความมั่นใจที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่มาหลังเปิดประเทศ นำกล้องวงจรปิดแบบ AI กับกล้องวงจรปิดในระบบปกติในพื้นที่ซึ่ง ผบ.ตร.ได้ติดตั้งไปแล้ว 9,000 กว่าตัวในเขตกรุงเทพฯ กล้องส่วนราชการและเอกชน นวัตกรรมระบบกล้อง AI จดจำใบหน้า ท่าทาง การแต่งกาย วิเคราะห์ใบหน้า ติดตาม ที่สำคัญคือระบบตรวจจับสิ่งของ รถที่จอดไว้นานกว่าปกติ ตรวจสอบการรวมตัวก่อม็อบ ก่อเหตุ แข่งรถในทาง ระบบควบคุมสั่งการจากสมาร์ทโฟนได้ทันที” มีระบบเสา SOS อยู่ในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนที่กลัวภัย ประสบเหตุ สามารถมากดสัญญาณที่เสา SOS ได้ทันที และที่เสา SOS ในระบบใหม่สามารถพูดคุยกับศูนย์สั่งการ หรือ CCOC ที่สถานีตำรวจ โดยถ่ายทอดให้เห็นหน้าในลักษณะเรียลไทม์
...
“ก่อนเริ่มโครงการ ผบ.ตร.ได้จัดทำกูเกิ้ลฟอร์ม ชื่อว่า “พีเพิ้ลโพล” เพื่อสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ ปัญหาของประชาชนที่แท้จริง จะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาบริหารงานตามข้อมูลจริง ไม่ใช่ตำรวจทำ แต่ประชาชนไม่ต้องการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ภายใต้แนวคิด เมื่อไหร่ตำรวจทำงานแล้วประชาชนจะรู้ ไม่ใช่นายรู้ แต่ประชาชนจะรู้เอง เพราะสิ่งที่ ผบ.ตร. ต้องการคือ ขจัดความหวาดกลัวภัยของประชาชนให้หมดไปอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นแค่พิธีกรรม”
โครงการ “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” ที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. คิดค้นดำเนินการ สร้างเมืองปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว รองรับ นโยบายของรัฐบาล สร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ.
ทีมข่าวอาชญากรรม